Guest
หมวดหมู่ > เว็บบอร์ด จับฉ่าย

ช่องทางการติดต่ออื่น

  • Munkonggadget
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Contact Us

ความรู้เรื่องแผ่น CD เพลงไทย

MOD91

18/03/2010 21:41:17
6
นื่องจากตอนนี้เห็นมีหลายท่านเริ่มกลับมาเล่นเครื่องเล่น CD ขอนุญาติหยิบบทความที่เขียนโดย อ. ไข่ มาให้อ่านประดับความรู้คับ ยาวหน่อยคับ แต่เผื่อบางท่าอ่านแล้วจะลองรื้อค้น แผ่น CD เก่า ๆที่ตัวเองเคยซื้อเก็บไว้ อาจจะฟรุ๊คเจอก็ได้คับ....บทความคับ................เนื่อง จากผมรับปาก อ.ศานิตไว้ว่า จะหาเรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นซีดีมาเล่าสู่กันฟัง ... จนบัดนี้เวลาล่วงเลยไปพอสมควร ผมก็ยังหาเวลาเหมาะเจาะไม่ได้ ก็เลยเอา ของเก่าที่เคยเขียนไว้ มาเล่าซ้ำกันอีกที ขออภัยสมาชิกที่เคยอ่านไปมาแล้วจากแหล่งอื่นด้วยครับ

รู้ไว้ใช่ว่า ดีกว่าเสียรู้ ซีดีเพลงไทยที่ไม่ธรรมดา

น่า จะเป็นตรรกะที่เป็นจริง ถ้าผมจะสรุปว่าคนเล่นเครื่องเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ชอบฟังเพลง และคงมีนักเล่นเครื่องเสียงจำนวนไม่น้อยที่เริ่มรู้จักแผ่นออดิโอไฟล์หลัง จากเล่นเครื่องเสียงแล้ว ข้อความที่กล่าวมานั้นสรุปจากตัวอย่างข้อมูลขนาดเล็กมาก คือ พิจารณาจากกลุ่มนักเล่นที่ผู้เขียนรู้จักจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างหลักก็คือตัวผู้เขียนเอง ที่ก่อนหน้าจะเล่นเครื่องเสียงนั้น นิยมฟังเพลงไทยเป็นหลัก แต่พอได้รู้จักและเข้าใจความหมายของโฟกัส อิมเมจ มิติ เวทีเสียง ไดนามิก ฯลฯ แม้เพียงนิดหน่อย ก็ทำให้หลงใหลได้ปลื้มกับเจ้าแผ่นซีดีออดิโอไฟล์ จนมองแผ่นซีดีเพลงไทยเป็นแผ่นชั้นต่ำ เห็นแผ่นซีดีเพลงไทยบนชั้นวางแล้วให้รู้สึกเกะกะลูกตายิ่งนัก จนถึงกับลงมือประกาศขายเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ... เพียงไม่กี่อึดใจ แผ่นแกรนด์เอ็กซ์ ชุด บุพเพสันนิวาส และพรหมลิขิต ก็ถูกเสนอซื้อในราคาที่ทำให้เข็มขัดผมสั้นลงอย่างมาก (คาดไม่ถึง) สองแผ่น 1,000 บาท หลังจากขายสองแผ่นไปได้ไม่นานก็มีหลายคนโทร.เข้ามาถามหาแผ่นอื่นๆ พร้อมทั้งให้ช่วยดูรหัสต่างๆ ที่ตอกอยู่บริเวณวงกลมด้านในของแผ่นซีดี เช่น แผ่นเบิร์ดกะฮาร์ด มีรหัส P+O หรือเปล่า แล้ว เจ เจตริน มี รหัส TO ตอกไว้ หรือไม่ก็ ไม่มี TO เอา SM ก็ได้ อะไรทำนองนี้

ผมเริ่มเอะใจ หันซ้ายแลขวา ยังไม่มีที่พึ่งพิง ก็อาศัยการค้นหาข้อมูลจากระบบอินเตอร์เน็ตเป็นจุดเริ่มต้น จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้เข็มขัดผมยิ่งสั้นลงไปอีก พร้อมๆ กับใจผมก็เ่ยวเหลือนิดเดียวเช่นกัน เพราะสองแผ่นที่ผมขายไปนั้น สามารถพูดเน้นว่า ถูก โดยใส่ คำว่า โคตร นำหน้าได้เลย และนั่นคือแรงกระตุ้นให้ผมมีความกระสันที่จะรู้เกี่ยวกับแผ่นซีดีเพลงไทย เป็นอย่างมาก วิธีเดียวที่จะทำให้เราเชี่ยวชาญ หรือ รู้ลึก ในเรื่องต่างๆ ก็คงต้องอาศัยการลงไปคลุกคลีกับเรื่องนั้นๆ อย่างจริงจัง อยากรู้เรื่องพระเครื่อง ก็ต้องเริ่มด้วยการเป็นนักเล่นพระ อยากเป็นเซียนเครื่องเสียงก็ต้องเป็นนักเล่นเครื่องเสียง อยากเป็นเซียนหุ้น ก็ต้องเล่นหุ้น ผมกระโดดลงบ่อนนักสะสมแผ่นซีดีเพลงไทยทันที เข้าใจว่าจะไม่เรียกนักเล่นแผ่นซีดีกันกระมัง เพราะหน้าที่เล่นแผ่น ควรจะเป็นงานของ เครื่องเล่นซีดี (CD Player) จากวันนั้นถึงวันนี้ล่วงเลยมาเจ็ดปีโดยประมาณ ผมจ่ายค่าเทอมลงทะเบียนเป็นนักศึกษาในการเรียนหลักสูตรซีดีเพลงไทยไปแล้วไม่ ต่ำกว่าสองแสนบาท ถึงแม้ว่าผมจะยังอยู่ในฐานะที่ห่างไกลมาก ที่จะเอาคำว่าเซียนมาแปะไว้หน้าชื่อ แต่ก็พอจะมีความรู้และข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ มานำเสนอต่อทุกท่าน ซึ่งคาดหวังว่าจะก่อประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่ผู้นิยมเพลงไทยบ้าง

เพื่อแสดงให้เห็นว่าการมีความรู้ในเรื่องที่เราสนใจหรือในสิ่งของที่เรามี อยู่นั้น รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้ ผมมีเรื่องมาเล่าให้ฟัง ครับ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วง 2 - 3 สัปดาห์ก่อนที่ผมจะเขียนบทความชิ้นนี้ เมื่อนักสะสมแผ่นซีดี/แผ่นเสียง เพลงไทยและออดิโอไฟล์ ระดับหัวแถวท่านหนึ่งผิดหวังจากการยื่นเอกสารกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาใช้ ในการซื้อบ้าน เนื่องจากอาชีพอิสระนั้นไม่มีความมั่นคงเพียงพอต่อการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ จากธนาคาร แต่ด้วยเหตุที่บ้านดังกล่าวเป็นหลังที่อยากได้มาก จึงตัดสินใจเปิดกรุขายแผ่นซีดีและแผ่นเสียงที่สะสมไว้บางส่วน ย้ำว่าเฉพาะบางส่วนครับ จากการประเมินขั้นต่ำคาดว่าจะมีรายได้จากการขายแผ่นประมาณหนึ่งพันกว่าแผ่น จะตกอยู่ที่ราวๆ 1 ล้านบาท ขณะที่กำลังเรียบเรียงต้นฉบับบทความชิ้นนี้นั้น ยอดรวมจาก กรุแตก ครั้งนี้ใกล้เคียงยอดการประเมินเต็มที หากผู้อ่านท่านใดที่เคยได้ยินเสียงเล่าลือว่าแผ่นซีดี ชุด ไปทะเล กับ ชุด ไปเป็นชาวเกาะ ของปานศักดิ์ ที่ว่าราคาแพงนักแพงหนานั้นมันจริงหรือเปล่าหนอ ตัวเลขที่ได้รับการยืนยันในการขายครั้งนี้ อยู่ที่ แผ่นละ 7,000 บาท สองแผ่น หนึ่งหมื่นสี่พันบาท ครับ หากจะมองว่าเป็นความบ้าของคนกลุ่มนี้ ก็คงจะไม่ผิด ถ้าหากความบ้าหมายถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องที่รักและสนใจเป็นพิเศษ ก็ทีปลั๊กไฟตัวละครึ่งหมื่น หรือแผ่นเบิร์นอินอุปกรณ์เครื่องเสียงแผ่นละ ห้าหกพันบาท แม้กระทั่งสายไฟเอซีเส้นละสี่ซ้าห้าหมื่น ยังซื้อขายกันอย่างเทน้ำเทท่า การซื้อแผ่นซีดีเพลงไทยหายากมากในราคานั้น ก็ถือว่าเป็นความบ้าในมุมใครมุมมันละครับ ประเด็นก็น่าจะอยู่ที่ถึงแม้เราจะไม่อยู่ในกลุ่มบ้า แต่ถ้ามีแผ่นจำพวกนี้ไว้ในครอบครอง หากต้องการจะขายก็ขอให้ขายแบบบ้าๆ ละครับ อย่าไปขายแบบธรรมดา ... รู้ไว้ ไม่เสียที ครับ

หัวข้อ: Re: รหัสบนแผ่นซีดีเพลงไทย (P+O, TO, SM ฯลฯ)
เริ่มหัวข้อโดย: khaitong ที่ มีนาคม 01, 2009, 10:28:34 AM
รู้ไว้ใช่ว่า ดีกว่าเสียรู้ ซีดีเพลงไทยที่ไม่ธรรมดา (2)

เอา ละครับทีนี้มาดูกันว่าทำไมแผ่นพวกนี้ราคาถึงได้สูงลิบลิ่วกันขนาดนั้น โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แผ่นเพลงไทยยุคเก่า มีราคาสูงนั้น มาจากประเด็นหลัก คือ

1) เป็นแผ่นหายาก ผลิตมาไม่มากนัก ทำซ้ำไม่ได้ เนื่องจากมีการทำลายต้นแบบอาร์ตเวิร์คไปแล้ว หรือด้วยเหตุผลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์
2) เป็นผลงานระดับชิ้นโบว์แดง (MasterPieces) งานชิ้นที่ดีที่สุดของนักร้อง หรือ วงดนตรี ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในอดีต ซึ่งโดยปกติมักจะเป็นงานชิ้นแรก
3) การบันทึกเสียง และ การทำมาสเตอร์ที่ดี

ช่วง 10 ปีแรกของการผลิตแผ่นซีดีในโลก ( พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2535 ) ในประเทศเรานั้นยังไม่มีโรงงานผลิตซีดี และเครื่องมือในการแปลงมาสเตอร์ไปสู่ระบบดิจิตอล งานเพลงและดนตรี ในช่วงนั้นจึงต้องอาศัยเครื่องมือและบุคลากรในต่างประเทศเป็นหลัก โดยการบันทึกเสียงในประเทศ แล้วส่งมาสเตอร์ที่เป็นอนาล็อกไปผลิตเป็นแผ่นซีดีในต่างประเทศ หรือ งานบางชิ้นที่ต้องการความพิถีพิถันมากๆ ก็ลงทุนยกทีมไปบันทึกเสียงกันต่างประเทศเลยทีเดียว โดยประเทศหลักที่เราใช้บริการนั้น ได้แก่ ประเทศเยอรมันตะวันตก ประเทศญี่ปุ่น และ ขยับเข้ามาใกล้ๆ อย่างประเทศสิงคโปร์ ด้วยฝีมือของซาวด์เอ็นจิเนียและทีมงานที่มีความเข้าใจเรื่องเสียง มากกว่าแค่การเป็นผู้ใช้เครื่องมือ ทำให้แผ่นซีดีที่ผลิตในช่วงดังกล่าวได้คุณภาพเสียงที่ดีเป็นอย่างมากเมื่อ เทียบกับแผ่นซีดีที่ผลิตในประเทศในระยะหลัง

อีกประเด็นที่หาได้ยาก จากงานดนตรีสมัยใหม่ในบ้านเรา ก็คือ การบันทึกเสียงดนตรีจากการบรรเลงเครื่องดนตรีจริง การหันมานิยมใช้เครื่องมือในการสร้างเสียงดนตรีแทนการเล่นของคน เพราะทำได้ง่ายในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก เราจึงไม่สามารถหาวิญญาณหรืออารมณ์ ที่ถ่ายทอดมาจากเครื่องสังเคราะห์ได้ ยิ่งทำให้ความเหมือนจริงนั้นห่างไกลออกไปอีกหลายเท่า สำหรับผู้อ่านที่ชอบเพลงไทยส่วนใหญ่ เมื่อมีโอกาสได้ฟังเพลงจากแผ่นซีดีที่ผลิตในต่างประเทศในช่วง ปี พ.ศ. 2525- 2535 แล้วต่างก็ต้องขนขวายหาแผ่นในยุคดังกล่าวมาฟังกันมากขึ้น ทำให้ราคาของซีดีรุ่นเก่ามีราคาพุ่งขึ้นไปหลายเท่าตัว หลายคนต้องตัดสินใจย้อนยุคกลับไปค้นหาความเป็นดนตรีจากการเล่นแผ่นเสียง ซึ่งก็หาสื่อที่บันทึกในรูปแบบนั้นได้ยากขึ้นทุกที

หัวข้อ: Re: รหัสบนแผ่นซีดีเพลงไทย (P+O, TO, SM ฯลฯ)
เริ่มหัวข้อโดย: khaitong ที่ มีนาคม 01, 2009, 10:51:50 AM
รู้ไว้ใช่ว่า ดีกว่าเสียรู้ ซีดีเพลงไทยที่ไม่ธรรมดา (3)

ขอเรียนย้ำถึงเจตนารมย์กันอีกครั้งว่าการนำเสนอครั้งนี้ ไม่ได้แนะนำให้ผู้อ่านไปพยายามเสาะหาแผ่นซีดีเหล่านั้นมาฟังแต่ประการใด เพียงแต่คาดการณ์ว่า คนชอบเครื่องเสียงโดยส่วนใหญ่ ต้องชอบฟังเพลง และมากกว่าครึ่งน่าจะเป็นคนที่ฟังเพลงไทยมาก่อน ซึ่งนักเล่นจำนวนไม่น้อยมักทิ้งแผ่นซีดีเพลงไทยไปหลงไหลกับแผ่นซีดีออ ดิโอไฟล์เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มเข้าสู่วงจรนักเล่นเครื่องเสียงใหม่ๆ ดังนั้นบทความชุดนี้ผู้เขียนนำเสนอโดยมีเป้าหมายสองประการเป็นหลัก ประการหนึ่ง คือ สำหรับผู้ที่มั่นใจแล้วว่าไม่ต้องการมีซีดีเพลงไทยรุ่นเก่าๆ เหล่านั้น ไว้ในครอบครองหากต้องการจะขาย หรือแลกเปลี่ยน บทความนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับท่านบ้างในการตั้งราคาขายให้เหมาะสม หรือ รู้แล้วแต่ตั้งใจขายราคาถูกก็สุดแล้วแต่ท่าน อย่างน้อยก็จะได้ประโยชน์ทางใจที่ ไม่รู้สึกเสียรู้ ประการที่สอง สำหรับผู้ที่มีแผ่นซีดีเพลงไทยดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมากแต่ไม่ค่อยได้หยิบมา ฟัง จะได้มีแรงจูงใจในการลงแรงปัดฝุ่นนำกลับมาลองกันใหม่อีกครั้ง ในยามที่เครื่องเสียงชุดโปรดของเราเริ่มหยุดนิ่งด้วยความลงตัว บางทีแผ่นซีดีออดิโอไฟล์อาจจะเป็นเพียงทางผ่านและบทหนึ่งของการเรียนรู้ เพื่อการเข้าถึงเพลงและดนตรีที่เราปรารถนาก็เป็นได้ และสำหรับผู้ที่ชอบเพลงไทย แต่หมดหวังกับแผ่นซีดีเพลงไทยยุคใหม่ ก่อนจะย้อนยุคไปเล่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งยุ่งยากและเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่า อีกทั้งการหาแผ่นเสียงคุณภาพดีก็ยากยิ่งกว่าการหาแผ่นซีดี เป็นไหนไหน ดังนั้นการหันหลังย้อนทางกลับมาหาแผ่นซีดีรุ่นเก่า ก็อาจจะเป็นทางออกที่คุ้มค่าทางหนึ่งของผู้ที่ยังถวิลหาความสวยงามของภาษา และดนตรีไทย

ทีนี้มาดูกันครับว่า รายละเอียดส่วนใดบ้างที่นักสะสมให้ความสำคัญกับการเลือกเก็บและการตั้งราคา แผ่นซีดีเพลงไทย ประเด็นแรกก็คงจะดูกันที่ความเก่าหรือแผ่นที่เป็นรุ่นแรกของอัลบั้มนั้นๆ โดยปกตินิยมเรียกแผ่นซีดีรุ่นแรกกันว่า กันว่า แผ่น “ปกแรก” ซึ่งหมายถึง เป็นรุ่นแรกทั้งตัวแผ่นซีดี และ แบบปกของอัลบั้ม ทั้งนี้เพราะบางอัลบั้มอาจจะมีการวางจำหน่ายหลายรอบ ซึ่งในรอบหลังๆ อาจจะมีการออกแบบหน้าปกใหม่ให้ดูทันยุคทันสมัยมากขึ้น โดยตัวแผ่นนั้นอาจจะมีการผลิตใหม่ หรือนำแผ่นที่ผลิตไว้เดิมมาบรรจุในกล่องและปกรุ่นใหม่ (กรณีที่ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทเดิม) หรือบางครั้งก็มีการซื้อลิขสิทธิ์โดยบริษัทใหม่ ผลิตใหม่กันหมด นับตั้งแต่การทำมาสเตอร์ใหม่ ปั๊มแผ่นใหม่ ออกแบบหน้าปกใหม่ และหมายถึงคุณภาพเสียงใหม่ที่ต่างออกไปซึ่งอาจจะมีทั้งดีกว่า หรือ แย่กว่า (ส่วนใหญ่มักเป็นแบบหลัง) สำหรับนักฟังเพลงเราคงเน้นเฉพาะเรื่องของตัวแผ่นเป็นสำคัญ ส่วนปกเก่าหรือใหม่คงไม่มีนัยสำหรับความแตกต่างในเรื่องของเสียง แล้วอะไร คือ สิ่งที่ต้องพิจารณาว่าแผ่นที่เราถืออยู่ในมือนั้นเป็นรุ่นแรกๆ รุ่นสอง รุ่นเก่า หรือ รุ่นใหม่ ...

หากย้อนกลับไปดูวิวัฒนาการที่ผ่านมา เทคโนโลยีของซีดีถูกนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2525 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัทฟิลิปส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ บริษัทโซนี ของญี่ปุ่น ดังนั้นโรงงานผลิตซีดีในยุคแรก ก็จะกำเนิดขึ้นในแถบยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งซีดีเพลงไทยรุ่นแรกสุดของบ้านเราเกือบทั้งหมดผลิตมาจากประเทศเยอรมัน และประเทศญี่ปุ่น สำหรับประเทศเยอรมัน ค่ายเพลงบ้านเราใช้บริการจาก pallas group โดยทางเจ้าของลิขสิทธิ์จะส่งต้นฉบับที่อยู่ในรูปแบบของอนาล็อกไปให้ทางผู้ ผลิตดำเนินการทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การแปลงต้นฉบับที่เป็นอนาล็อกไปเป็นมาสเตอร์ในรูปแบบดิจิตอล จนกระทั่งได้ออกมาเป็นแผ่นซีดี การพิมพ์ปกหน้า ปกหลัง และการบรรจุกล่อง ดังนั้นแผ่นซีดีในยุคแรกจึงมีลักษณะเสียงที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่เป็น อนาล็อกเป็นอย่างมาก เสียงร้อง เสียงดนตรีใสสะอาด ชัดเจน ไม่อับทึบ มีลักษณะเสียงที่ให้ความสด แต่ไม่จัดจ้าน ทั้งนี้เพราะได้อนิสงส์มาจากฝีมือการทำมาสเตอร์ของเอ็นจิเนียที่ไม่เพียงแต่ มีความชำนาญในการใช้เครื่องมือ แต่ยังเข้าใจทฤษฎีเกี่ยวกับเสียงเป็นอย่างดี แม้กระทั่งตัวกล่องก็มีโครงสร้างที่แข็งแรงใช้พลาสติกและวัสดุชั้นดีตาม มาตรฐานของประเทศเยอรมัน จุดสังเกตของแผ่นที่ผลิตโดย pallas group ประเทศเยอรมันนั้น มีอยู่สองส่วนด้วยกัน คือ ข้อความ Made in W. Germany by P + O – Pallas ที่สกรีนอยู่บนแผ่นซีดี กับ ตัวอักษร P+O ที่สลักอยู่บนขอบวงกลมด้านใน (บนด้านที่มีการบันทึกข้อมูล) และจากการสังเกตพบว่าในยุคเริ่มต้นนั้น แผ่นซีดีที่ผลิตโดย pallas group จะมีจุดสังเกตครบทั้งสองส่วน แต่แผ่นซีดีที่ผลิตในเยอรมันโดย pallas group ในรุ่นหลังๆ นั้น มีการทำจุดสังเกตเฉพาะอักษร P+O บนขอบวงกลมในเพียงจุดเดียว ซึ่งเพลงไทยบางอัลบั้มนั้น มีแผ่นซีดีทั้งสองแบบให้เลือกสะสม แถมคุณภาพเสียงก็ต่างกันอย่างชัดเจน ฟังแล้วสามารถบอกความต่างได้ไม่ยาก ดังนั้นนอกจากการสังเกตรหัสต่างๆ บนแผ่นแล้ว การศึกษาข้อมูลของศิลปินแต่ละคน รวมถึงข้อมูลของผู้ผลิตแผ่นซีดีอัลบั้มนั้นในเชิงลึก จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักสะสม


หัวข้อ: Re: รหัสบนแผ่นซีดีเพลงไทย (P+O, TO, SM ฯลฯ)
เริ่มหัวข้อโดย: khaitong ที่ มีนาคม 01, 2009, 10:53:29 AM
รู้ไว้ใช่ว่า ดีกว่าเสียรู้ ซีดีเพลงไทยที่ไม่ธรรมดา (จบ)

สำหรับแผ่นซีดีที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นนั้นค่ายเพลงบ้านเราใช้บริการจากสอง โรงงาน โดยในช่วงเริ่มต้นใช้บริการจากโรงงานของบริษัท ซันโย เช่น แผ่นซีดีอัลบั้ม Grand XO ปกแรก ของ วงแกรนด์เอ๊กซ์ ภายใต้ลิขสิทธิ์การผลิตของ Polydor และแผ่นของ ปานศักดิ์ ทั้งสองชุด ภายใต้ลิขศิทธิ์ของค่าย อมิโก้ ก่อนที่ค่ายเพลงทั้งหลายจะเปลี่ยนมาใช้บริการจาก บริษัทโตชิบา ในช่วงต่อมา นักสะสมเรียกแผ่นซีดีเพลงไทยที่มีแหล่งผลิตมาจากญี่ปุ่นว่า “แผ่นเจแปน” ลักษณะเสียงของแผ่นเจแปน ก็จะคล้ายกับแผ่นจากเยอรมัน คือ เสียงเปิดโปร่ง สดใส ชัดเจนไม่อับทึบ แต่จะโดดเด่นกว่าในด้านเสียงกลางแหลมที่ให้ความสดมากกว่า และจะด้อยกว่าในเรื่องความนุ่มนวล และเนียนของเนื้อเสียง สำหรับจุดสังเกตของแผ่นเจแปน คือข้อความ MADE IN JAPAN บนแผ่น โดยมีตัวอักษร TO สลักอยู่บนขอบวงกลมด้านในสำหรับแผ่นที่ผลิตโดยบริษัทโตชิบา และตัวอักษร SANYO สำหรับแผ่นที่ผลิตโดยบริษัท ซันโย ลักษณะภายนอกก็จะคล้ายกับแผ่นจากเยอรมัน คือ ตัวกล่องทำจากพลาสติกและวัสดุชั้นดี ปกหน้าและปกหลังใช้กระดาษเคลือบมันคุณภาพสูง แผ่นยุคแรกของค่ายแกรมมี่โดยส่วนใหญ่จะผลิตจากประเทศญี่ปุ่น เช่น อัลบั้มแรกๆของ วงไมโคร นูโว อินคา รวมทั้งบางอัลบั้มของอัสนี-วสันต์ ใหม่ เจริญปุระ เจ เจตริน และธงชัย แมคอินไตย เป็นต้น

นอกจากสองแหล่งหลักข้างต้นในยุคต่อๆ มา ค่ายเพลงไทยก็เลือกใช้บริการผลิตแผ่นซีดีจากประเทศใกล้เคียง ซึ่งคุณภาพเสียงก็เริ่มด้อยลง ซีดีรุ่นนี้จะไม่มีการสกรีนบอกแหล่งผลิต แต่จะมีรหัสเป็นตัวอักษร SM สลัก อยู่บนขอบวงกลมด้านใน ซึ่งตัวอักษร SM ก็จะแบ่งย่อยออกเป็นสองรุ่น คือ รุ่นที่ตัวอักษร SM มีขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นแผ่นที่ดีและหายากกว่า แผ่นที่สลักตัวอักษร SM ขนาดเล็ก ตัวอย่างแผ่นรุ่นนี้ เช่น ซีดีปกแรกอัลบั้ม เพชรน้ำหนึ่ง ของ อรวี สัจจานนท์ และ อัลบั้ม ต่างกันที่เวลา ของ ศรัญย่า เป็นต้น

หลังจากที่แผ่นซีดีได้ถูกใช้เป็นมีเดียหลักของค่ายเพลงทั่วโลก ประกอบกับเทคโนโลยีของการผลิตซีดีเปิดกว้างมากขึ้น การผสมเสียงและการทำมาสเตอร์ทำได้โดยใช้คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว เครื่องไม้เครื่องมือพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคากลับถูกลงเป็นอย่างมาก เครื่องผลิตซีดีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก ค่ายเพลงทั้งหลายเริ่มหันมาตั้งโรงงานผลิตซีดีกันเอง กระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้เองภายในประเทศ ลดต้นทุนด้านแรงงาน เลือกวัสดุที่ใช้ในการผลิตกล่องและปกหน้า ปกหลัง ที่คุณภาพปานกลางถึงต่ำ ทำให้ราคาขายปลีกของแผ่นซีดีในบ้านเราถูกลงเป็นอย่างมาก

ในขณะที่ต่างประเทศพยายามจะสร้างมูลค่าของเพลงด้วยกระบวนการผลิตแผ่นซีดี ด้วยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น HDCD XRCD หรือ SACD จากแผ่นราคา 400-500 บาท กลายเป็นแผ่นที่มูลค่าสูงสองถึงสามเท่าของราคาขายปกติ ในขณะที่แผ่นซีดีเพลงในบ้านเรานั้น ค่อยลดราคาลงจาก 470 บาท ในยุคเริ่มต้น ขยับลงมาเป็น 290 บาทสำหรับแผ่นเจแปน 190 บาท สำหรับแผ่น SM และ 120-155 บาท สำหรับแผ่นที่ผลิตในประเทศ ที่วางขายกันอยู่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อม และ ตลาดมักจะเป็นตัวกำหนดกลไกของมันเองสำหรับในแต่ละท้องถิ่น ตลาดของแผ่นซีดีในบ้านเราก็คงเป็นเช่นนั้น กลไกตลาดของประเทศนี้ได้กำหนดไว้เรียบร้อยแล้วว่าผู้ผลิตต้องลดราคาจำหน่าย แผ่นซีดีเพลงให้อยู่ร้อยต้นๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าคุณภาพจะลดลงไปเท่าไหร่ ก็คงมีแต่เราๆ ท่านๆ เท่านั้นแหละครับ ที่พร้อมที่จะจ่ายเพื่อคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น ซึ่งปริมาณไม่มากพอที่จะสร้างแรงบรรดาลใจให้นักธุรกิจด้านเพลงและดนตรี หันมาผลิตซีดีคุณภาพสูงเพื่อคนเพียงหยิบมือ เพราะเป้าหมายหลักของบริษัทเหล่านี้คือกำไร ไม่ใช่คุณภาพของงาน มันทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าผู้บริหารค่ายเพลงในบ้านเรานั้น ท่านใช้เครื่องเสียงยี่ห้อไหน รุ่นใด ปัจจุบันนี้ยังได้เคยฟังเพลงจากแผ่นซีดีของบริษัทตัวเองบ้างหรือไม่ ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าท่านเคยฟังเพลงกันบ้างหรือเปล่า

ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 1

นายมั่นคง

18/03/2010 22:18:24
4,282
โอวว ข้อมูลดีๆๆ เดี๋ยวผมวนกลับมาอ่านอีกทีคร้าบบบ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 2

น้ำปลาตราเป็ด

19/03/2010 00:14:19
แง เสียดายผมเกิดไม่ทัน อดฟังแบบดั้งเดิมเลย
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 3

tuta

19/03/2010 00:37:01
0



ขอบคุณครับ สําหรับข้อมูล

ก็เลยลองเปิดไล่ดูไปเรื่อยๆ ไม่หน้าเชื่อแผ่นCDเป็นตั้ง

กลับไปเจอตัว SM ตรงกลางจริงๆด้วย เป็นชุด เบิร์ดพริกขี้หนู มี.ค.ปี34

ลองเปิดฟังดู กับชุดที่มีโอ้ว..เสียงดีแฮะ เคยสงสัยเหมือนกันว่าCDบางแผ่นเสียงก็ห่วย
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 4

manoi

19/03/2010 11:25:44
4
ขอบคุณมาก สำหรับความรู้ดีๆ ครับ

กลับบ้านจะไปหาดูว่าแผ่นที่มีเป็นแบบไหนบ้าง
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 5

MOD91

19/03/2010 12:03:27
6



รูปตัวอย่าง
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 6

MOD91

19/03/2010 12:05:07
6



แผ่น P+o รุ่นแรก จะ สกรีน P+o บนแผ่น ด้วย
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 7

MOD91

19/03/2010 12:06:47
6



แผ่น Japan ส่วนใหญ่จะเป็นรหัส TO (มีผู้สันนิษฐานว่า TO เป็นรหัสย่อของ Toshiba ครับ)

นอกจากนี้ ยังมี รหัส T131 (ญี่ปุ่น) และ แผ่น สเปน
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 8

MOD91

19/03/2010 12:09:48
6



หมดจาก ญี่ปุ่น เยอรมัน ก็มาเป็นรุ่น "SM" (ก็มีคนบอกอีกว่า "SM" นั้นเป็นรหัสแผ่นที่ผลิต ใน สิงคโปร์)
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 9

Bigbass

19/03/2010 12:52:29
0



ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกโขเลย ขอบคุณมากๆเลยครับ แล้วเอาสิ่งดีๆแบบนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 10

p_eric

27/10/2010 22:17:42
ขอบคุณมากมายครับกับความรู้ดีดีที่มีให้กัน
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 11

ชัย

09/12/2010 13:16:39
อรวี เพชรน้ำหนึ่ง ไม่มีโค้ดSM นะครับ มีแต่ SMA ซึ่งก็คือรุ่นแรกแล้ว
กับโค้ดรุ่นใหม่ๆไปเลยตอนลดราคาปกเหลือ155

เจ มีแผ่นนอกชุดเดียวคือ ชุดแรก เป็นแผ่นJapan

ส่วนเบิร์ด ธงไชย มีทั้งแผ่นjapan และ Spain เช่นเดียวกับ ใหม่ เจริญปุระ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 12

ชัย

09/12/2010 13:21:26
อัสนี-วสันต์ 3ชุดแรกที่อยุ่ค่ายแกรมมี่เป็นแผ่น T131 (ผลิตที่ประเทศเกาหลี)

ส่วนชุดสับประรดเป็นแผ่น Japan และชุดรวมฮิตติดบอร์ดมีทั้ง Japan และ Spain ครับ

ส่วนชุดแรกบ้าหอบฟางก่อนมาอยุ่แกรมมี่เป็นแผ่นP+O(เยอรมัน)ครับ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 13

ืnatthapon

09/01/2011 18:43:43
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 14

ชัย2

07/09/2012 21:28:05
ทดสอบ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 15

nnjjkrub

13/04/2016 14:59:14
0
ขอบคุณครับ ได้ความรู้มากๆ
ผมก็สงสัยมานานว่าทำไม CD สมัยนี้มันเสียงไม่ดีเลย
โดยรวมๆ ที่เคยซื้อ แผ่น GMM มาไม่ได้เรื่องเลยครับ เสียดายเงินมากคือผมอยากฟังเสียงให้มันดีขึ้นกว่า mp3 ที่ download มา แต่กลับไม่เป็นแบบนั้นครับ เสียงที่เปิดจาก CD คุณภาพใกล้เคียงกับ mp3 เสียงแบนราบไม่มีมิติเวทีเสียงอะไรเลย เช่นที่เคยซื้อ The Yers, Big Ass, Silly Fool อัลบัมรวมฮิต ผิดหวังมากครับ ตอนนี้พอเข้าใจแล้ว
แสดงว่าต่อไปถ้าจะอุดหนุนของจริงก็คงแค่ สมัคร apple music พอครับ

ต่างจาก CD เพลงฝรั่งที่ผมมี The Eagle, Jason Marz เสียงดีจริงครับ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 16

Devour

21/04/2016 09:47:51
0
กลุ่มซื้อ-ขาย ในFacebook เจอแผ่นพงพัฒน์ ชุดแรก ราคาจบอยู่ที่ 11,000 บาท
บร๊ะเจ้า!!!
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 17

Klubsri_TUM

21/04/2016 10:02:05
0
ขอบคุณท่าน จขกท. มากครับ(กระทู้นานมาก :0 :0)

ขอบคุณท่าน "nnjjkrub" ด้วยครับ ที่ขุดสาระดีๆมาให้อ่าน.
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 18

TTPOD ZERO

24/04/2016 18:52:19
11
CD แผ่นแท้ คุณภาพเสียง มัก จะขึ้นอยู่กับ ตัว CD โดยตรง เพราะว่า ใน ไฟล์เพลง CD มัน ฝังตัวอยู่ในแผ่น ซึ่ง ไม่สามารถ COPY ลากวาง ลงใน PC บ้านเรา ได้ เพราะ ไฟล์ลิขสิทธิ์ ถ้า ไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ จะเป็น MP3 + FLAC + WAV ทำให้ คุณภาพเสียง อยู่ที่ ไฟล์เพลงฝัง + CD โดยตรง ทั้ง 2 อย่าง ถ้า อย่างใด อย่างนึง ห่วย ก้ ห่วยตาม แม้แต่ หูฟัง + การ์ดเสียง หรือ DAC-AMP ดีๆ ก จะฟ้องเสียงกาก ไปตามกัน ฟ้องทั้ง CD + ไฟล์เพลง

ต่างจาก ไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ อย่าง MP3 + FLAC + WAV ถึง จะ ไรท์เก็บลง ใน แผ่นห่วยๆ อย่าง PRINCO คุณภาพเสียง จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ แผ่น อีกต่อไป แต่ จะ ขึ้นอยู่กับ ไฟล์เพลงล้วนๆ เลยคับ คุณภาพเสียงเลยยังคงเดิมอยู่บ้าง

และ แนะน่อน ไฟล์เพลงที่เสียงดี ได้นั้น ไม่ได้ ขึ้นอยู่ ขนาดไฟล์เพลง เพียงอย่างเดียว แต่ ขึ้นอยู่ กับ ต้นเสียงไฟล์เพลง ด้วยว่า RIP มาจากไหน แหล่งไหน บีบอัดมาดี ไหม เผลอๆ ไฟล์เพลง MP3 ฟังเพาะกว่า ไฟล์ FLAC + WAV ที่ RIP มาห่วย ก้ มี ถมไป เพราะว่า ต้นเสียง มัน RIP มาดีกว่าไง ฟังเพลง YOUTUBE ยัง เพาะกว่า CD เพลงไทย ยุคนี้ อีก ซึ่ง ไฟล์เพลง YOUTUBE ก้ แค่ MP3 เอง ซึ่งมัน แค่ สูญเสีย รายละเอียดเสียง คุณภาพเสียง แต่ ไม่ทำลาย คุณภาพเสียง เหมือน CD เพลงไทย ยุคนี้ ให้ กากลง เพลงฟังไม่เพาะ ใน ชนิดที่ เรียกว่า ขยะเพลง ไปเลย ก้ ว่าได้

จะ กลบเกลื่อน ให้ เพาะขึ้น ก้ ต้อง ลดระดับ ไปใช้ หูฟัง ที่ กากลง เพื่อ ไม่ให้มันฟ้องมากขึ้น ไปอีก ถึง จะ เพาะได้

และ แน่นอน ตลาดเพลงไทย มันแคบ หลายคน ส่วนใหญ่ โหลดฟรี ตาม เว็บฟัง เอา ก้ ได้ ว่ะ คุ้ม ใช้ หูฟัง + ลำโพง + การ์ดเสียง งั้นๆ กับ PC + NOTEBOOK + SMARTPHONE ผ่าน ไฟล์เพลง MP3 โหลดฟรี เอา เอาพอได้ยิน เสียงเพลง เสียงร้อง เป็นหลัก พอ ฟัง ยังไง ก้ เพาะแล้ว เพราะ มันไม่ฟ้องไฟล์เพลงกากเลย ทำให้ หลายคนไทย ไม่ค่อยสนใจ คุณภาพเสียงเพลง + หูฟังที่เสียงดีๆ ราคาสูง และ ขี้ฟ้องไฟล์เพลงกาก มัน เป็น ยังไง เพราะ ยัง ไม่เคยเห็นความแตกต่าง
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 19

มานพ ทาญาติ

10/04/2021 22:38:21
แกรณด์เอ็กซ์ชุด Greatest  Hits
รวมเพลงอมตะ 16  เพลงฮิตเงิรล้าน
ระหัสโค๊ดอะไรและดูตรงใหนครับ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
"ความรู้เรื่องแผ่น CD เพลงไทย "