Marius Neset มือแซ็กโซโฟนหนุ่มจาก Norway ที่นิตยสารระดับโลกจากสหรัฐอย่าง Downbeat Magazine ฉบับเดือนมิถุนายน 2016 เลือกให้เขาเป็นหนึ่งเดียวของยุโรปที่ถูกจัดให้เข้าอยู่ใน League นักดนตรีวัยต่ำกว่า 40 ปีที่จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของวงการดนตรีแจ๊สระดับโลกในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า
จะว่าไปแล้ว Marius Neset ไม่ใช่คนที่เราอาจไม่รู้จักมักคุ้นนักเพราะเป็นหนึ่งในนักดนตรีในกลุ่ม boyband ในรูปแบบ Jazz-Rock Fusion จากโคเปนเฮเกน Jazzkamikaze ที่ตัวผมเองได้มีโอกาสนำเสนอผลงานของวงในขณะที่อยู่ที่ค่ายเพลง Hitman Jazz นับแต่ปี 2005 หรือกว่า 12 ปีที่แล้วในขณะที่ Marius Neset มีวัยเพียง 20 แต่กลับโลดแล่นในแวดวงดนตรีหลายประเทศในโลก ด้วยตำแหน่ง Best Soloist ในเทศกาลสำคัญหลายประเทศในยุโรปจนสะกิดนักวิจารณ์ นักฟังทั่วโลกมาตลอดจนถึงทุกวันนี้
จากพื้นฐานที่เล่นกลองในวัยเด็กเมื่อเพียง 5 ขวบก่อนที่จะมาสนใจในแซ็กโซโฟนทำให้มีสัญชาติญาณในการเล่นและ Improvise ที่พิเศษช่วยให้เขามี Rhythm Base อันมั่นคงอันไม่ว่าจะมี Odd Time Signature เป็นอย่างไรก็ไม่ทำให้ธรรมชาติในการเล่นของเขาสะดุด เขายังเพิ่มเติมอีกว่าการเกิดในหมู่บ้านเล็กๆใน Bergen ที่รายล้อมไปด้วยหุบเขาและความเหน็บหนาวทำให้เขาชื่นขอบ “ความเงียบ” ที่เปรียบเสมือนเป็น “เสียงดนตรี” อีกชนิดหนึ่ง (สแกนดิเนเวียมีวัฒนธรรมทางดนตรีที่เรียกว่า Nordic Sound คือเสียงดนตรีที่เล่นอย่างเงียบเหงาสะท้อนภูมิทัศน์ของดินแดนจุดเยือกแข็งในแถบนี้) ประกอบกับการอยู่ในยุค Bergen Wave ที่เหล่าวัยรุ่นพากันคลั่งไคล้กับงาน Post Rock อย่าง Radiohead และวงร็อครุ่นใหม่ในบ้านเกิด ไปจนถึง Classical Composer ของนอร์เวย์เองทำให้ส่วนผสมทางดนตรีของ Marius มีความพิเศษและร่วมสมัยอย่างมาก และส่วนตัวเขาชื่นชอบพ่อมดดนตรี Experimental Rock อย่าง Frank Zappa
เขาถูกค้นพบโดย Django Bates (ECM) ยอดมือเปียโนและนักประพันธ์ที่เป็น Professor สอนแจ๊สที่ The Rhythmic Music Conservatory of Copenhagen และได้กลายเป็น Mentor ในการชักนำให้ Marius ได้ออกผลงานกับค่ายเพลง Edition ของอังกฤษ นอกเหนือจากในบ้านเกิดกับ Stunt Records และ Calibrated Records ความที่มีเทคนิคอันจัดจ้านและโทนเสียงที่คมชัดทะลุทะลวงถูกนำไปเปรียบเทียบอย่างน่าสนใจจากนิตยสาร Jazzwise, UK ว่า “Marius Neset is one of the great new tenor sax players of our age, in the tradition of Michael Brecker and Jan Garbarek” และเมื่อปี 2011 Marius ได้รับการมอบหมายให้ประพันธ์บทเพลงเพื่อเล่นร่วมกับวง Tronheim Jazz Orchestra กับ 13 ผู้เล่นที่เป็น Young Generation ของนอร์เวย์ เพื่อเล่นในเทศการแจ๊สที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งนั่นคือ Molde International Jazz Festival ในปี 2012
แม้วง Tronheim Jazz Orchestra จะเป็นเด็กหนุ่มสาวหน้าใหม่ในแวดวงแต่กลับมีประสบการณ์ในการเล่น Back Up ให้กับ Chick Corea, Pat Metheny, Joshua Redman ในยามที่เดินทางมาเปิดคอนเสิร์ตรอบพิเศษในเทศกาลสำคัญของนอร์เวย์มาแล้ว Marius ยังยืนยันถึงขนาดพูดว่าแต่ละคนมี “Strong Identities” ในตัวไม่ใช่แค่เพียง Big Band ที่เล่นตามชาร์ตให้เท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าความสนใจในดนตรีของหนุ่มสาวสแกนดิเนเวียมีอยู่สูง เพราะนอกจากจะมีสถาบันดนตรีที่ก่อตั้งมาอย่างเนิ่นนาน นักดนตรีที่ออกมาก็ล้วนได้รับการสนับสนุนจาก Norwegian Art Council, Trondheim City และในระดับตำบล ที่ร่วมกันสนับสนุนเทศกาลดนตรีและให้เงินทุนในการทำผลงาน บันทึกเสียงฝึกซ้อมซึ่งเป็นเรื่องที่บ้านเราควรจะหันมาดูใส่ใจการให้การศึกษาและสนับสนุนศิลปินบ้านเราที่มีผลงานโดดเด่นเพื่อเป็น “สินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม” ในโอกาสต่อไป
ผลงานที่ผมพูดถึงอยู่ในอัลบั้มที่ชื่อว่า Lion ที่เป็นการบันทึกเสียงในสตูดิโอในปี 2013 หลังจากได้เสร็จสิ้นภาระกิจการแสดงที่ Molde ในปี 2012 และทั้ง Marius และวงมีความคิดที่จะออกทัวร์และออกผลงานชุดนี้ด้วยกัน Act Music ค่ายเพลงระดับโลกไซส์ SME ก่อตั้งโดยอดีต President ของ WEA Europe Siggi Loch จาก Munich ได้ตัดสินใจเซ็นสัญญากับ Marius ในการออกผลงานเดี่ยวนับแต่นั้นหลังจากเห็น Profile ที่ไม่ธรรมดาของ Marius และนั่นทำให้เราได้ฟังผลงานชุดแรกในสังกัดที่สะใจผมอย่างมาก Marius ให้ชื่ออัลบั้มนี้อย่างมีนัยยะสำคัญโดยเขากล่าวว่า “The music was energetic, wild and colorful – like a lion ferociously chasing its prey”
ในอัลบั้มประกอบไปด้วย 8 เพลงที่ประพันธ์และเรียบเรียงโดย Marius ทั้งสิ้นกับความยาว 64 นาทีเริ่มด้วยเพลง Lionกับความยาวราว 10 นาทีจากชื่ออัลบั้มที่เครื่องเป่าทำหน้าที่ intro เข้ามาอย่างเนิบช้ามีระเบียบ ก่อนที่ Rhythm Section พร้อม Vibraphone เล่นจังหวะขัดหูที่ตื่นเต้น เสมือนพลังงานที่พร้อมจะปลดปล่อยจนถึงจุดที่เป็น Free Jazz แล้ววกกลับมา Melody ของเพลงอีกครั้งซึ่งเป็นช่วงที่สวยงามมากก่อนที่วงจะอำลาในช่วงสุดท้ายเหลือเพียง Rhythm Section ที่ค่อยทยอยเฟดที่ละชิ้นจนจบ เพลงต่อมา Golden Xplosion เป็นแทร็คจากอัลบั้มเก่าที่นำกลับมาเรียบเรียงในรูป Orchestra ที่ทั้งเพลงมีจังหวะขัดและสัดส่วนห้องเพลงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรียกว่าฟังไปจับต้นชนปลายไม่ถูกตลอดว่าเล่นจังหวะไหนกันแน่กับความยาว 7 นาทีแห่งความมันส์
บทเพลงที่เหลือนั้นล้วนยากจะอธิบายเป็นคำพูดหากจะบอกว่าทั้งอัลบั้มล้วนเต็มไปด้วยโครงสร้างดนตรีที่ซับซ้อนในการเล่นเสมือนดั่งสายน้ำขนาดใหญ่ที่ลัดเลาะไปตามคูคลองก่อนที่จะมาบรรจบกันที่ปากมหาสมุทร ความยาวเฉลี่ยต่อเพลงอยู่ที่ 7-10 นาทีซึ่งเพียงพอและมากพอที่จะให้ Improviser ในแต่ละเครื่องได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้เราผู้ฟังได้เพลิดเพลินที่สุดอัลบั้มหนึ่งในทศวรรษนี้ก็ดูไม่เกินเลยไป เป็นการเปิดประสบการณ์ในการฟังที่ยากจะมีวงที่ใกล้เคียงกันนี้สมกับที่ Downbeat Magazine ได้ยกย่องให้ Marius เป็นหนึ่งในนักดนตรีรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นผู้กำหนดดนตรีแจ๊สในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ดั่งจะเห็นได้จากบทเพลง Birds ที่เป็นบทเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม Lion ใน Molde International Jazz Festival ที่ได้เป็นประจักษ์พยานของพวกเขาครับว่า "นกน้อย" เหล่านี้ได้โบยบินเหนือกาลเวลา และสถานการณ์โลกไปแล้ว