
รีวิว : มิวสิคเพลย์เยอร์พกพา dap ระดับพระกาฬพลังโสม Astell&Kern AK300 !!
อารัมภบท :
สวัสดีครับ สวัสดีมิตรรักแฟนเพลงคอลัมน์รีวิวที่รักทุกท่านของผม เป็นเวลานานถึงนานโคตรที่ผมไม่ได้เขียนรีวิวให้ท่านได้อ่านกัน เรื่องสุดท้ายที่เขียนไปน่าจะกินเวลาชาติกว่า คือนานแรมปี โดยเรื่องสุดท้ายน่าจะเป็นปีที่แล้วครับ หลังๆผมหันไปเขียนสกู๊ปท่องเที่ยวซะเป็นส่วนใหญ่ เหตุเพราะโม้ง่าย เขียนง่าย เขียนยกเมฆอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ แต่พอจะกลับมาเขียนรีวิวจริงๆจังๆ ใจก็ประหวั่นว่าจะไปรอดหรือไม่ จะโดนโห่ฮาป่าเพราะปล่อยไก่กลางหน้ากระดาษหรือเปล่า
แต่ช่างมัน อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดและก็คงต้องปล่อยเลยเถิดไปตามอารมณ์การรีวิวครับ วันนี้ผมจะหยิบยกเอานวัตกรรมอย่างหนึ่งที่คนคลั่งไคล้กันเสียเหลือเกิน นั่นก็คือการรีวิวสินค้าประเภทแนวเครื่องเล่นพกพา หรือมิวสิคเพลย์เยอร์ขนาดเล็กพกได้ครับ เหตุที่มีแรงกดดันเพราะมันเป็นสินค้าไฮเทค พึ่งพาเทคโนโลยีมากมาย และมันถูกอิงกับความรู้เชิงวิศวะอิเล็คโทรนิคเข้าไป ซึ่งแน่อนว่านักเขียนรีวิวระดับหางอึ่งอย่างผม ถ้าจะถามถึงความรู้เชิงวิศวะ ก็น่าจะเป็นเพียงวิศวะลาดยาว แดนหนึ่ง !!
เข้าเรื่องเหอะ เดี๋ยวโดนรองเท้าเขวี้ยงใส่โดนศีรษะอาจจะไม่คุ้มเอา วันนี้ผมจะเรียบเรียงและเล่าให้ท่านทราบแบบคร่าวๆ เพื่อให้ท่านไปคุยกับภรรยาหรือกวางน้อยของท่าน จะได้รู้เรื่องเหมือนเพื่อนราชสีห์ของท่าน ผลิตภัณฑ์ที่ผมจะเล่าถึงต่อไปนี้ก็คือ เครื่องเล่นเพลงพกพา หรือจะเรียกให้เป็นภาษาอังกฤษสวยงามก็คือ Portable Music Player หรือจะเรียกให้เท่ไปกว่านั้นตามวัยรุ่นแถวสยามสแควร์และแถวหน้าพารากอน เค้าเรียกไอ้เครื่องเล่นประเภทนี้ว่า DAP หรือที่ย่อมาจาก Digital Audio Player นั่นเอ๊งๆๆ
บทนำ :
"ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์"
(พระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6)
จริงยิ่งกว่าจริง! คนเกลียดและไม่ฟังเพลงอะไรเลยในชีวิตผมยังไม่เคยเห็นตัวเป็นๆซักที ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว เพราะคนกับดนตรีมันแยกออกจากกันไม่ได้ มนุษย์ยุคหินอาจจะหยิบใบไม้มาผิวผ่านด้วยลมปากกลายเป็นเสียงโน๊ตดนตรี พอคนฉลาดขึ้น หัดยืนด้วยสองขาได้ดีขึ้น และคิดคดโกงมากขึ้น ก็หาวิธีไปล่าถลกเอาหนังสัตว์มาขึง เอากระบอกไม้มาลองเจาะรู และทำยังไงก็ได้ให้เกิดเสียงสูงเสียงต่ำ แล้วคนบนโลกก็พัฒนาการฟังเพลง ตั้งแต่มนุษย์ยังนุ่งใบไม้จนมาสวมกางเกงชั้นในตัวละหลายร้อยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดนตรีและบทเพลงถูกเขียนและเล่น และคนก็คิดค้นเอาอะไรก็ได้ทำให้มันมีเสียงและเก็บเพลงที่อุตส่าห์เขียนมาฟังซ้ำได้อีก นั่นคือจุดกำเนิดของเครื่องเล่นเพลงอย่างที่เราๆท่านๆในปัจจุบันได้มีใช้กันนั่นเอง ยุคก่อนเราเคยมีเครื่องเล่นเพลงพกพาแบบเทปคาสเซ็ทท์ ยุคถัดมาอาจจะเป็นจานบันทึกขนาดเล็กหรือที่เรียกว่าซีดีคอมแพคดิสต์ โลกพัฒนาไม่หยุดยั้ง จนเข้าสู่ยุคการจัดเก็บเพลงถูกเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการใส่ฮาร์ดดิสขนาดเล็กกว่าฝ่ามือ จนปัจจุบันเค้ายัดเพลงลงหน่วยความจำที่เล็กกว่าปลายก้อยแทน!
เอ...ผมว่าเลิกเขียนกลางคันน่าจะดีกว่า เพราะดูท่าทางแล้วอาจจะไร้สาระและเวิ่นเว้อจนคนส่วนใหญ่รับไม่ได้ เอาแบบนี้ครับ ท่านใดขี้เกียจอ่าน ให้เลื่อนไปย่อหน้าสุดท้ายได้เลย แต่ถ้าใครไม่อยากโดยปรามาสว่าเป็นหนึ่งในคนไทยที่อ่านหนังสือเพียงปีละ 8 บันทัด ขอให้ท่านจงรวบรวมสมาธิและนั่งอ่านไปเรื่อยๆก็ดีครับ 555
วิวัฒนาการของเครื่องเล่น :
วิวัฒนาการเครื่องเล่นเพลงยุคใหม่หรือยุคดิจิตอลเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา หากจะบอกว่ามียักษ์อยู่ 2 ตน ถือตะบองคนละอัน ยืนคุมเชิงคอยกวัดแกว่งตะบองเข้าหากัน ต่างฝ่ายต่างจ้องตาไม่กระพริบ และหาทางคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเอาตะบองตีกบาลไอ้ยักษ์ตัวที่ยืนตรงข้ามให้สลบได้ ซึ่งแน่นอนว่ายักษ์ที่กัดลูกแอปเปิ้ลแหว่งดูแล้วขึงขังน่ากลัว เงื้อตะบองแต่ละทีเล่นเอาเหล่ากองเชียร์สูดปากฮือฮา ส่วนยักษ์อีกตัวต้องถือว่าเป็นยักษ์จอมอึด โดนไม่มียุบ ไม่มีท้อ เดินหน้าสู้ ซึ่งก็คือยักษ์จากแคว้นโสมขาวหรือเกาหลีใต้นั่นเอง...
ใช่แล้วครับ ยักษ์จากแดนโสมขาวที่ผมเล่าไปคร่าวๆก็คือบริษัท Iriver นั่นเอง Iriver คือบริษัทที่ก่อกำเนิดในปี 1999 ผลิตคิดค้นและอยู่ในอุตสาหกรรมดิจิตัล ผลิตและวิจัยสินค้ากลุ่มมัลติมีเดีย ทำ device ที่ทันสมัย ผลิตสื่อบันทึกดิจิตอลและกลุ่มแก็ดเจ็ทไฮเทคต่างๆ หากยังจำได้ แบรนด์ iriver ออกสินค้าที่คุณภาพดี และเป็นอีกทางเลือกใหญ่ทางหนึ่งของนักเล่นนักฟังเพลงชาวไทยเลยก็ว่าได้ ยุค 10 ปีก่อน ใครไม่มีเครื่องเล่นสีแดงๆ ทรงสามเหลี่ยมห้อยเอวได้ ถือว่าโคตรเชย ซึ่งก็คือเครื่องเล่น Iriver T10 นั่นเอง
ยุคที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า Apple มีอิทธิพลต่อนักฟังเพลงชาวไทยมากกว่าใคร มีการเปลี่ยนรุ่น หน้าตา เพิ่มขนาดความจุอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วจู่ๆก็เหมือนก้อนอิฐมอญก้อนโตหล่นใส่ศีรษะนักฟังทั่วโลก Apple หยุดพัฒนาเครื่องเล่นเพลงพกพาไปดื้อๆ โดยไปมุ่งหน้าทำตลาดสมาร์ทโฟนที่ฟังเพลงได้เป็นของแถม ซึ่งไม่ต้องเดาให้เมื่อยก้นกบ ตลาดมือถือนั้นขนาดใหญ่กว่าตลาดคนฟังเพลงแบบเอาจริงมหาศาลนัก คนทั่วไปฟังเพลงผ่านมือถือก็ร้องโอเคกันแล้ว แต่นักเพลงตัวจริงอย่างพวกเราล่ะจะเดินต่อไปกันอีท่าไหน ??
บริษัท Iriver มองเห็นชัดเจนว่าทิศทางของบริษัทควรเป็นอย่างไร และก็แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งมัน เพราะว่า iriver เลือกที่จะเดินต่อ และเดินต่อในทิศทางที่ถือว่าเลือกทิศกันเลย Iriver เลือกที่จะค้นคว้าและผลิตสินค้าสำหรับนักฟังเพลงโดยเฉพาะ และเป็นเฉพาะที่แบบเอาจริงเอาจังให้มันรู้ดำรู้แดงกันไปข้าง Iriver จดทะเบียนแบรนด์ใหม่ในนามว่า Astell&Kern เพื่อมิให้คนสับสนกับภาพลักษณ์ของ Iriver เดิมที่ผลิตสินค้าหลายอย่าง พูดง่ายๆไม่ต้องงง สร้างแบรนด์ Astell&Kern กันชัดๆ เพื่อขายเครื่องเล่นเพลงพกพาไฮเอนด์อย่างเดียวพอ !
เป็นไงกันบ้างครับ พอรู้ความเป็นไปเป็นมาคร่าวๆของ Astell&Kern กันแล้วใช่ไม๊ครับ 555 ของพรรค์นี้ต้องรู้ Story บ้างเล็กๆน้อยๆ เพราะไม่งั้นเราอาจเข้าไม่ถึง หรือไม่อินกับโปรดักท์ จะว่าไป Astell&Kern ก็คือบริษัทที่ทำเฉพาะเพลย์เยอร์ และทำมาจนป่านนี้น่าจะราวๆ 4 ปี และถือว่าเติบโตเร็วมาก มีพาร์ทเนอร์ต่างแบรนด์เยอะมาก มีมาร์เก็ตติ้งและคอนเซปท์ที่ยิงแล้วโดนใจนักเล่นทั่วโลก และผมว่าการมุ่งมั่นเพื่อเป็น Specialist ของวงการไปเลย ดีกว่าจับนู่นทำนี่หลายอย่างแต่ไม่ได้เรื่องซักกะอย่างเหมือนผม 555
ความเป็นมาของ Astell&Kern :
Astell&Kern เปิดตัวเมื่อปี 2012 เป็นบริษัทในเครือของ Iriver ตั้งอยู่ในกรุงโซล เกาหลีใต้ เช่นเดียวกับ iriver ผมกำลังสงสัยว่า ทาง Astell&kern เองอาจจะไม่รู้ประวัติตัวเองเหมือนกับที่ผมเขียนให้ท่านอ่านกันก็เป็นได้ 555 สินค้า Astell&Kern นั้นผลิตในเกาหลี หรือ made in Korea ซึ่งปัจจุบันต้องถือว่าเป็นประเทศที่ไฮเทคที่สุดอีกประเทศหนึ่งในเอเซีย หรือแถวหน้าของระดับโลก และตั้งแต่เปิดตัวในปี 2012 Astell&Kern ก็เดินหน้าสอยรางวัลดาวรุ่งจากเวที CES ติดกันทุกปี รวมถึงรางวัลการดีไซน์ออกแบบยอดเยี่ยมจาก Red Dot Award
Astell&Kern รับอารยะธรรมต่อจาก iriver มาตรงๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด วิธีการ ความง่ายในการเข้าถึงและใช้งาน ถือเป็นอีกค่ายของโลกที่พยายามทำทุกอย่างให้ง่ายดาย ไม่ยุ่งยาก ตั้งแต่การจัดเก็บไฟล์ลงเครื่องในยุค MP3 ที่เพลงนึงใหญ่ไม่เกิน 1 MB จนมาถึงยุคของการฟังเพลงจากไฟล์ DSD ในปัจจุบันที่ขนาดอัลบั้มเกินกว่า 1GB ไปแล้ว แต่ Astell&Kern ก็ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อนักฟังระดับออดิโอไฟล์ ซึ่งคู่แข่งอย่างแอปเปิ้ลโบกมือลาบ๋ายบายทิ้งตลาดนักฟังเพลงที่เอาจริงไปนานแล้ว
เอ้า เวิ่นเว้อยืดยาดมานาน เข้าเรื่องกันเลยครับ 555 ของที่นำมาเขียนเล่าถึงวันนี้ก็คือเครื่องเล่นเพลงพกพาตัวล่าสุดจาก Astell & Kern ครับ ซึ่ง Astell&Kern ออกผลิตภัณฑ์ก่อนหน้านี้มาหลายต่อหลายรุ่นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Astell&Kern AK100, AK120, AK240, 320 และเรือธงของค่ายนั่นก็คือ AK380 และล่าสุดที่ออกมาแบบสดๆร้อนๆ กำลังน่ากิน นั่นก็คือ
Astell&Kern AK300 !!!
Enjoy The Music !!!
ทำไมเลือกเขียนตัวนี้ :
เหตุที่เขียนตัวนี้ก็เพราะตัวนี้เพิ่งออก... ตอบแบบนี้ง่ายเกินไปและเผลอๆผมอาจจะเบิร์ทกะโหลกเอาได้ แต่เหตุที่ผมเลือกหยิบมาเขียนถึงก็เพราะมันมีความลงตัวหลายอย่างใน AK300 ตัวนี้ ที่ผ่านมาในเครื่องเล่นตัวเรือธงอย่าง AK380 ผมแทบจะไม่เขียนถึงเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าสินค้าตัวท็อประดับแสนกว่านั้น บอกตามตรงคนซื้อทราบทุกอย่างดีกว่าคนขาย ไม่ว่าจะเป็นสเปค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียง เรื่องการแมทชชิ่งกับหูฟัง ผมว่าท่านที่เล่นตัวเรือธงระดับแล้วนั้น อาจจะเกลียดขี้หน้าคนที่พยายามชี้นำ ผมก็เลยเงียบซะ 555
ส่วนรุ่นอื่นๆผมเองก็เงื้อง่าว่าจะเขียนแล้วเขียนอีก แต่ก็อย่างที่ทราบครับ รุ่นอื่นๆไม่ว่าจะเป็น AK240 หรือ AK380 ราคาเกินแสนและต่ำแสนไม่มาก มันเป็นอะไรที่ไกลเกินฝันของนักเล่นกลุ่มใหญ่ (รวมผมเข้าไปด้วยเหอะ) แต่พอทราบข่าวว่า Astell&Kern จะออกสินค้าในช่วง 3x,xxx++ โดยที่ใช้ชิปตัวเดียวกับรุ่นเรือธง งานวัสดุและฟินนิชชิ่งที่ทัดเทียมกัน อินเตอร์เฟชที่คลานตามกันมาเหมือนพี่น้องท้องเดียว และสำคัญดันให้ซาวด์ซิกเนเจอร์ที่ละม้ายกับตัวพี่คนโต เป็นไงครับ น่าเขียนถึง และน่ารออ่านแล้วใช่ไหม?
ทำความรู้จัก AK300 กันก่อน :
หลายท่านอาจจะรู้แล้วว่าไอ้ที่ผมเขียนอยู่ตรงหน้าคืออะไร แต่สำหรับท่านที่เพิ่งมาอ่านเจอ หรือเพิ่งสนใจของเล่นประเภทนี้ หรือเป็นมือใหม่สุดๆ หรือจะโดยเหตุผลอะไรก็ช่างหัวท่าน 555 เจ้าเครื่องขนาดวางในฝ่ามือตัวนี้คือเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา เล่นเพลงและใช้หูฟังในการฟัง แต่เป็นเครื่องเล่นพกพาที่ผลิตแบบทะลุขีดความสามารถของเครื่องฟังเพลงเมื่อ 10-20 ปีก่อนไปไกลหลายกิโล ท่านสามารถฟังเพลงที่มีความละเอียดสูงสุดเท่าที่เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันจะไปถึง ท่านสามารถสัมผัสรายละเอียดของเสียงที่เกิดมาไม่เคยได้ยินจากที่ไหนมาก่อน
ความสามารถต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดถูกบรรจงยัดลงมาในเครื่องเล่นประเภทนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วสมาร์ทโฟนทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หรือ ต้องบอกว่าทำไม่ได้ครับ พวกโทรศัพท์อาจจะได้เปรียบในความสามารถรอบด้าน ดูหนังฟังเพลง ใช้โทร ใช้ถ่ายรูป แต่เมื่อวัดขีดความสามารถเฉพาะในด้านการฟังเพลง เครื่องเล่นประเภทนี้ถูกผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์ของนักเพลงตัวจริงมากกว่า มันไม่ต้องออกแบบประนีประนอมเอาใจเพื่อถนอมฟังก์ชั่นเหมือนมือถือ แต่ทุกอย่างถูกทุ่มลงไปเพื่อการฟังเพลงอย่างเดียวเท่านั้น
เครื่องเล่นเพลงย่อส่วนเหล่านี้ ยังถูกออกแบบเพื่อให้เล่นร่วมกับอุปกรณ์ภายนอกอีกมากครับ ไม่ใช่ว่าเอามาตะบี้ตะบันฟังเพลงจากหูฟัง แต่มันถูกออกแบบให้สามารถเล่นร่วมกับแอมป์ขยายเสียงและลำโพงภายนอก หรือจะเล่นง่ายๆผ่านช่องทางบลูทูธก็ได้ผลลัพท์ที่ดีกว่าการส่งผ่านเพลงจากโทรศัพท์ทั่วไป ถึงตอนนี้ทุกท่านน่าจะพอรู้จักเจ้าเครื่องเล่นประเภทนี้กันไม่มากก็น้อย ถ้าท่านอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ เห็นทีผมคงต้องเอาหัวโขกกำแพงตึก โทษฐานอธิบายไม่ดีพอจนทำให้ไม่เข้าใจ!!
รูปลักษณ์ภายนอก :
Astell&Kern AK300 ซึ่งจากบันทัดนี้ผมจะขอเรียกว่า AK300 นะครับ(ขี้เกียจพิมพ์ยาวๆ 55) เจ้า AK300 มาในมิติขนาด กว้าง 75.15 มม. ยาว x 112.4 มม. และหนา 15.45 มม. ถือว่าเป็นเครื่องเล่นรูปร่างสันทัด มาตรฐานชายไทย วางในฝ่ามือได้พอดิบพอดี ความละเอียดระดับ WVGA (480 x 800 พิกเซล) แบบ LED ที่มีความคมชัดสูง ซึ่งความละเอียดขนาดนี้ถือว่าเกินพอสำหรับการดูปกอัลบั้มเพลง หรือคมชัดมากที่จะอ่านตัวอักษรต่างๆที่แทรกอยู่ในเมนู คือท่านไม่ต้องกลัวว่าตาจะเหล่หรือเป็นต้อกระจกจากการมองจอนานๆ แถม AK300 ยังเป็นจอระบบ Touch Screen ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย และสะดวกสุดๆว่างั้น
ตัวเครื่องทำจากอลูมิเนียมเกรดสูง แบบยกมาทั้งก้อนตันๆ และนำมาผ่านกระบวนการกลึงแบบ CNC หรือเรียกแบบเต็มยศก็คือ Computer Numerical Control หรือการกลึงด้วยเครื่องความละเอียดสั่งงานด้วยคอมพิวเตอร์แบบเชิงตัวเลข ซึ่งหลายท่านอาจจะบอกว่าเดี๋ยวนี้ใครๆเค้าก็ใช้เครื่อง CNC กันทั้งเมือง ผมอยากจะบอกว่าจริงครับ มีกันแทบจะทุกตรอกแล้ว แต่สิ่งที่ต่างกันคือความแม่นยำต่างหากครับ งานฟินิชชิ่งนั้นเรียบร้อย สันเป็นสัน ขอบเป็นขอบ ไม่มีคำว่าฝรั่งทำเกินหรือมีส่วนไหนของเคสเกิดอาการ"เขยิน" หรือไม่สนิท หรือเกิดตามด (หลุมเล็กมากๆที่เกิดบนผิว) ทำให้ขาดความเนียน เรียบ
หลังจากนั้นก็เอามาผ่านกระบวนการอโนไดซ์เป็นสีดำอีกครั้ง ซึ่งการทำ Anodizing นั้นเป็นขั้นตอนการทำสีโดยใช้ไฟฟ้าในการชุบ ซึ่งต้องอาศัยอลูมิเนียมเกรดดีๆ และคุณภาพสีที่ใช้ เพื่อให้สีอยู่ติดเป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านการชุบเคลือบผิวและสีเรียบเท่ากันสม่ำเสมอทั้งตัวเครื่อง ซึ่งงาน Finishing ของ Astell&Kern นั้นทำได้ยอดเยี่ยม สมเป็นแบรนด์เครื่องเล่นระดับ Premium จริงๆ และบางท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าตัวเคสอลูมิเนียมผ่านการชุบผิวที่ดี นั้นสามารถกันคลื่นรบกวน RF (Radio Frequency) ที่ล่องลอยในอากาศ ไม่ให้ลอดเข้าไปไต่ตอมทำให้เกิดการบั่นทอนคุณภาพเสียง โอว แม่เจ้า..
แต่ถ้าในส่วนตัว เวลาผมหยิบจับเจ้า AK300 เหมือนจะมีอาการประหม่าลึกๆ หวั่นใจเล็กๆ เนื่องจากขอบสันเหมือนจะเรียบจนคม ทำให้มือที่ดูแล้วคล้ายผู้ดีตกยากอย่างผมรู้สึกว่ามันเป็นเหลี่ยมจนเกินไป อีกอย่างผมว่ามันอาจจะเป็นสิ่งเทียมอาวุธเมื่ออยู่ในมือภรรยาได้ครับ (หนัก 205 กรัม) คือถ้ากำเจ้า AK300 ในมือแล้วกระแทกเข้ากลางหน้าผากหรือกลางศีรษะของผมอย่างจัง ขี้หมูขี้หมาก็เย็บ 3 เข็ม แต่อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานเชิงอารมณ์ขัน ซึ่งท่านที่อยากหยิบจับให้ถนัดมือ ทางผู้ผลิตเค้าทำเคสหนังแท้อย่างดีเพื่อความละมุนมือมาขายท่านอีกด้วย
มาถึงพวกปุ่มต่างๆ อันนี้ผมคงไม่มานั่งอธิบายปุ่มให้ท่านฟังทีละปุ่ม เพราะเหมือนการเอามะพร้าวมาขายสวนเปล่าๆ แต่จะเล่าเป็นแบบเชิงใช้งานและฟิลลิ่งต่างๆจากการสัมผัสจะดีกว่า พวกปุ่มเล็กปุ่มน้อยที่ติดอยู่บนเครื่อง AK300 ทำได้ดีเหมือนรุ่นใหญ่ราคาแสนกว่า คือปุ่มกดแล้วคืนตัวทันที เวลาเขย่าเครื่องไม่มีอาการคลอนหรือสั่นคล่อกแคล่กของปุ่มให้หงุดหงิด อีกปุ่มที่สำคัญแต่แอบทำให้ผมแปลกใจเล็กน้อยก็คือปุ่มกลมขนาดใหญ่ที่ทำเป็นแป้นหมุนขึ้นหมุนลง นั่นก็คือปุ่มโวลุ่มคอนโทรลระดับความดังของเสียง
คือปุ่มโวลุ่มในตัว AK380 นั้น ถูกออกแบบวางอยู่ด้านข้าง ผมเคยรู้สึกว่ามันลงตัวดีมาก แต่สิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนก็คือเรื่องความถนัดในการใช้งาน คือจริงๆแล้วมันมีมายังไงเราก็ใช้งานไปอย่างนั้น แต่พอเห็นเจ้า AK300 แว่บแรก ใจยังนึกว่าทำไมไม่ทำปุ่มโวลุ่มแบบเดียวกับ AK380 จนเมื่อหยิบมันมาอยู่ในฝ่ามือ แล้วลองคอนโทรลด้วยมือข้างเดียว นิ้วทั้งสี่อุ้มช้อนตัวเครื่องไว้ในฝ่ามือ ส่วนนิ้วโป้งขวาใช้หมุนแป็นโวลุ่มที่อยู่ด้านหลัง อ้าวเฮ้ย!! มันคล่องตัวและเวิร์คกว่า AK380 จริงๆ อานิสสงค์จากขนาดที่เล็ก และบางจนวางในมือแล้วพอดีเป๊ะ
ด้านข้างมีพอร์ท micro USB ให้ใช้เสียบชาร์ตไฟหรือเป็นช่องโอนถ่ายไฟล์เพลง ซึ่งถ้าเราเสียบเจ้า AK300 เข้ากับคอม มันจะเจอทั้งเมมในตัวเครื่องเอง และ Micro SD ที่เราใส่เพิ่มเข้าไปด้วย สามารถเลือกเอาเพลงใส่แยกกันได้อย่างอิสระ และการใช้ช่องชาร์ทแบบ Micro USB เป็นข้อดีของอุปกรณ์ที่ใช้พอร์ทแบบมาตรฐาน คือเวลาไปไหนมาไหนเกิดอยากจะชาร์ตไฟก็ไม่ขาดแคลน จะหยิบจะยืมใครก็ง่าย เดินเข้าร้านกาแฟแบมือขอยืมใครใครก็เห็นใจให้ยืม เพราะว่าความเป็นสากลระบบเปิดนั่นไง และยังมีช่องเล็กๆให้เสียบหน่วยความจำ micro SD ซึ่งยัดเข้าไปได้ถึง 128GB และเจ้าเครื่อง AK300 ถือว่าเป็นเครื่องเล่นสมองดีเหมือนกินใบแปะก้วย จำเก่ง จำได้มาก เพราะในตัวมันเองมีหน่วยความจำมาให้ถึง 64GB สิริรวมแบบเต็มแม็คก็เป็น 192 GB เหลือเฟือจริงๆ
เมื่อกี๊พูดถึงบริเวณส่วนลำตัวไปแล้ว คราวนี้มาพูดถึงส่วนหัวกันมั่ง เจ้า AK300 มีปุ่มปิดเปิดง่ายๆ อยู่มุมขวาหันหน้าเข้าตัว และบนหัวยังมีรูสำหรับเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 3.5 มม. ที่สามารถเสียบหูฟังใช้งาน, เป็นช่องต่อ Line Out และมี Digital Optic Out (Auto Detect) สำหรับเอาไปใช้กับ DAC ภายนอกได้ด้วย ส่วนอีกช่องข้างๆกันคือช่องขนาด 2.5 มม.(Balanced) ซึ่งเจ้าช่องต่อหูฟังระบบบาลานซ์ ก็คือช่องที่ออกแบบวงจรภาคขยายแบบบาลานซ์ ซึ่งให้ความเที่ยงตรง และกำลังที่ฟังแล้วดีกว่าช่อง 3.5 มม. อันนี้เดี๋ยวมาว่ากันต่อในบทต่อไปนะครับ
สรรพสิ่งที่อยู่ภายใน :
มาถึงของกินยากสำหรับผมแล้ว เอาเป็นว่าเล่าแบบคนเล่นตาดำๆธรรมดาคนหนึ่งจะเล่าได้ก็แล้วกันครับ 555 เจ้า AK300 นั้นถูกออกแบบมาให้ใช้ชิปแดค AKM AK4490 x1 (ชิปแดคตัวเดียว) ซึ่งเป็นชิปแดคระดับท็อปของค่าย AKM เบอร์เดียวกับรุ่นเรือธงอย่าง AK380 แต่ขาใหญ่เค้าใช้ชิปแดคแบบคู่ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นดีใจสำหรับรุ่นเล็กอย่าง AK300 ครับ เพราะเที่ยวนี้ Astell&Kern วางกลยุทธหมายถล่มตลาด DAP ระดับต่ำกว่า $1000 ให้กระจาย ด้วยการวางตัวสินค้ารุ่นเล็กแต่ให้ใช้เครื่องในเหมือนรุ่นใหญ่ และแน่นอนว่าคาแล็คเตอร์เสียงคงต้องถอดแบบตามมาเช่นกัน
AK300 ออกแบบเอาท์พุทที่มีความแรงถึง 1.98Vrms ทั้งช่อง 3.5 มม. และช่อง 2.5 มม. ช่วยให้มี Voltage Dynamic Swing มาก รองรับหูฟังได้หลายชนิด ซึ่งเทียบสเปคกับขาใหญ่อย่าง AK380 แล้ว ถือว่าทำได้ใกล้ๆโดยต่างกันเพียงเล็กน้อยแล้วครับ และภายในยังยัด Wifi 802.11 b/g/n (2.4GHz) มาให้ท่านใช้งานอีก (Wifi ใช้สำหรับการอัพเดทเฟิร์มเเวร์ กับ AK connect แบบเชื่อมต่อผ่าน DLNA ใช้งานในวง Wifi จาก router ตัวเดียวกันเท่านั้นครับ) หนำซ้ำแถมช่องบลูทูธ V4.0 (A2DP, AVRCP, aptX) ให้ท่านเล่นแก้เซ็งอีกด้วย และยังรองรับท่านที่ใช้วินโดว์หรือแมคอีกด้วยเช่นกันตัดปัญหาเรื่องคอมไปอีกเรื่อง และมาพร้อมกับแบตเตอรี่ ขนาด 3,100mAh 3.7V แบบลิเธี่ยมโพลีเมอร์ ฟังกันยาวๆสบายๆไม่ต้องเสียวแบตหมด
สิ่งที่เป็นจุดขายอีกจุดของเครื่องเคราในตัว AK300 นั่นก็คือการที่เลือกใช้ Clock ระดับ 200 Femto second ครับ Clock ก็คือนาฬิกาเวลาของดิจิตอลนั่นเอง นาฬิกาที่ดีคือต้องเที่ยงตรง ยิ่งกำหนดเวลาได้ตรงเท่าไหร่ พวกความเพี้ยนหรือความผิดพลาดหรือ Jitter ยิ่งน้อยถึงน้อยมากยิ่งดี เอาเป็นว่า Femto second นั้นเค้าวัดหน่วยกันละเอียดระดับ เศษ 1 ส่วนพันไทรเลี่ยน (trillion) หรือ 1/1000 ล้านล้านล้าน ซึ่งเจ้า Femto Clock นี้นอกจากจะไปยัดในรุ่นพี่อย่าง AK380 แล้ว เจ้า Femto ยังถูกเลือกใช้ใน dac ระดับไฮเอนด์หลักหลายแสนนู่น ซึ่งที่ Astell&Kern เลือกใช้ Clock คุณภาพดีขนาดนี้ เพราะมันมีความสำคัญมากๆในการฟังเพลงระบบดิจิตอล เพราะถ้า Clock นั้นปล่อยสัญญาณออกไปช้าไป เร็วไป หรือไม่เที่ยงตรง ข้อมูลที่ส่งไปยังชุด DAC ถอดรหัสย่อมมีความผิดพลาด และส่งผลถึงเสียงที่ออกมาทำให้ Timing ของดนตรีผิดเพี้ยนจากต้นฉบับได้ครับ
จะบ้าตาย! แก่ป่านนี้ยังต้องมาเรียนวิศวะอีเล็คฯไปพร้อมๆกับท่านด้วย แต่ผมจำเป็นต้องอธิบายให้ง่ายๆและเข้าใจได้กับทุกๆคนนะครับ 555 ส่วนเรื่องอื่นๆที่อยู่ภายในผมจะข้ามๆไปบ้าง เพราะอ่านไปก็ปวดหัวปวดตับเปลืองไขข้อเปล่าๆ ไอ้พวก Frequency Response หรือการตอบสนองความถี่ ที่ทำได้ถึง 10Hz~70kHz และค่าความเพี้ยน THD (เรียกเต็มยศว่า Total Harmonic Distortion) ต่ำๆระดับ 0.0008% @ 1kHz ซึ่งสเปคต่างๆเหล่านี้อ่านแล้วเคลิบเคลิ้ม เพราะมันแทบจะเป็นสเปคของเทพเจ้าหรือเทวดาเดินบนก้อนเมฆไปแล้วครับ เอาเป็นว่าผมอนุมานให้ทุกท่านเข้าใจง่ายๆ ว่าสเปคของเครื่อง AK300 นั้น ถูกเทสโดยแลปมาตรฐาน คะแนนออกมาแบบเกรด 4 เต็มทุกตัวก็แล้วกัน
เล่นไฟล์อะไรได้บ้าง :
เจ้า AK300 รองรับการเล่นไฟล์ได้มากมายและครอบคลุมมาก ทั้งไฟล์ WAV, FLAC, WMA, MP3, OGG, APE(Normal, High, Fast), AAC, ALAC, AIFF, DFF, DSF ยกเว้นไฟล์หนัง AV และไฟล์ ISO (image file) หรือไฟล์ที่คัดลอกจาก SACD มาทั้งดุ้น อันนี้ต้องมาแตกไฟล์ก่อนจะยัดลงเครื่องครับ นอกนั้นไม่ว่าไฟล์อะไรก็เล่นได้แบบครอบจักรยานเสือภูเขา เล่นไฟล์ไฮเรสที่ 24/192 และรองรับ DSD64 (1bit 2.8MHz) และ DSD128(1bit 5.6MHz) ซึ่งท่านที่มีไฟล์อะไรเก็บไว้อยู่ เจ้า AK300 น่าจะรับมือได้แบบครอบคลุมทั่วถึงแล้วครับ ซึ่งสเปคเกินความจริงไปกว่านี้ ผมคาดว่าทุกท่านคงไม่มีโอกาสใช้งาน เนื่องจากหาไฟล์ไม่ได้นั่นเอง..
มาเล่นกันเลยดีกว่า :
ใครซื้อมาแล้วก็ค่อยๆบรรจงแกะกันหน่อย ตัวแพคเกจถือว่าออกแบบมาแบบเคร่งขรึม ดำทะมึน แมนมาแต่ไกล พอแง้มออกดูก็พบว่ามันนอนยิ้มรออยู่แล้ว สีที่เลือกมาใช้ใน AK300 ก็คือสี Metal (จริงๆมันทำจากอลูมิเนียมนะ) หยิบขึ้นมาก็ไม่มีอะไรมากครับ อย่าเผลอทำหล่นใส่หัวแม่เท้าก็แล้วกัน เพราะน้ำหนักตัวเครื่องถือว่าได้เรื่องอยู่ ปัจจุบันคนเล่นเพลย์เยอร์จริงๆ กลับรู้สึกชื่นชอบกับอะไรที่มันบึกบึน แข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเป็นตัวบ่งบอกความพรีเมี่ยมของวัสดุ หยิบขึ้นมากระชับมือดี แต่สำหรับผมแอบรู้สึกว่าคมไปนิดๆ แต่ไม่ใช่นัยยะสำคัญเท่าไหร่
มาถึงก็จิ้มสาย Micro USB เสียบเข้าเลยครับ จะลงเพลงหรือจะชาร์ตแบตก็เลือกเอาจากหน้าจอเลยครับ ทุกอย่างเข้าใจง่าย หน้าจอของ AK300 เป็นจอแนวทัชสกรีนเหมือนรุ่นพี่อย่าง AK380 คือชัดเท่าๆกัน เมนูใช้งานเหมือนกันทุกอย่าง การเข้าถึงเมนู ไม่ว่าจะเลือกอะไร ผมว่า Astell&Kern ทำออกมาใช้งานง่ายพอสมควรครับ ผมใช้เกณฑ์ตัวเองเป็นเครื่องชี้วัดความยากง่าย ถ้าเครื่องไหนมาถึงมือผมปุ๊บ แล้วผมสามารถเปิดเพลงฟังได้เลยในเวลา 5 นาที ถือว่าใช้ง่าย แต่ถ้าเกินกว่า 1 วัน ถือว่าโง่อย่างผมหมดสิทธิ์ใช้งานเครื่องนั้นๆแล้วครับ
ระบบทัชสกรีนเป็นไงมั่ง ลื่นไม๊ ลื่นแบบเหยียบสบู่ไม๊ ตอบว่าไม่ถึงขั้นนั้นถ้าเอาไปเทียบกับสมาร์ทโฟนชั้นดี คือต้องทำความเข้าใจว่าการเอาพวก DAP ไปเทียบกับสมาร์ทโฟนในเรื่องความลื่นไหลของระบบทัชสกรีนนั้น คนเล่นจะไม่ทำกัน เพราะทราบกันดีกว่าความแรงของซีพียูนั้นต่างกัน แต่ถ้าเทียบกับมิวสิคเพลย์เยอร์ด้วยกัน ถือว่า Astell&Kern ทำได้แบบโฆษณาขายน้ำมันเครื่องยี่ห้อหนึ่งที่ว่า "ลื่นเหลือล้น ทนเหลือหลาย" ครับ คือเวลาเอานิ้วแตะตรงๆ จะรู้สึกว่าเราสั่งการมันได้ทันที อาจจะมีแอบหน่วงนิดๆ แต่ถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเพลย์เยอร์ทุกคลาสในตลาด
แล้วก็ยัดเพลงเข้าไปในเครื่องเลยครับ ท่านมีเพลงอะไรก็ยัดลงไป จะยืมมาขอมาหรือซื้อมาก็ยัดลงไป ความจำในเครื่องถือว่าให้มาแบบเยอะมากพอสมควร แถมยังเพิ่มด้วย Micro SD card จากภายนอกได้อีก อันนี้ถือว่าเพียงพอสำหรับปุถุชนทั่วไปแล้วครับ ใครที่มีไฟล์เพลงแค่ 320kpbs ถือว่าฟังจนตายแล้วไปเกิดใหม่ 3 รอบก็ยังไม่หมด ส่วนใครที่ฟังพวกไฟล์ไฮเรส หรือ DSD ก็ถือว่าเหลือๆแล้วครับ เรียกว่าลงกันได้ระดับหลายสิบอัลบั้ม หลังจากทำการลงเพลงเสร็จแล้ว ขอให้ตั้งนะโม 3 จบ แล้วเลือกไปที่การชาร์ตแบต เติมน้ำมันให้เต็มถังแล้วเตรียมออกลุยกันเลยครับท่าน !!
ทดลองฟังกับหูฟังต่างๆ :
ตอนที่ทดสอบฟังเจ้า AK300 สิ่งที่ผมคิดในใจว่าควรทำก็คือ ลองเอาหูฟังที่ต่างประเภท และต่างเรื่องราคามาเป็นตัวร่วมทดสอบดีกว่า ผมเลือกหยิบเอา Audeze Sine มา 1 ตัว Noble Kaiser 10 Universal อีกตัว, และหยิบหูฟังที่คาดว่าน่าจะพอขับได้ไม่ยากอย่าง Hifiman Edition X รวมถึงหูฟัง JH Audio Rosie หูฟัง 4 ตัวนี้ผมไม่ได้ใช้ประจำ แต่หยิบติดมือมาทดสองเฉยๆ ส่วนอีก 3 ตัว เป็นหูสามัญประจำบ้านของผมเอง นั่นก็คือ Dita Truth Edition อีกตัวที่พลาดไม่ได้ก็คือ Hifiman RE400 และขุนศึกคู่บารมีตระกูลมั่นคงตัวสุดท้ายก็คือ Grado HF2 นั่นเองครับ
จะเห็นว่าเป็นหูฟังแบบ Fullsize ไปซะ 2 ตัว แล้วเป็น Onear ไป 1 ส่วนพวก inear นั้นมีถึง 4 ตัว รวมเป็น 7 ไล่ช่วงราคาก็ตั้งแต่ 6-7 หมื่นลงมาถึงราคา 3000 บาท ซึ่งหูฟังเหล่านี้น่าจะครอบคลุมเรื่องประสิทธิภาพ และระดับราคาที่หลากหลายแล้ว แต่ที่ไม่ต้องหยิบมาเลยก็น่าจะประมาณหูฟัง Fullsize ไฮเอนด์ที่ขับยาก และต้องการกำลังที่เหมาะสมกว่านี้ อันนั้นไม่ต้องหยิบมาให้เมื่อยมือ เพราะ AK300 เค้าไม่ได้ออกแบบมาให้ขับหูฟังเหล่านั้น ซึ่งค่าย Astell&Kern นั้น ออกแบบเพลย์เยอร์มารองรับหูฟังพวก inear และพวก onear ซะมากกว่า
หยิบหูฟัง Audeze Sine มาเสียบที่ช่อง 3.5 มม. ฟังแล้วไม่ถึงกับรู้สึกว่าขับไม่ออก คือฟังเสียงได้ครบถ้วนพอสมควรอยู่ รายละเอียดค่อนข้างครบถ้วน รวมถึงเบสที่ขยับออกมาเป็นลูกต่ำๆ ตัวหู Onear อย่าง Sine นั้นผมเหยียบคันเร่งไปที่ประมาณ 130 (ขีดระดับความดังของ AK300 นั้นมีถึง 150 ระดับ) ถือว่าสอบผ่านได้คะแนนดีครับ แต่ถ้าใครฟังดังจริงๆ หรือเอาไปฟังเพลง Heavy Metal ที่เร็วๆ อาจจะรู้สึกว่ายังดังไม่พอ ผมลองเสียบสลับฟังจากโทรศัพท์ ก็รู้สึกแบบเดียวกัน คือ Audeze Sine เป็นหูฟังเสียงดีที่ต้องการกำลังอีกนิดจะไปไกลได้อีกว่างั้น
ลองเจ้า Grado HF2 หน่อยปะไร เจ้าหูฟังระบบเปิด 32 โอห์มตัวนี้ ผมใช้ฟังเป็นประจำจนทราบอุปนิสัยใจคอมันพอสมควร พอเสียบกับ AK300 ผ่านช่อง 3.5 มม เหยียบคันเร่งไปก่อนเลยที่ 120 ผมแอบดีดนิ้วชมในใจทันที คือรายละเอียดมาครบเหมือนการฟังร่วมกับเซ็ทที่ใช้แอมป์ เอาหน่อยน่าขอแอบมันส์ด้วยการหยิบอัลบั้มที่ร็อคกว่านี้ แล้วแอบเหยียบคันเร่งไปที่ 135 พบว่าดังจนหูแทบแตก มันร็อคได้สะใจในทันที ลองเร่งต่อไปอีก ก็ดังได้อีก แต่เป็นการดังที่หูไม่อยากได้ยินแล้ว สำหรับหูเปิดความไวปานกลางอย่าง Grado ถือว่าโอเคมากสุดๆ
มาหยิบเจ้าหูฟัง Fullsize ที่ทางค่าย Hifiman บอกว่าขับง่ายขึ้นกว่าตัวเรือธงของค่าย นั่นก็คือ Hifiman Edition X นั่นเอง ตัว X นี่เป็นหูฟังระบบ Planar Magnetic ที่ออกแบบมาให้เล่นกันได้ง่ายๆกับ DAP และมือถือ จะว่าไปแล้วพวกระบบ Planar นั้นยังไงก็ขับไม่ใช่ง่ายนักอยู่ดี ผมลองต่อกับ AK300 แล้วเหยียบคันเร่งไปแบบแทบมิดเท้า เข็มไมล์บอกว่าผมทำความเร็วไปที่ระดับ 140 แล้ว ซึ่งผมฟังแล้วบอกว่าเสียงที่ได้ยังดีอยู่ ยัง ยังไม่พอ ผมเหยียบไปจนมิดที่เข็มวัด 150 เจ้า Edition X ดังเต็มที่พอดี เสียงต่างๆครบ เบสลงพื้น เสียงนักร้องถือว่าเปิดโล่ง ฟังได้อารมณ์อยู่ ถามผม บอกได้ว่า Edition X แค่เพียงดังได้พอดี แต่ก็ได้ผลดีอยู่ จะเอากว่านี้การพึ่งแอมป์ AK PAF11 เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
มา มา ชักมันแล้ว หลังจากไล่ฟังพวกตัวใหญ่บักเอ้บทั้งหลายไปหมดแล้ว คราวนี้มาไล่ฟังพวกหูฟังทั่วไปมั่ง ผมหยิบเอา Hifiman RE400 ซึ่งถือว่าเป็นหูฟังดังข้ามภพอีกตัวหนึ่งที่ผมชอบมาก ตัว RE400 นั้นจะว่าไปไม่ใช่หูฟังที่ขับง่ายทีเดียวนัก หยิบเสียบกับ AK300 ฟังด้วยความดังปกติแบบตัวผมฟังเอง ระดับความดังจะอยู่ที่ประมาณ 90-110 ซึ่งพอมาเป็นหูฟัง inear ตัวเล็กๆ ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้กับเพลย์เยอร์แบบเดียวกับ AK300 ตอนนี้ทุกอย่างน่าพอใจ เสียงที่เคยได้ยิน อะไรเคยได้ฟัง มันมาครบๆ ไม่มีอะไรขาด ไม่มีอะไรหาย เจ้ามือรับกินแบบสบายๆ
ขยับมาต่อที่หูฟัง inear ตัวรองๆจากค่าย Astell&Kern ที่ Featuring หรือจะเรียกเท่หน่อยก็คือ Collaboration กับทางค่าย JH Audio ซึ่งหูฟังใน siren series นั้น ผลิตโดย JH Audio ก็จริง แต่ถูกอิงและแมทชิ่งในเชิงเสียงกับเพลย์เยอร์ของค่าย Astell&Kern โดยตรง ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลงเสียบแล้วฟังเลย หูฟัง Rosie เป็นหูขับง่าย ดังได้ดังดี เสียงเบสที่ติดหูขาโจ๋ทั้งหลายถาโถมออกมาแบบเต็มๆ การเร่งโวลุ่มวนอยู่แถว 100 แบบชิลๆ ผมไม่หยิบรุ่นใหญ่อย่าง Layla มาทดลองร่วมกัน ด้วยเหตุที่ไม่อยากให้มันแตกต่างในเรื่องราคามากจนเกินไป อันนั้นไว้ใช้อ้างอิงเวลาเล่นกับตัว AK380 เห็นทีจะเหมาะกว่า
ต่อด้วยหูฟังขับไม่ง่ายอีกตัวอย่าง Dita Truth เจ้าหูผีสิงอย่าง Dita นั้น ผมเคยจับคู่กับ AK380 ไปรอบนึง แต่รอบนี้มาประกบกับ AK300 ในตัว AK380 นั้นให้ output level ที่แรงกว่า AK300 เล็กน้อย แต่พอมาเป็น AK300 สิ่งที่ต่างไปบ้างก็คือการเร่งระดับโวลุ่มให้สูงขึ้นอีกหน่อย สำหรับ AK300 + Dita Truth นั้น คันเร่งถูกเหยียบไปที่ 110-120 ก็ฟังความดังได้ทัดเทียมกันกับ AK380 ที่ระดับความดัง 100 ซึ่งเพลย์เยอร์ของ AK นั้น ระดับความดังที่ปลายๆ ก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพที่ดี ต่างจากเพลย์เยอร์บางตัวที่ระดับความดังตอนปลายแทบหวังฝากผีฝากไข้อะไรไม่ได้เลย
ปิดเกมส์ด้วย Noble Kaiser 10 universal อันนี้ผมถือว่าเป็นตัวแทนของหูฟังในฟากของ CIEM ด้วยเลยก็แล้วกัน เพราะเล่นง่าย ขับด้วยอะไรก็ได้ ถึงจะมี 10 ไดรเวอร์แต่ก็เล่นไม่ได้ยากเย็นอะไร และพวกหูฟังคัสต้อมส่วนใหญ่ของทุกๆแบรนด์ มักจะขับง่ายแบบเดียวกับเจ้า Kaiser 10 นี่แหละ เมื่อเร่งความดังไปที่ระดับ 90 พบว่าฟังได้ดังแบบสบายๆ หรือถ้าอยากจะแอบเติมอีกนิดที่ 100 ผมก็ว่าดังเกินพอ ซึ่งหูฟังกลุ่มใหญ่ที่เล่นร่วมกับเพลย์เยอร์อย่าง AK300 ได้ดีก็จะเป็นหูฟังกลุ่มนี้ครับ คือเป็นหูฟัง IEM-CIEM ตั้งแต่ถูกยันแพงทะลุขั้วตับไฮเอนด์ เล่นไปเหอะ ได้หมด