สวัสดีครับ
พอดีผมเอาเรื่องวิทยุคลื่นสั้นไปเผยแพร่ที่บอร์ดอื่น เพื่อนสนใจกัน
เลยลองเขียนบทความการรับฟังวิทยุคลื่นสั้นแบบอ่านง่ายๆ ครับผม
พี่ๆ ลองอ่านดูนะครับ มีอะไรที่ต้องแก้ไขอีกไหม? จะได้เพิ่มเติมครับ
*************************************************
บทความเล็กๆ การรับฟังวิทยุคลื่นสั้นเบื้องต้น
สวัสดีครับ
วิทยุคลื่นสั้น(SW) คืออะไร?
คลื่นสั้น คือคลื่นความถี่วิทยุ ระหว่าง 3,000-30,000 kHz
วิทยุคลื่นสั้นถูกคิดค้นขึ้นมาโดยชาวเยอรมันออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 1927 มีการออกอากาศของ ช่องข่าวบีบีซี (BBC) แห่งเกาะอังกฤษตามมาตอนปี 1932 และก็มีหลายประเทศเริ่มใช้กันในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นโซเวียต ศรีลังกา ออสเตรีย อเมริกา ญี่ปุ่น
โฉมหน้าของวิทยุคลื่นสั้นถูกพลิกให้เป็นการสื่อสารแบบใหม่ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยฮิตเล่อร์ แห่งนาซี เอามาใช้ทางการทหาร เพราะระบบนี้สามารถสื่อสารได้ไกลรอบโลกได้เลยทีเดียว
ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบนี้มากมาย และเราสามารถฟังได้ทั่วโลกเหมือนกัน ที่เมืองนอกเขามีกลุ่มคนที่ชอบฟังคลื่นสั้นตั้งเป็นชมรมฟังกันเป็นงานอดิเรกเพราะพวกนี้ชอบฟังข่าวสารทั่วโลก
ทำไมต้องคลื่นสั้น?
พี่น้องคงจะงงว่า ไอ้นี่ฟังวิทยุคลื่นสั้นทำไม? มันดีกว่าคลื่น FM-AM ตรงไหน?
ที่ผมฟังวิทยุคลื่นสั้นก็เพราะว่า
1.การส่งสัญญาณ ทำได้ไกลมาก
เพราะว่า รายการวิทยุคลื่นสั้น ทำการส่งสัญญาณ โดยใช้ ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นการช่วยส่งสัญญาณนั่นเอง ตามภาพนี้
ทำให้สามารถส่งสัญญาณได้ไกล (ขึ้นอยู่กับกำลังส่งของสถานีส่งคลื่นวิทยุด้วยนะ)
2.ค่าใช้จ่ายต่ำ
สำหรับการรับฟังวิทยุคลื่นสั้น แค่ต้องการวิทยุที่รับสัญญาณคลื่นสั้นได้เท่านั้นก็รับฟังได้แล้ว (ถ้าอยากให้ชัดขึ้นก็ต่อสายเสาอากาศเพิ่ม/ใช้วิทยุที่ดีขึ้น เท่านั้น)
3.ข่าวสารมากมาย หลากหลาย
ในวิทยุคลื่นสั้น มีข่าวสารให้ฟังจากทั่วโลก หลายคลื่น หลายสำนัก เช่น
NHK (radio japan)
VOA (voice of america)
BBC
CRI (chana radio int.)
และอีกมากมาย(ถ้าหาคลื่นเจอนะ)
ข่าวส่วนมาก จะตรงไปตรงมา เนื่องจากมาจากประเทศที่ส่งนั้นๆ โดยตรง ไม่มี กบว.มาเซนเซอร์ก่อนออกอากาศในบ้านเรา(ฮา)
4.ฝึกทักษะภาษา
เนื่องจากมีหลากหลายภาษาในคลื่นสั้น ทำให้สามารถฝึกทักษะผ่านทางนี้ได้ (ฟังนานๆ ไปมันต้องเข้าหัวซักอันสิน่ะ)
5.มีของที่ระลึกให้ด้วย!?!
ใครจะไปเชื่อว่า วิทยุคลื่นสั้น ส่งคลื่นมาก็ไกลแสนไกล จะมีของที่ระลึกให้
โดยมาก ทางรายการก็อยากทราบว่า มีคนรับฟังจากที่ไหน เยอะไหม สัญญาณเป็นอย่างไร จึงต้องการการรายงานผลการรับฟังครับ
วิธีการรายงานผลการรับฟัง เพียงแค่ส่งจดหมาย / อีเมล์ ให้ทางสถานีที่เราต้องการรายงานผลการรับฟัง เขาก็จะตอบกลับด้วยเอกสาร และอาจมีของที่ระลึกให้ด้วย เช่น โปสการ์ด
เช่นในกระทู้นี้
พัสดุตอบรับการรับฟังวิทยุ เรดิโอเจแปน จากญี่ปุ่น
http://forum.munkonggadget.com/detail.php?id=46357
6.เป็นกิจกรรมอดิเรก แก้เหงายามว่าง
เวลาเหงาๆ หาคลื่นหมุนเปิดรายการที่เราชอบ หรือหาคลื่นใหม่ เพลินไปอีกแบบ
เอาล่ะ ทุกท่านพออ่านมาแล้ว พอจะเห็นภาพ และความน่าสนใจ ของวิทยุคลื่นสั้นแล้วใช่ไหมครับ?
ต่อไป เป็นการแนะนำในการเริ่มฟังวิทยุคลื่นสั้นแบบง่ายๆ ตามสไตล์ผมครับ
การรับฟังวิทยุคลื่นสั้น
1.หาวิทยุเครื่องรับคลื่นสั้น!
ถ้าท่านไม่เคยมีวิทยุคลื่นสั้นในครอบครองเลย ก็ต้องลองหาดูกันก่อน
ลองไปด้อมๆ มองที่บ้านท่านซิ? ว่าวิทยุบ้านท่าน ที่เดี๋ยวนี้อาจถูกเอาเข้ากรุไปแล้ว (ไอ้ที่เข้ากรุนี่แหละ ตัวดีเลย วิทยุบางเครื่องกลายเป็นของหายาก เป็นของสะสมไปแล้ว เดี๋ยวนี้กำลังฮิต)
ถ้ายังใช้ได้ ลองดูว่า ตรงช่องหน้าปัทม์คลื่น มีคำว่า SW หรือไม่? ถ้ามี ก็ดีครับ ไม่ต้องซื้อ เปลือง(ฮา)
ตัวอย่างหน้าตาวิทยุที่รับคลื่นSW ได้
แต่ถ้าไม่มี ต้องการซื้อขึ้นมา ตอนนี้ที่พอแนะนำได้(ไม่ได้โฆษณานะ แต่ว่าหาซื้อได้สะดวกที่สุดก็ที่นี่แหละ) คือที่เว็บ
http://www.munkonggadget.com ครับ
ผมก็ซื้อ วิทยุ ยี่ห้อ TECSUN R-9012 ผ่านทางร้านนี้ครับ ราคา 590 บาท เหมาะกับกลุ่มบีกินเนอร์เป็นอย่างยิ่ง ราคาไม่แพง คุณภาพทะลุราคา มีประกันด้วย
หรือถ้าท่านรู้แหล่งขายก็เชิญตามสะดวกครับ
2.หาคลื่น!
ได้วิทยุมาแล้ว อ่านคู่มือการใช้งานแล้ว บิดไปที่คลื่น SW แล้ว กางเสาแล้ว มาหาคลื่นกัน!
การหาคลื่นในวิทยุคลื่นสั้น ท่านต้องใจเย็น ลองหมุนหาคลื่นช้าๆ พอเจอช่วงที่มีเสียงแปลกๆ ลองหมุนให้ละเมียดกว่าเดิม หรือถ้ามีปุ่มหาคลื่นแบบละเอียด ให้ใช้ปุ่มนั้น
ถ้าพอได้ยินเสียงออกมาเป็นภาษาคนพอฟังรู้เรื่องก็ดีใจด้วยครับ
*ข้อแนะนำ
-คลื่นสั้นจะไม่ถูกโรคกับอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง คลื่นจะรบกวนได้ง่าย ดังนั้นควรนำวิทยุห่างออกไปจากทีวี คอมพิวเตอร์ เป็นต้น จะดีมาก
-พยายามหาคลื่นในที่โล่ง สภาพที่อยู่มีผลมากกับการรับฟัง ห้องที่มิดชิดจะรับคลื่นได้ไม่ดีนัก ถ้าหาคลื่นไม่เจอลองเอาวิทยุไปนอกห้อง ข้างหน้าต่าง อาจจะรับได้ก็ได้
-ในเมืองใหญ่ คลื่นมีมากมายอาจมีการรบกวนมากกว่า ต่างจังหวัด
-ถ้าบ้านท่านอับคลื่นเสียจริงๆ อาจต้องใช้เสาสัญญาณภายนอกช่วยในการรับคลื่น
3.อยากฟังคลื่นไหน ค้นหาเอา!
-สมัยนี้ มีข้อมูลของคลื่นสั้นมากมายทางอินเทอร์เน็ต ท่าอยากฟังคลื่นไหนลองหาดูครับ
เว็บไซท์ที่แนะนำในการค้นหาวิทยุคลื่นสั้น
- http://www.primetimeshortwave.com/
เว็บอันนี้แนะนำมาก ใช้งานง่ายมากๆ มีภาพประกอบว่าสถานีส่งคลื่นอยู่ที่ใดด้วย
- http://short-wave.info
4.อ่านเวลา GMT ให้เป็น!
สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับคนฟังวิทยุคลื่นสั้น เพราะว่าการส่งคลื่นนั้นไปไกลมาก เวลาเฉพาะท้องถิ่นไม่สามารถเอามาอ้างอิงได้ เขาจึงใช้ เวลา GMT (Greenwich Mean Time) เป็นมาตรฐาน
นั่นคือเวลาตามมาตรฐานกรีนิส นั่นเอง
ง่ายๆ เวลา GMT เมื่อเทียบกับไทยคือ +7 นั่นคือ ถ้าที่กรีนิส ตอนนี้เป็นเวลา 00.00น. ที่เมืองไทยก็เป็นเวลา 07.00 น. เช้าพอดี
เวลาเช็คเวลาออกอากาศของรายการคลื่นสั้น ดูด้วยว่าใช้เวลา GMT ไหม ถ้าใช่ ก็บวกไป 7ชม. ก็จะเป็นเวลาออกอากาศในไทย
5.สนใจเรื่องไหน วิจัยเลย!
สำหรับท่านย่อมมีจุดประสงค์ในการรับฟังคลื่นสั้นต่างกัน เช่น อยากหารับฟังรายการคลื่นสั้นภาคภาษาไทย จากทั่วโลกอย่างผม ก็ค้นหาข้อมูลวันเวลาการส่งคลื่นจากเว็บ แล้วลองค้นหาดู
หรือใครอยากฝึกภาษา ก็ลองค้นหาภาษาที่ท่านอยากฝึก ลองฟังดูครับ
6.ติดตามข่าวสารการออกอากาศสถานีโปรดของท่านอย่างใกล้ชิด!
คลื่นสั้นจะสามารถถูกรบกวนด้วยสื่งแวดล้อมได้ง่ายมากๆ เช่น ความสูงชั้นบรรยากาศ สภาพอากาศ แม้แต่พายุสุริยะ หรือจุดดำบนดวงอาทิตย์ ก็มีผลต่อคลื่นสั้น!
ดังนั้น เราต้องติดตามการออกอากาศคลื่นที่เราสนใจด้วย ว่าตอนนี้ ย้ายช่วงคลื่นที่ออกอากาศ/เวลาออกอากาศ หรือไม่?
โดยมาก จะเปลี่ยนช่วงการออกอากาศประมาณ ช่วงเดือน มีนาคม และเดือนตุลาคม
7.อยู่คนเดียว ฟังไม่สนุก อยากคุยกับคนอื่น จัดไป!
เราฟังๆ คลื่นสั้นอยู่ ถ้าอยากจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องรายการ หรือเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ก็มีเว็บบอร์ด ให้ลองคุยกันได้
ตัวอย่างเว็บพูดคุยกันเรื่องวิทยุคลื่นสั้น
http://www.153rt.com/webboard/index.php/board,16.0.html
http://forum.munkonggadget.com/detail.php?id=18077
สรุป
การฟังวิทยุคลื่นสั้น เป็นกิจกรรมที่ดี ผมทำบทความนี้เพื่ออธิบายการเล่นแบบเบื้องต้น และ เป็นทางเลือกกิจกรรมยามว่างให้พวกท่านได้พิจารณาครับ
จบการบรรยาย
อิอิ
กะเด้ว!!!
ข้อมูลที่มาอ้างอิง
http://forum.munkonggadget.com/detail.php?id=18077
http://en.wikipedia.org/wiki/Shortwave_listening
http://www.primetimeshortwave.com
http://short-wave.info
http://www.153rt.com/webboard/index.php/board,16.0.html
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=555&month=04-02-2006&group=10&gblog=14
ภาคผนวก
[minireview] วิทยุ TECSUN R-9012
http://forum.munkonggadget.com/detail.php?id=45053
พัสดุตอบรับการรับฟังวิทยุ เรดิโอเจแปน จากญี่ปุ่น
http://forum.munkonggadget.com/detail.php?id=46357
การทดสอบรับฟัง รายการ radiojapan เสาส่งที่ ประเทศสิงคโปร์ ความถี่ 11740kHz แรงส่งคลื่น 250W
http://www.youtube.com/watch?v=2oA0Wu3bKKo
ปล.คิดว่าจะพิมพ์สั้นๆ ยาวเหมือนกันนะ(ฮา)
****************************************************
อิอิ
กะเด้ว!!!