หากจะนับศิลปินที่เป็นทั้งนักดนตรีและนักร้องที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติดนตรีโลกที่ข้ามสายพันธุ์ดนตรีจาก Straight-Ahead Jazz ไปสู่ Soul, R&B, Pop เขาคนนั้นคงเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก George Benson ซึ่งหากคุณเป็นนักดนตรีโดยเฉพาะมือกีตาร์ก็คงต้องฝึกท่อนริฟสวยๆในเพลง Breezin’ และหากเป็นร้องก็คงต้องฝึกร้องในเพลง Nothing’s Gonna Change My Love for You หรือ The Greatest Love of All (ที่ดังก่อนเวอร์ชั่น Whitney Houston เสียอีก) หรือ Beyond The Sea (La Mer) เป็นต้น
อิทธิพลของ George Benson นั้นแผ่ขยายอาณาเขตนับแต่ช่วงปี 60 เรื่อยมาจนถึงปลาย 80’s ที่เป็นสิ่งที่แฟนเพลงจดจำได้แม้ในตอนต้นอาชีพจะถูกคาดหวังจากแฟนๆในสาย Jazzhead ว่าต้องเป็นอย่าง Wes Montgomery มือกีตาร์แจ๊สคนสำคัญของโลก ซึ่งผลงานของ George ก็ทำให้ศิลปินในรุ่นหลังๆได้มีแนวทางที่จะพัฒนาตนเองในอาชีพนักดนตรี เพราะการที่จะอยู่ในสายอาชีพดนตรีที่เรียกว่ามีการแข่งขันที่สูงแล้วแถมยังมีกลุ่มแฟนเพลงที่แตกแขนงความชื่นชอบในสไตล์ต่างกันไปจากในอดีต
การเลือกที่จะยืนอยู่บนความสามารถของตนเองไม่ถูกกลืนไปในกระแสโลกดนตรีที่ค่อนข้างผันผวน ในขณะที่ต้องออกผลงานให้ได้เข้าตาแฟนเพลงหรือ Mass Market จึงเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับศิลปินในปัจจุบัน การที่ George เริ่มเปลี่ยนวิธีการนำเสนอดนตรีของเค้าจากการที่เล่นเพียงอย่างเดียว จนมาสู่การขับร้องเต็มตัว (อันนี้เป็นพรสวรรค์จริงๆ) พร้อมโชว์เทคนิคกีตาร์สอดแทรกในแทบทุกเพลงเหตุเพราะค้นพบความสามารถในการขับร้องและน้ำเสียง ตลอดจนเทคนิคการ Scat Singing พร้อมเล่นกีตาร์ไปด้วยที่น่าจะไปได้ไกลกว่าการเป็นแค่นักดนตรี ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยกเครดิตให้กับ Producers คนสำคัญในหลายค่ายเพลงที่มีส่วนร่วมในการผลักดันและให้กำลังใจ George ในการเข้าสู่โลกดนตรีแห่งความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็น Creed Taylor, Tommy LiPuma, Quincy Jones, Dave Grusin จนนำไปสู่เจ้าของรางวัล Grammy Awards กว่า 8 ตัวด้วยกันและมียอดจำหน่ายหลายล้านแผ่นทั่วโลกและคงยากที่จะมีนักกีตาร์นักร้องคนใดที่จะมาทำลายสถิติของ George Benson ลงได้ (ไม่นับรวม Garth Brooks นะเพราะคนละแนวเลย 555)
Torsten Goods ศิลปินหนุ่มมือกีตาร์และนักร้องชาวเยอรมันที่เติบโตมาด้วยแผ่นเสียงผลงานของ Duke Ellington จนถึง Oscar Peterson ที่คุณแม่ชาวไอริชได้เก็บไว้ให้จนได้ผลักดันให้เขาเดินตามความฝันในการเป็นนักดนตรีอาชีพ จากประสบการณ์ที่เริ่มเล่นกีตาร์นับแต่ช่วงวัยรุ่นและได้เรียนใน Master Class กับศิลปินชั้นนำอย่าง Jim Hall และJohn Scofield และประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเขากับนักดนตรีฝรั่งเศสเชื้อสายยิบซีอย่าง Bireli Lagrene ต่อมากับการศึกษาที่ New School in New York สถาบันด้านดนตรีแจ๊สระดับโลกกับ Vic Juris เล่นดนตรีกับศิลปินใน NY จนพบกับอีกหนึ่งจุดสำคัญในการเจอกับ George Benson ที่แนะนำเทคนิคให้เขาร้องและเล่นกีตาร์ไปด้วยจนไปถึงการเล่นกับ Les Paul ตำนามมือกีตาร์และนักประดิษฐ์กีตาร์ผู้ล่วงลับ และในปี 2005 กับการเข้ารอบสุดท้าย Thelonious Monk Jazz Guitar Competition ที่มี Jury เป็น Wayne Shorter และ Herbie Hancock
หลังจากนั้นเป็นต้นมาชื่อเสียงของเด็กหนุ่มจาก Dusseldorf ก็เริ่มเตะตาวงการดนตรีในเยอรมันและยุโรปจนเขาได้ถูกจับเซ็นสัญญากับค่ายเพลงยักษ์เล็กที่แข็งแกร่งอย่าง Act Music จนได้ออกผลงานชุดแรกในสังกัดชื่อชุด Irish Heart ในปี 2006 และอัลบั้ม 1980 ในปี 2008 และ Love Comes To Town ในปี 2013 จนท้ายสุด Thank You Baby ในปี 2015 ซึ่งที่ผมจะพูดถึงคืออัลบั้ม Love Come To Town ที่กลับมาภายใต้การ Produce ของ Mr.Red Horn Nils Landgren เจ้าพ่อของ Funk ซึ่งเคยมาเปิดการแสดงในบ้านเราใน Bangkok Jazz Festival เมื่อราว 10 ปีที่แล้วที่เล่นเอาแฟนๆยืนกันตลอด 1:30 ชมของการแสดง โดยอัลบั้มนี้ยังได้ยอดมือ Trumpet มาเสริมในส่วนของ Horn Section ให้แน่นขึ้นไปอีกคือ Till Bronner และ Magnus Lindgren
กับ 14 บทเพลงความยาวเกือบ 60 นาทีโดยเขาแต่งเองร่วมกับมือ Fender Rhodes Jan Misserre อยู่ 7 เพลงและ Cover งานทั้งจาก U2 วงร็อคจากไอริชในเพลง When Love Comes to Town, Right Here Waiting ของ Richard Marx, Someone Like You ของ Adele, Night Life ของ Willie Nelson และงานคลาสสิคแจ๊สอย่าง They Can’t Take That Away From Me ของ George & Ira Gershwin ต้องบอกว่าทั้งอัลบั้มงานเพลงเป็นอะไรที่ฟังสบายกับจังหวะ Groove เสียส่วนใหญ่ที่ไม่บอกก็รู้ว่าได้รับอิทธิพลจาก George Benson มาเต็มๆทั้งการ Scat Singing, Guitar Solo ที่จัดจ้านมาก
แต่ความน่าสนใจคือการประพันธ์เพลงด้วยตัวเอง และเรียบเรียงออกมาด้วยเมโลดี้ที่ลงตัวหลายเพลงอย่าง Your Wind Me Up, Freedom Every Day, Weekend At The A-Trane (ชื่อเพลงที่เลียนแบบ Weekend in LA ซึ่ง The A-Trane เป็น indie jazz club ชั้นนำในกรุงเบอร์ลิน) Summer Lovin หรือ Berlin P.M งาน Fender Rhodes จาก Jan Miserre ที่ทำให้ดูดนตรีย้อนกลับไปในยุค 80s ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะไม่นับรวม Horn Section ที่เล่นไล่เรียงกับ Rhythm Sectionได้อย่างเท่ไม่เสียชื่อ Producer Nils Landgren พร้อมทั้งได้นักร้องเสียงประสาน label artists อย่าง Ida Sand และ Viktoria Tolstoy ทำให้เพลงมีเสน่ห์และน่าจดจำขึ้นไปอีก
ลองไปฟังตัวอย่าง Summer Lovin ควบกับเพลงอมตะ Right Here Waiting ในคลิปด้านล่าง คงเห็นภาพเต็มอัลบั้มนี้ได้ไม่ยากครับ โดยเฉพาะ Right Here Waiting ที่ไลน์เปียโนที่ถ่ายทอดให้เป็น Jazz ballad ได้อย่างไพเราะทีเดียว Till Bronner มายกระดับให้มัน Cool ขึ้นไปอีกใน Trumpet Solo ได้อย่างละเมียดไม่ใช่ Cover งานปีอปแบบ 100% จนไม่มีไอเดียของตัวเองเลย ไม่นับรวบการบันทึกเสียงที่ค่อนข้างทำได้ดีทำให้ผู้ฟังสามารถแยกแยะงานเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น มี Sound Stage ที่ชัดเจนแต่ไม่จัดจ้านให้ความรู้สึกเป็น Retro music ในยุค 80s จริงๆครับ