ผมพบประสบการณ์มหัศจรรย์กับแอมป์ตัวนี้เมื่อไม่นานมานี้เองครับ เลยอยากบันทึกการรับรู้ว่าแอมป์ตัวนี้ว่ามันยอดเยี่ยมแค่ไหนไว้ ณ ที่นี้
ผมไม่ใช่คนเล่นเครื่องเสียงแบบที่เค้าเรียกกันว่า audiophile แต่ผมสนใจดนตรี โดยเฉพาะประเภทที่เรียกว่าอาร์ทมิวสิคตะวันตก (หรือที่เรียกตามนิยมกันว่าแนว classical) ผมจึงต้องค้นหาวิธีฟังที่เหมาะสมเรื่อยมา จนสุดท้ายผมก็ต้องมาสนใจ “หูฟังแพงๆ” เข้าจนได้
“หูฟังแพงๆ” อันแรกของผมคือ Grado SR225i (ซื้อจากร้านมั่นคงนี่ล่ะครับ) และด้วยความที่ผมไม่ทราบอะไรเลย ผมก็งุนงงอยู่นานว่าทำไมเสียงมันดูไม่ต่างจากของของที่ถูกกว่านี้พอสมควร แน่ล่ะ เวลาสอนให้ผมรู้ว่ามันมีกระบวนการที่เรียกว่า break-in อยู่ (บางท่านเรียกว่า burn-in) ครั้นพอหลังจาก “ลองๆ ฟังไปสักระยะ” และพอเริ่มรู้ว่าเสียงของ “หูฟังแพงๆ” มันเลอเลิศอย่างไร ผมก็ติดใจจนอยากลองหาอุปกรณ์เสริม
ผมพบแอมป์ตัวนี้โดยบังเอิญ ผมไม่มีงบระดับสามสี่หมื่นหรือมากกว่านั้น แต่ก็อยากลงทุนได้ของดีๆ เพราะเพิ่งประทับใจ “หูฟังแพงๆ” ตัวแรกมา ตัวนี้เป็นตัวเดียวที่ราคาสูงแต่ก็ไม่สูงเกินไปจนผมซื้อไม่ได้ ผมเลยลองลงทุนเอามันมาลองใช้งานดู
มันคือแอมป์ CREEK OBH-21SE ที่กำลังพูดถึงนี้แหละครับ
แน่นอนครับ ตอนนั้นคือประมาณสิบปีที่แล้ว ถ้าด้วยความรู้ตอนนี้ ผมคงไม่เลือกหูฟัง Grado SR225i เพื่อฟังเพลงแนว classical แน่ๆ และผมก็รู้ในภายหลังว่าคุณลักษณะสำคัญอย่างนึงของหูฟังแต่ละตัวคือ “ความต้านทาน” ที่เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติสำคัญของมัน และเราไม่สามารถเอาหูฟังที่ออกแบบความต้านทานต่างกันมาวัดเทียบกันได้ และที่สำคัญ ความต้านทานของ Grado SR225i คือ 32 โอห์ม ที่ออกแบบมาเพื่อให้ไม่ต้องใช้แอมป์ช่วย และต่อให้มีแอป์มาช่วย มันก็อาจจะไม่ได้เห็นผลอะไรมากนัก
แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ ผมได้แต่ลองฟังมันไปด้วยความฉงนใจว่าทำไม “แอมป์ราคาแพงพอดู” ถึงแทบไม่ช่วยอะไรเลย (จนผมยังเคยคิดว่าโดนคนขายย้อมแมวหรือเปล่า?) อย่างไรก็ดี ผมก็ฟัง Grado SR225i กับแอมป์ตัวนี้เสมอมา (แม้จะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยช่วยอะไร) จนกระทั่งผมตัดสินใจจะซื้อหูฟังเพิ่มอีกตัว
ตอนนั้นผมเริ่มมีความรู้บ้างแล้ว หลังจากไล่อ่านบอร์ดและเพจหรือเว็บเกี่ยวกับไฮไฟฝรั่ง ผมจึงสนใจหูฟังตระกูล AKG โดยเฉพาะรุ่น K701/702 ที่เค้าร่ำลือกันว่าเหมาะกับดนตรีแนว classical นี้มากๆ และเมื่อ AKG ออก Q701 มา ผมก็รับซื้อมาทันทีที่เห็นว่าราคามันลดลงมามาก
และด้วยความที่คนเค้าพูดกันเสมอว่า K701/702 ต้องการแอมป์ ผมก็เริ่มค้นดูว่าแอมป์ตัวไหนเหมาะกับมัน จนพบคำแนะนำว่า Heed Canamp น่าจะเหมาะ ผมก็ไม่รอช้า สั่งซื้อมาลองใช้งานดู และแล้ว หลังจากกระบวนการ break-in Q701 กับ Heed Canamp ก็เป็นคู่หูที่ผมใช้ฟังเกือบๆ จะเป็นมาตรฐาน
ส่วน Grado SR225i ผมก็รักมันมาก เพราะคิดว่าเวลาฟังแนวอื่นๆ ที่ไม่ใช่ classical เจ้า Q701 ดู “จืด” ไปนิด แม้ต่อมา ผมจะลืม SR225i ไว้ในรถแทกซี ผมก็อุตสาห์ไปหา Grado รุ่นเดียวกันมาทดแทน (ผมได้ SR225e มาแทน จากร้านมั่นคงเช่นเดิม)
สิ่งที่ผมลืมไปเสียสนิทคือแอมป์ CREEK OBH-21SE ตัวเก่า ผมใช้งานมันน้อยมากๆ เพราะ SR225i ไม่จำเป็นต้องพึ่งมัน และผมฝังใจเสียแล้วว่า Q701 เหมาะกับ Heed Cancmp มากกว่า
ผมเพิ่งได้มาลองใช้งานมันอีกครั้งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคของ streaming และผมได้ลองใช้งานเจ้า TIDAL ดู
TIDAL ทำให้ผมได้ฟัง straming แบบ Hi-Fi หรือกระทั่ง Master จำนวนมหาศาล ความแตกต่างสำคัญของการใช้บริการ streaming คือทำให้ผมได้ฟังเพลงหลากหลายแนวขึ้นไปจาก classical และผมเริ่มตระหนักว่า Q701/Canamp อาจมีข้อจำกัดในการฟังเพลงแนวอื่นพอควร
และเพราะเป็นการฟังเพลงผ่าน'เน็ต ผมจึงมี “ห้องฟังเพลง” ได้สองห้องแบบสบายๆ ผมจึงเริ่มคิดหาทางทำให้ห้องอีกห้องหนึ่งสามารถรับชมเสียงแบบ Hi-Fi ได้ด้วย
ผมจึงได้กลับมาลองใช้ CREEK OBH 21SE อีกครั้ง
การกลับมาครั้งนี้ ผมมีรู้มากขึ้นบ้างแล้ว ที่จริง แม้ช่วงที่ไม่ค่อยได้ลองใช้งานมัน ผมก็ยังพอได้ลองค้นรีวิวเมืองนอกถึงเจ้า CREEK OBH-21SE ดูบ้าง และพบความแปลกชวนฉงนใจอยู่ เพราะมีคนที่พบประสบการณ์คล้ายๆ ผม คือเห็นว่า CREEK “แทบไม่ได้ช่วยอะไรในการใช้งานเลย” (เขาโกรธเกรี้ยวถึงกับประกาศว่าจะไม่ใช้อะไรของ CREEK อีก) รวมทั้งมีทั้งคนที่บอกว่า “เป็นแอมป์ที่โอเค แต่ขาดความโดดเด่นไปนิด” และก็มีทั้งคนที่บอกว่า “นี่คือแอมป์ที่คุ้มค่าที่สุดที่เขาเคยใช้งานมา”
ในตอนนี้่ผมพอทราบแล้วว่าความพึงใจต่อแอมป์แต่ละตัวขึ้นกับหูฟังที่ใช้งานร่วมกันพอสมควร ดูเหมือน CREEK จะออกไปในแนวทางแอมป์ที่มีทั้งคนรักมากและเกลียดมาก เท่าที่ติดตามมา เหมือนคนที่ใช้ CREEK ร่วมกับหูฟังตระกูล SENN โดยเฉพาะ HD600/650 จำนวนไม่น้อยจะบอกว่ามันเหมาะสมเข้าคู่กัน แต่ผมเริ่มมาเอะใจที่พบว่ามีคนบอกว่า AKG 701/702 ก็เข้าคู่กับ CREEK ได้ดีมากๆ โดยเฉพาะถ้าใช้ฟังแนว classical ด้วย
แน่นอนว่าผมเคยพบคำวิจารณ์ในแง่ลบถึงการเข้าคู่ K701/702 กับ OBH-21SE โดยเฉพาะในแนวทาง classical มาไม่น้อย แต่พอมีคนแนะนำว่ามันเหมาะเหม็งอย่างยอดเยี่ยมด้วย ผมจึงสงสัย เลยลองเอา Q701 ของผมมาลองกับ OBH-21SE นี้อย่างจริงจังดูบ้าง
ในเวลานี้ผมรับรู้แล้วว่าเมื่อใช้กับ K701/702 นั้น เจ้า OBH-21SE ช่วยอะไรๆ “อย่างเห็นผล” (ไม่หมือนเข้าคู่กับ SR255i) แต่ทำไมหนอคนถึงทั้งด่าและทั้งชมคู่นี้ตอนใช้ฟัง classical
ผมคิดว่าผมได้คำตอบในช่วงหลังๆ นี้เองครับ โดยเฉพาะหลังจากที่โลกนี่มี TIDAL
คือเอาเข้าจริง คำว่าดนตรีแนว classical นั้น มันกว้างอย่างมหาศาลจนเกินกว่าพูดลอยๆ ว่า classical แล้วจะครอบคลุมอย่างเป็นเนื้อเดียวกันได้หมด ทั้งในแง่ระยะเวลา (อย่างน้อยๆ ก็สามร้อยปี) แนวดนตรี (บาโรคยันหลังโรแมนติค) ถื่นที่มา (อย่างน้อยๆ ก็ทั่วทั้งยุโรป อังกฤษจรดรัสเซีย) การประสมวง (เครื่องดนตรีชิ้นเดียวไปจนอุปรากรโรงใหญ่)
พอผมได้ใช้ TIDAL ทำได้มีโอกาสได้ลองฟังแนวดนตรีต่างๆ อีกมากมายที่ต่างจากตอนหาซื้อ CD มาฟังเอง ซึ่งตอนหาซื้อมาฟังนั้น ด้วยความที่ CD มันแพงและหาได้ไม่ง่ายนัก ผมก็เน้นไปที่ดนตรีวงใหญ่หรืออุปรากรเสียมาก ซึ่งแน่นอนว่า Heed Canamp ที่เน้นเสียงที่ “กลม” และเน้น soundstage มากๆ ทำให้ K701/702 โชว์ศักยภาพด้านนี้ออกมาอย่าง “มลังเมลือง” (ซึ่งผมอยากเสนอความเห็นด้วยว่า สำหรับบางท่าน “ความมลังเมลือง” แบบนี้ มีความหมายในแง่ลบนะครับ ผมเคยฟังการแสดงอุปรากรหรือการบรรเลงจริงๆ มาบ้าง ผมมั่นใจว่าการเน้น soundstage แบบ K701/702 กับ Heed Cancamp นั้น อาจไม่ใช้ลักษณะเสียงอย่างที่เป็นจริงใน “การแสดงสด” จริงๆ ก็เป็นได้)
อย่างไรก็ตาม พอผมลองฟังดนตรีสมัยบาโรคและเชมเบอร์มิวสิคบางชิ้นกับ Heed Canamp แล้ว ลักษณะ “เสียงกลม” และ soundstage ขยายกว้างนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ออกมาดูน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อเทียบกับตอนฟังอุปรากรหรือบรรเลงวงใหญ่
ครั้นพอผมลองฟังแนวนี้กับ CREEK OBH-21SE ผมก็ได้พบสิ่งที่ไม่เคยตระหนักมาก่อนว่าแอมป์ตัวนี้ทำได้ และอดคิดไม่ได้ว่าอาจเป็นเพราะท่านที่บอกว่าแอมป์ตัวนี้เหมาะกับดนตรี classical นั้น ท่านนั้นคงจะชอบดนตรีสมัยบาโรคหรือเชมเบอรืมิวสิคมากกว่าอุปรากรวงใหญ่แน่ๆ เลย
ลักษณะเสียวงที่ว่าดีงามนี้คืออะไร? ผมว่ามันคือ ความโปร่ง ความใส ความกระจ่าง และทำให้เสียงมันเหมือนกับดังอยู่ที่ข้างๆ หู คล้ายๆ เราไปนั่งอยู่กลางวงหรือใกล้วงดนตรีมากกว่า มากกว่าแบบที่ทำให้เสียงมันกลบมและแผ่กว้างไปในเวิ้งอากาศแบบที่ Heed Canamp โดดเด่น
ลักษณะความใสของเสียงแบบที่ว่านี้ที่ผมเพิ่งสังเกตจากมันได้ ผมอยากจะเทียบกับเวลาเราเห็นธารน้ำใสแจ๋วจนเห็นปลาแหวกว่ายและก้อนหินที่ก้นลำธารนั้น ในเวลานึง เราอาจจะบอกว่า “ปลาสวยจัง หินสวยจัง” แต่พอถึงเวลานึง เราถึงจะตระหนักขึ้นมาได้ว่า “น้ำช่างใสเสียจริง”
อาจเพราะแนวทางนี้กระมัง ทำให้บางครั้งตอนฟังลืมความโดดเด่นของมันไป
ผมคิดว่าแนวทางเสียงของ CREEK OBH-21SE เป็นแนวทางแบบนี้ สำหรับผม แอมป์ตัวนี้ยอดเยี่ยมมากๆ เวลาใช้ฟังดนตรีเชมเบอร์ (ที่ผมได้ฟังก็โดยเฉพาะของบราหมส์) และสมัยบาโรค (ที่ผมได้ฟังก็โดยเฉพาะของบาค) รวมทั้งงานบางชิ้นที่บรรเลงแบบเครื่องดนตรีชิ้นเดียวหรือวงเล็กๆ ที่เน้น “โชว์เสียง” (เช่นที่ผมได้ฟังก็ Hungarian Rhapsodies ของลิสต์ หรือ Carmen Fantasia หรือ Zigeunerweisen ของซาราซาเต) และมันเข้าคู่เหมาะเหม็งมากๆ กับ Q701 ของผม
ผมดีใจที่ได้ค้นพบความวิเศษของมันเสียที แม้จะเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม หลังจากที่ปล่อยมันนอนนิ่งอยู่นาน โดยผมไปให้ความสนใจกับ Heed Canamp มากกว่า และมันสอนผมให้รู้ว่า คงไม่มีหูฟังที่แย่หรือแอมป์ที่แย่หรอก เพียงแต่เราต้องหาดนตรีหรือเสียงที่เหมาะกับมัน และเหมาะกับเราให้เจอ
เวลาเราค้นหาเพลงใน TIDAL เราพบว่ามันมีอยู่กว่า 60 ล้านเพลงมันคงมีบ้างแหละที่เป็นคู่ที่เหมาะเจาะกัน เพียงแต่เราคงมีโอกาสพบกันได้จำกัด ทั้งเงื่อนไขทรัพยากรทั้งเวลา ทุนทรัพย์ และความรู้
ผมเพิ่งได้ Beyerdynamic DT880 แบบ 600 โอห์มมา แม้ OBH-21SE จะบอกว่าตัวมันได้สำหรับหูฟังประมาณ 300 โอห์มเท่านั้น แต่เสียงที่ออกมาก็ไม่เลวเลยครับ มันเป็นแอมป์ที่ดีอย่างแน่นอน