Guest
หมวดหมู่ > เว็บบอร์ด จับฉ่าย

ช่องทางการติดต่ออื่น

  • Munkonggadget
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Contact Us

เมื่อละครเพลงต้องห้าม The King and I ได้ถูกนำเสนอในรูป Jazz Trio จากนักคิด นักวิชาการผู้ชนะเลิศ Thelonious Monk Piano Com

Soundscape

20/04/2017 10:41:56
124

เป็นที่ทราบกันดีว่างานดนตรีแจ๊สมีพื้นฐานนอกจากเพลงบลูส์ ragtime ไปจนถึงงาน Dixieland ในอดีตแล้วการนำละครเพลง (Musical) ที่อยู่ในช่วงยุคทองทศวรรษที่ 40-60s ของศตวรรษที่แล้วมาเล่นโดยนักดนตรีแจ๊สในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่โลกดนตรีได้เดินตามรอยกันมาจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนเราได้ยินเพลงเหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งมีละครเพลงมากมายที่ถูกผลิตขึ้นภายใต้นักประพันธ์บันลือโลกอย่าง Cole Porter, Irving Berlin, Richard Rodgers และคู่หู Oscar Hammerstein II, Jerome Kern, Johnny Mercer หรือในยุครุ่งเรืองของ Opera ภายใต้งานประพันธ์สองพี่น้อง George & Ira Gershwin ราวทศวรรษที่ 20-30s อาทิเช่น Rhapsody In Blue, American in Paris, Porgy and Bess

ไปจนถึงละครเพลงฟอร์มยักษ์ Oklahoma, South Pacific, The King and I, The Sound of Music และอีกมากเกินกว่าจะกล่าวถึง ส่งผลให้วัฒนธรรมการฟังเพลงในแบบนี้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก (ลองจินตนาการดูเหมือนละครไทยๆบ้านเราที่ใช้เพลงประกอบเปิดกันตลอดยังไงคนก็จำได้ ร้องได้ สุดท้ายนำไปเล่นใน Pub 555) ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่าเป็น The Great American Songbook บังเกิดขึ้นในใจนักฟังในยุคนั้นและในยุคถัดๆมา

ในราวปี 2006 ผมได้ฟังอัลบั้มที่นำผลงานละครเพลงเรื่อง The King and I จากการเรียบเรียงและบรรเลงขึ้นใหม่ของ Ted Rosenthal Trio ในชื่ออัลบั้มเดียวกัน ซึ่ง The King and I ้มาจากนวนิยายดัดแปลงจากผลงานเขียนของ Magaret Landon ที่ถ่ายทอดเรื่องราวนวนิยายแนว Fiction กึ่งอัตชีวประวัติจากหนังสือ Anna and The King of Siam ที่เป็นเรื่องราวของครูพระพี่เลี้ยงในการสอนภาษาอังกฤษชื่อว่า Anna Leonowens ให้กับพระโอรส พระธิดาของรัชกาลที่ 4 หรือ King Mongkut ที่เป็นที่รู้จักของต่างชาติจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

แต่ปรากฏว่า Anna and The King of Siam เป็นหนังสือและภาพยนตร์ต้องห้ามในประเทศไทยด้วยสาเหตุที่หลากหลายนับแต่นั้นมา ไม่ว่าอย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาละครเพลงดังกล่าวได้ถูกประพันธ์ทำนองและเนื้อร้องโดยคู่หูคนสำคัญของโลกละครเพลงคือ Richard Rodgers และ Oscar Hammerstein II และเปิดการแสดงครั้งแรกในปี 1951 ที่ Broadway’s St.James Theatre, NY นำแสดงโดย Gertrude Lawrence นักแสดง นักร้องนักเต้นรำชั้นนำชาวอังกฤษ (ซึ่งในขณะนั้นมีอายุมากเกือบ 54 ปีแล้ว) เป็นตัวเอกของละครเพลงเรื่องนี้

โดยมี Yul Brynner นักแสดงเชื้อสายรัสเซีย-อเมริกันที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องนี้อย่างมากจากการรับบทเป็น King Mongkut และต่อมาโด่งดังขึ้นไปอีกจากบท King Ramses II ในภาพยนตร์อมตะ The Ten Commandments ประวัติศาสตร์แห่งโลกละครเพลงก็ต้องจารึกขึ้นใหม่ในครั้งนั้นว่า The King and I กลายเป็นหนึ่งในละครเพลงที่เปิดการแสดงยาวนานที่สุดเรื่องหนึ่งในในอดีตกว่า 3 ปีกับ 1,246 โชว์ ได้รับรางวัล Tony Award สำหรับ Best Musical, Best Actress สำหรับ Lawrence และ Best Supporting Role เป็นของ Yul Brynner

เป็นที่น่าเสียดายที่ Lawrence นักแสดงนำหญิงได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับระหว่างที่แสดงไปได้เพียงปีเศษ และมีการผลัดเปลี่ยนนักแสดงนำหญิงหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน (รายละเอียดหาอ่านเพิ่มเติมได้ใน Wikipedia) แต่มนต์ขลังของละครเพลงดังกล่าวได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่องเดียวกันในปี 1956 โดย 20th Century Fox กำกับโดยผู้กำกับ Walter Lang ซึ่ง Yul Brynner ได้รับรางวัล Academy Award ในฐานะ Best Actor จากเรื่องนี้และนักแสดงหญิงที่สวมบทบาท Anna คือ Deborah Kerr ก็ได้รับรางวัลใน Golden Globe สาขานักแสดงนำหญิงในเรื่องดังกล่าวส่งผลให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทั้งเงินและชื่อเสียงให้กับนักแสดงและทีมงานอย่างล้นหลาม

แน่นอนมีหลายบทเพลงที่ได้กลายเป็นงาน Standard หรือที่เป็นบทเพลงมาตรฐานที่นิยมเล่นกันมากจากงานประพันธ์ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น Shall We Dance?(ไม่ใช่เรื่องที่เล่นโดย Richard Geer นะครับ), I Have Dreamed, Hello Young Lovers, Getting To Know You และนี่เองได้จุดไฟให้กับ Ted Rosenthal ซึ่งเป็น Steinway Artist นักเปียโน นักวิชาการด้านดนตรีแจ๊สจาก Julliard School และ Manhattan School of Music ได้คิดที่จะถ่ายทอดบทประพันธ์เหล่านี้ในแบบ Swing Jazz Trio ในชื่อชุดว่า The King and I (2006) ภายใต้สังกัด Venus Records ค่ายเพลงแจ๊สจากญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตสุดๆในยุคนี้โปรดิวซ์โดย mastering engineer Tetsuo Hara และ Todd Barkan นักวิจารณ์และโปรดิวเชอร์คนสำคัญของวงการแจ๊สของสหรัฐอเมริกา โดยได้ยอดมือเบสชาวเชคที่ปัจจุบันปักหลักในนิวยอร์คอย่าง George Mraz และมือกลองชั้นนำ Lewis Nash มาร่วมสร้างสรรค์ความสวยงามให้กับอัลบั้ม The King and I นี้

Ted สร้างชื่อเสียงจากการที่ชนะเลิศรายการใหญ่ Thelonious Monk International Jazz Piano Competition ในปี 1988 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองเท่านั้น หลังจากนั้นก็ได้รับการเรียกใช้จากบรรดาศิลปินแจ๊สผู้มีชื่อเสียงในนิวยอร์คและทั่วสหรัฐอเมริกา เช่นมือบาริโทนแซ็ก Gerry Mulligan, Art Farmer, Helen Merrill, Phil Woods, Wynton Marsalis, Jon Faddis, James Moody, Bob Brookmeyer, The Lincoln Center Jazz Orchestra และอีกมากมาย ส่วน George Mraz ยอดมือเบสที่ยังมีลมหายใจหนึ่งในเจ้าเทคนิค Bass Bowing (ใช้คันสีสีสายเบส) เขาเล่นกับทุกคนในแวดวงการแจ๊สในสหรัฐแทบจะทุกคนแล้วโดยเฉพาะกับ Oscar Peterson, John Abercrombie, John Scofield ส่วนตำแหน่งกลองรับหน้าที่โดย Veteran studio drummer อย่าง Lewis Nash ที่มีผลงานมากกว่า 400 อัลบั้มที่ร่วมบันทึกกับศิลปินระดับโลกมากมาย

อัลบั้มเริ่มด้วยเพลงช้า My Lord and Master เปรียบเสมือน Warm Up แนะนำความยิ่งใหญ่ของบทประพันธ์ทั้งอัลบั้มก่อนที่สนุกกับ Shall We Dance กับจังหวะสวิงปลุกเร้าผู้ฟังให้ออกมาร่วมเต้นตามเจตนารมย์ในการแต่งเพลงนี้ที่กำหนดการเต้นในรูปแบบ Polka Dance Style ที่ King Mongkut และ Anna ได้มีโอกาสเต้นรำร่วมกัน ซึ่ง Polka Dance มีจุดกำเนิดในประเทศเชคในอดีตจนแพร่หลายไปทั่วยุโรปและสหรัฐ

ตามด้วย I Have Dreamed กับ Latin rhythm อ่อนๆสบายๆสลับกับ Swing ที่อยู่ในฉากที่ทับทิมหนึ่งในนางสนมสาวชาวพม่าเครื่องบรรณาการโดยกษัตรย์แห่งพม่าที่แอบมีความรักลับๆกับลันทาปราชญ์ชาวพม่าที่เชี่ยวชาญการออกแบบวัด โดยทั้งคู่มีความฝันที่จะหลบหนีไปใช้ชีวิตด้วยกัน ซึ่งถูกบรรยายความรักในเพลง We Kiss In The Shadow บรรยายบ่งบอกถึงความรักของทั้งสองที่อยู่ในความกลัวว่าเรื่องจะรู้ไปถึงกษัตริย์ บทเพลงที่อยู่ในรูป Ballad กลมกล่อม งานฉาบและสแนร์ที่พลิ้วไหว ส่งเสียงการกระเพื่อมของฉาบที่อบอวลไปทั่วห้องบันทึกเสียง การโซโล่ดับเบิ้ลเบสของ George ในตอนกลางเพลงดั่งเสียงแอบอิงคลอเคลียของคู่รักได้อย่างดีทีเดียว ไม่นับความละเมียดจากปลายนิ้วของ Ted ที่ทำให้ฉากรักน่าจะดูมีความดื่มด่ำมากยิ่งขึ้น

ถัดมากับจังหวะตัวโน๊ดที่แสนซุกซนในเพลง Getting To Know You ที่เป็นฉากที่ Anna ได้บรรยายถึงโลกว่าใหญ่มากกว่า Siam ในขณะนั้นมากสร้างความงุนงงและไม่พอใจแก่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์พระโอรสองค์โตของ King Mongkut ผู้สืบรัชทายาท การเดินเปียโนของ Ted ทั้งคล่องและ Speedy Swing นั้นโชว์ให้เห็นว่าทำไมเขาถึงชนะเลิศการแข่งขันสำคัญได้ และกลายเป็นตัวเลือกต้นๆของศิลปินแจ๊สในยุค 80-90s Lewis Nash ควบกลองได้อย่างสะใจ ที่เด่นอีกหนึ่งเพลงคือ March of The Royal Siamese Children นั้นเริ่มได้อย่างยิ่งใหญ่ในท่วงทำนองมาร์ชที่เป็นฉากที่ King Mongkut แนะนำพระโอรส พระธิดาให้กับครูของพระองค์น้อยๆเหล่านี้โดยเหล่าพระโอรสและพระธิดาทรงพระดำเนินเข้ามาอย่างมากมายและทำให้ Anna ประทับใจและประหลาดใจในเวลาเดียวกัน Ted และทีมนักดนตรีมีความเป็น Unity และเข้มข้นในการบรรเลงกว่าในฉากของภาพยนตร์โดยเฉพาะ Lewis Nash ที่เดินจังหวะกลองมีพลังเหมือนกองทัพก่อนที่จะขยับมา Groove คู่กับเบสเพื่อให้ Ted สามารถฉายเดี่ยวได้อย่างสมบูรณ์แบบ


สุดท้ายบทเพลงในอัลบั้มจบอย่างรื่นเริงในเพลง Hello, Young Lovers ในจังหวะ Waltz อันเป็นฉากที่ Anna พบกับพระชายาทั้งหมดของ King Mongkut และได้เล่าเรื่องราวความรักของเธอกับสามีผู้ล่วงลับ Tom และแอบเห็นใจในความรักลับๆระหว่างทับทิมและลันทาไปด้วยเช่นกัน Ted สวิงบนโครงสร้างจังหวะดนตรี Waltz ได้อย่างเพลิดเพลินในขณะที่ Rhythm Section ทั้งเบสและกลองคงสนุกและปลดปล่อยไปกับหัวหน้าวงก่อนจะปล่อยให้กลองโซโล่สามสี่ช่วงแล้ววกลับท่อนจบอย่างสมบูรณ์แบบ การบันทึกเสียงโดย Sound engineer Katherine Miller แห่ง The Studio ช่วยให้งานบันทึกเสียงนี้มีมิติชวนฟังสมค่ำล่ำลือว่าค่าย Venus Records นี้มีระบบบันทึกเสียงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในวงการเพลงปัจจุบัน พร้อมด้วยการมิกซ์และมาสเตอร์โดยเจ้าของค่ายเองในระบบ 24bit/96 Khz Hyper Magnum Sound ครับ

ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 1

Soundscape

20/04/2017 10:44:50
124
Live at Smalls jazz club ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักฟังที่ไป NY

ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 2

Soundscape

20/04/2017 10:45:47
124
ติดตามข่าวสารอัลบั้้มดี บันทึกเสียงเยี่ยมในระดับโลกได้ที่ "แจ๊สชวนชิม" ครับ https://www.facebook.com/jazzchuanchim/?ref=bookmarks
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
"เมื่อละครเพลงต้องห้าม The King and I ได้ถูกนำเสนอในรูป Jazz Trio จากนักคิด นักวิชาการผู้ชนะเลิศ Thelonious Monk Piano Com"