สวัสดีครับ มีข่าวผลงานวิจัยล่าสุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจเอามาแนะนำครับ และคิดว่าน่าจะเหมาะกับบอร์ดแห่งนี้ (ผมไม่ค่อยได้โพสต์อะไรมากมาย เน้นตามอ่านอย่างเดียวครับ)
เป็นที่ถกเถียงกันมาเสมอว่า การบีบอัดไฟล์มากๆจะมีผลต่อคุณภาพเสียงหรือไม่ คำตอบนี้ จนถึงปัจจุบันก็ยังคลุมเครือ ผมเองยอมรับว่าฟังเพลงแบบไม่บีบอัด เพราะเชื่อโดยไสยศาสตร์ (เนื่องเพราะพิสูจน์ไม่ได้) ว่ามันน่าจะดีกว่าไฟล์ที่โดนบีบอัดไม่ว่าฟอร์แมตใดๆก็ตาม หรือแม้แต่การเปลี่ยนจากรูปแบบ wav ที่นิยมใช้ในซีดีและการทำมาสเตอร์ริ่งทั่วไป ไปเป็นพวก aiff alac flac ผมก็"เชื่อ"ว่ามันเปลี่ยนคุณลักษณะของเสียงไปจากไฟล์ wav เริ่มต้น
เกริ่นมายาวพอสมควร งานวิจัยอันล่าสุดนี้ไม่ได้จับประเด็นเรื่องคุณภาพเสียงที่ลดลงหรือหายไปจากการบีบอัดไฟล์เสียง แต่คณะผู้วิจัยทำการทดลองแล้วพบว่า การบีบอัดไฟล์เป็น mp3 มีผลต่ออารมณ์ของดนตรีหลังจากการเปลี่ยนเป็น mp3 โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการทดลองโดยคัดเลือกอาสาสมัคร ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนระดับป.โทเอกมา 20 คน ให้ฟังเสียงเทียบกันทีละสองไฟล์เสียงซึ่งมาจากการเล่นอุปกรณ์ต่างๆ โดยเทียบเสียงดั้งเดิมไร้การบีบอัดและไฟล์ที่บีบอัด และให้อาสาสมัครให้คะแนนตามพื้นฐานของอารมณ์ (ที่ถูกบรรยายเอาไว้ตามดิคชันนารี) เช่น โรแมนติค สงบ มีความสุข อาย เป็นต้น โดยฟังทั้งหมด 960 ครั้ง (มาจาก 8 อุปกรณ์ 10 อารมณ์ สี่ไฟล์เสียง ไม่บีบอัด 112 kbps 56 kbps 32 kbps โดยจับคู่ฟังทีละสองไฟล์เสียง 4P2=12)
ผลการทดลองออกมาน่าสนใจมาก ขอสรุปอย่างย่อ ดังนี้ คณะผู้ทำการทดลองพบว่า กลุ่มอาสาสมัครให้ผลไปในทางเดียวกัน เสียงเครื่องดนตรีที่ให้อารมณ์ในด้านบวก เช่น โรแมนติด สนุกสนาน สงบ และกล้าหาญ ได้รับผลกระทบจากการบีบอัดของไฟล์เป็น mp3 โดยอาสาสมัครให้คะแนนอารมณ์ต่อเสียงผิดจากความเป็นจริงของไฟล์นั้นๆ (ให้คะแนนอารมณ์เบี่ยงเบนจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก) ส่วนเสียงเครื่องดนตรีที่แสดงอารมณ์ โกรธ นั้นได้รับผลกระทบน้อยมากจากการบีบอัดเป็น mp3 สาเหตุนั้นคณะนักวิจัยเดาว่า อาจจะมาจากการบีบอัดเป็น mp3 มีการใส่เสียงที่มีลักษณะแผดคำราม (Growl) เข้ามา จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบต่ออารมณ์ของเสียงแบบ โกรธ การบีบอัด mp3 ยังเพิ่มอารมณ์ของดนตรีขับเน้นไปทางด้าน น่ากลัว (Scary) และ พิศวง (Mystery) ในอุปกรณ์แปดชิ้นนั้น กลุ่มเครื่องเป่า (Horn) ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยทรัมเป็ตมีผลกระทบมากที่สุด
งานวิจัยนี้ น่าสนใจ เพราะมักจะมีการถกเถียงถึงผลต่อการบีบอัดไฟล์ต่อคุณภาพเสียง ซึ่งงานวิจัยนี้ได้พยายามทำออกมาให้เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด แต่ยังไงก็ตามงานวิจัยนี้มีจุดบกพร่องอย่างหนึ่งคือ กลุ่มอาสาสมัครที่ค่อนข้างเล็กไปหน่อย เพียง 20 คนเท่านั้น
ใครสนใจงานวิจัยตัวเต็ม ตามลิงค์ข้างล่างนี้ไปได้เลยครับ
1) http://www.aes.org/e-lib/browse.cfm?elib=18523
2) https://techxplore.com/news/2016-12-compression-format-timbre-music-loss.html
หวังว่างานแปลข่าววิจัยนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเหล่าคนเล่นหูฟังครับ
ขอบคุณครับ