นิตยสาร IMAGE เมษายน ๒๕๕๕
ก้าวข้ามเหตุผล
ภาวัน
ลูกชายเป็นห่วงแม่วัย ๙๐ จึงพยายามควบคุมอาหารของแม่ แม่จึงบอกลูกด้วยเสียงอ่อย ๆ ว่า แม่ชอบข้าวขาหมู มันเชื่อมใส่กะทิแม่ก็ชอบ แม่อยู่ได้อีกไม่นาน ให้แม่กินเถอะ ต่อมาลูกชวนแม่เข้าวัดปฏิบัติธรรมเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจในวาระสุดท้าย แต่แม่ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเอาไว้วันหลังเถอะ แม่ยังอยู่ได้อีกหลายปี
คนเราดูเหมือนมีเหตุผลในการทำหรือไม่ทำอะไรสักอย่าง แต่บ่อยครั้งเหตุผลนั้นเป็นเพียงแค่สิ่งที่อารมณ์หรือความรู้สึกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมา จึงไม่น่าแปลกใจที่เหตุผลของคน ๆ หนึ่ง แม้จะดูน่าฟัง แต่บางทีก็ขัดกันเอง ดังเช่นเหตุผลของแม่วัย ๙๐ ผู้นี้ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า เหตุผลทั้งสองประการนั้นล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ (หรือ"กิเลส")ของผู้พูด
คุณแม่วัย ๙๐ อาจไม่ได้เชื่อเหตุผลที่ตนยกขึ้นมา เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นข้ออ้าง แต่คนจำนวนไม่น้อยเชื่อเหตุผลที่ตนคิดขึ้นมาจริง ๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่ามันเป็นแค่สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของกิเลส หลายคนให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องคอร์รัปชั่นเพื่อความอยู่รอด และที่สำคัญก็คือ"ถึงฉันไม่ทำ คนอื่นก็ทำอยู่ดี" แต่เวลาเจอคนเป็นลมอยู่ต่อหน้าท่ามกลางผู้คนที่พลุกพล่าน กลับเดินผ่านอย่างไม่ไยดี เหตุผลที่ไม่ช่วยเขาก็คือ "ถึงฉันไม่ทำ คนอื่นก็ทำอยู่ดี" ประโยคเดียวกันสามารถเป็นได้ทั้งเหตุผลในการทำชั่วและไม่ทำความดีในเวลาไล่ ๆ กัน แม้เหตุผลนั้นจะดูดี แต่โดยเนื้อแท้มันก็เป็นเพียงแค่อุบายที่ชักจูงให้เราทำตามอำนาจของกิเลสอย่างไม่รู้ตัว
เหตุผลยังเป็นเครื่องมือในการกล่าวโทษผู้อื่นและปกป้องตนเอง เวลาลูกเดินสะดุดหนังสือที่พ่อวางทิ้งไว้บนพื้น พ่อต่อว่าลูกทันทีว่า "ซุ่มซ่าม" แต่เวลาที่พ่อเดินสะดุดของเล่นของลูก แทนที่พ่อจะยอมรับว่าตนซุ่มซ่าม กลับตำหนิลูกว่าวางของเล่นไม่เป็นที่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พ่อมีเหตุผลที่จะยืนยันว่าฉันถูก คนอื่นต่างหากที่ผิด เหตุผลนั้นทำให้พ่อรู้สึกว่าตัวเองถูกอยู่เสมอ และนั่นคือสิ่งที่อัตตาต้องการ วิสัยของอัตตานั้นยอมรับได้ยากว่ามันทำผิด จึงต้องสรรหาเหตุผลเพื่อโยนความผิดให้ผู้อื่นอยู่เสมอ
เป็นเพราะไม่รู้เท่าทันอุบายของกิเลสหรืออัตตา ผู้คนจึงใช้เหตุผลในการกล่าวหาและโจมตีกัน แม้บางครั้งจะไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเลย แต่เพียงแค่ต้องการยืนยันว่าฉันถูก แกผิด เท่านี้ก็มากพอที่จะทำให้อีกฝ่ายลุกขึ้นมาตอบโต้เพื่อยืนยันความถูกต้องของตนเช่นเดียวกัน ผลก็คือต่างฝ่ายต่างโกรธเคืองหนักขึ้นและสรรหาเหตุผลมาโจมตีให้เจ็บปวดยิ่งกว่าเดิม ทั้งหมดนี้แม้จะทำในนามของความถูกต้อง แต่แท้จริงก็คือสาดอารมณ์ร้อนเข้าใส่กันเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย ตราบใดที่ทุกฝ่ายคิดแต่จะใช้เหตุผล มุ่งเอาถูกเอาผิด จนมองข้ามอารมณ์ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ก็ยากที่จะลงเอยอย่างสันติได้ แม้กระทั่งในระหว่างคู่รักหรือมิตรสหาย ก็อาจวิวาทบาดหมางจนกลายเป็นศัตรูกัน
แทนที่จะมุ่งกล่าวโทษผู้อื่น เราควรหันกลับมามองตนและรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจตน หากปล่อยให้อัตตาครอบงำ มันก็สามารถสรรหาเหตุผลเพื่อทิ่มแทงคนอื่นได้ตลอดเวลา หรือไม่ก็ผลักไสให้เราทำทุกอย่างเพื่อสนองความยิ่งใหญ่ของมัน เช่นเดียวกับกิเลสที่ชักใยให้เราทำอะไรก็ได้เพื่อปรนเปรอมัน การรู้เท่าทันอัตตาและกิเลส ทำให้เราไม่หลงเชื่อเหตุผลที่มันเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาจนกลายเป็นเครื่องมือของมัน
เคยสังเกตหรือไม่ว่า คำพูดประโยคเดียวกัน หากเอ่ยโดยคนที่เราศรัทธานับถือหรือสนิทสนมคุ้นเคย เราจะเปิดใจรับหรือคล้อยตามได้อย่างง่ายดาย แต่หากมาจากปากของคนที่เราไม่ชอบหรือโกรธเกลียด เรากลับต่อต้าน เห็นแย้ง หรือหาเหตุผลโต้เถียงทันที อะไรทำให้เรามีปฏิกิริยาแตกต่างกัน คำตอบก็คือความรู้สึกของเราต่อสองคนนั้นไม่เหมือนกัน คนหนึ่งนั้นเราชอบ อีกคนหนึ่งเราชัง พูดง่าย ๆ คือ มีอคตินั่นเอง ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า คำพูดของเขามีเหตุผลมากน้อยเพียงใด แต่อยู่ที่อคติของเราต่อเขามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นฉันทาคติ หรือโทสาคติก็ตาม
นอกจากการรู้เท่าทันอารมณ์และอคติของตัวเองแล้ว การเข้าใจอารมณ์และอคติของอีกฝ่ายก็สำคัญ เมื่อมีความขัดแย้งกัน แทนที่จะใช้แต่เหตุผลอย่างเดียว การใส่ใจกับอารมณ์ของอีกฝ่าย ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ คนสองคนหากเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ใช้เหตุผลเท่าใดก็ไม่ช่วยให้เลิกทะเลาะกัน แต่หากหยิบยื่นน้ำใจไมตรีให้แก่กัน ก็ง่ายที่จะหันหน้าเข้าหากัน คนที่มีรั้วบ้านอยู่ติดกันนั้น สามารถทะเลาะกันได้ทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ เช่นหมาเห่าเสียงดัง หรือใบไม้ปลิวไปตกอีกบ้านหนึ่ง แต่พออีกฝ่ายแสดงความเป็นมิตร มีของไปฝาก ไต่ถามทุกข์สุข เรื่องใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องเล็ก
เหตุผลสำคัญก็จริง แต่บางครั้งอารมณ์ความรู้สึกสำคัญกว่า จึงอย่ามัวหาความถูกผิดจนลืมดูแลอารมณ์ของตนและใส่ใจอารมณ์ของผู้อื่น