สำหรับความเข้าใจของผม รายการข่าวต่างๆน่าจะมี 2 ประเภทใหญ่
1. รายงานข่าว หรืออ่านข่าวให้ฟัง อันนี้จะเป็นการเล่าถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ใครกับใคร ที่ไหนเวลาอะไร อ่านตรงไปตรงมา ไม่มีทัศนะส่วนตัวในเนื้อข่าว
2. วิเคราะห์ข่าว อันนี้พิธีกรหยิบเอาข่าวมาพูดถึง หรือวิเคราะห์ตามทัศนะส่วนตัว จะเอนไปทางไหนบ้างไม่ว่ากัน หรือจะปรุงเครื่องปรุงให้รสชาติข่าวเข้มข้นขึ้นอันนี้ไม่เป็นไร ขึ้นอยู่กับวุฒิภาระของผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกร
แต่หลังๆต้องยอมรับว่าข่าวเป็นอะไรที่คนไม่ยอมดู ยิ่งข่าวในยุคทีวีดิจิตอลคนดูยิ่งกระจายกันไปดู บางคนดูข่าวง่ายๆสั้นๆในมือถือ ทำให้จำนวนคนดูข่าวทางทีวีจริงๆลดลงไปอีกครับ ผู้ประกาศยุคก่อน ไม่ว่าจะเป็นคุณอาคม มกรานนท์ คุณจักรพันธ์ ยมจินดา คุณสุทธิชัย หยุ่น ล้วนแต่สร้างจุดเด่นด้วยลีลาที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง
การถามด้วยคำถามที่เข้มข้น(ผมเลี่ยงคำว่าถามแรงๆ) มักไม่เกิดขึ้นในยุคก่อน ยังไงก็ยังอยู่ในประเด็น การยั่วให้ผู้ถูกสัมภาษณ์มีบ้าง แต่ก็มีขอบเขตหรือยังอยู่ในจรรยาบรรณของนักข่าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้รายการข่าวนั้นดูสนุกและน่าติดตามยิ่งขึ้น
แต่ข่าวยุคนี้พอคนดูแยกย้ายกันผ่านช่องทางต่างๆ บางทีเช็คเรทติ้งยาก พิธีกรข่าวบางท่านก็เลยพยายามหาจุดขายของตัวเองเพื่อมาแย่งคนดูกับช่องละคร บางท่านก็ทำได้น่ารักน่าติดตาม แต่บางท่านก็พยายามสร้างจุดขายจนเกินขอบเขตเหมือนกัน
คือผมเข้าใจได้ว่าการถามอะไรที่มันแรงๆ อาจจะทำให้ดูสะใจคนดู(บางกลุ่ม) แต่บางคำถามที่เป็นถามสด ผมว่าควรกลั่นกรองก่อนเหมือนกัน เพราะเวลาถามสด คำถามจะหลุดไปแล้วและแก้ไขอะไรไม่ทัน ซึ่งปัจจุบัน การอ่านข่าวและวิเคราะห์ข่าว ถูกจับมาทำเป็นสังขยารวมกันไปหมดแล้ว
และเราก็ไม่รู้ว่าจะเลือกเสพแบบไหนดี แบบอ่านข่าวตรงๆก็อาจจะรู้สึกจืดชืด แต่อ่านแบบช่วยเติมพริกน้ำส้มลงไป คนเสพก็รู้สึกเปรี้ยวเผ็ดสะใจ แต่เอาเข้าจริงอาจจะกลายเป็นฟังความข้างเดียว หรือกลายเป็นการฟังความเห็นส่วนตัวพิธีกรข่าวไปซะงั้น
สุดท้ายก็คือต้องบอกว่าต้องเลือกวิเคราะห์เอาเองว่าจะฟังความข้างใด....จากพิธีกรใดครับ
555