เอามาจาก Mthai.com นะครับ
http://webboard.mthai.com/7/2007-05-18/322776.html
--------------------------------------------------------------
ผู้ชายคนหนึ่งมาที่โรงพยาบาลด้วยเรื่องปวดหู หลังจากตรวจแล้วก็ได้วินิจฉัยว่าเป็นหูชั้นนอกอักเสบ ผมจึงสั่งยาและแนะนำก่อนจะให้กลับไป หลังจากนั้นหลายวันก็กลับมาใหม่ด้วยเรื่องเดิม เมื่อซักไซ้ไล่เรียงการดูแลรักษาแล้ว ปรากฎว่าชายคนนี้ไม่ได้ทำตามที่แนะนำไป หนำซ้ำยังทำตรงข้ามกับที่ผมแนะนำไปด้วย
เหตุผลของเขาคือ เขาเชื่อว่าสิ่งที่ผมอธิบายนั้นผิด เพราะฟังอย่างไรก็ผิดหลักความจริง
หู เป็นอวัยวะรับเสียงของมนุษย์ แบ่งออกเป็นส่วนหูชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ... ส่วนที่ก่อเรื่องที่ทำให้ปวดหูบ่อยๆก็คือหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ... ซึ่งวันนี้ผมจะพูดถึงเจ้าหูชั้นนอกเป็นหลักครับ เพราะการดูแลปฏิบัติตนที่ผิดวิธี จะทำให้หูชั้นนอกเกิดโรคได้ง่าย
หูชั้นนอก คือส่วนตั้งแต่ใบหูสู่รูหูไปจนกระทั่งถึงเยื่อแก้วหู
ส่วนรูหูนั้น เป็นส่วนที่แตกต่างไปจากผิวหนังส่วนอื่นๆของร่างกาย... กล่าวคือ ผิวหนังส่วนอื่นๆของร่างกาย จะมีเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนังเป็นพวกชั้นไขมัน ในขณะที่ผิวหนังของรูหูนั้นไม่มี ... ถัดจากผิวหนังปุ๊บก็กลายเป็นกระดูกอ่อนหรือกระดูกของหูหรือกระโหลกศีรษะไปเลย
จากความที่มันมีแค่ชั้นผิวหนังบางๆแถมยังเป็น"รู"หู เวลาเกิดการติดเชื้อขึ้นมา จึงทำให้หายยาก และปวดมาก ... และในคราวเคราะห์ร้าย หากมันมีการติดเชื้อลามเข้าสู่กระดูกก็สามารถลามเข้าสู่กระโหลกศีรษะได้โดยง่าย ... (ถัดจากกระโหลกศีรษะเป็นสมองน่ะครับ)
สิ่งที่ป้องกันรูหูมีแค่ไม่กี่อย่าง แต่ที่ทุกคนมีเหมือนๆกันก็คือ ขี้หู
ขี้หูเป็นสารที่ประกอบไปด้วยสารกลุ่มไขมัน สารที่เป็นกรด และ ไลโซไซม์ ซึ่งทำให้มันสามารถกันน้ำและฆ่าเชื้อโรคได้ (แถมยังมีลักษณะที่แมลงไม่ค่อยชอบเดิน)
ส่วนกลไกในการทำความสะอาดรูหูของร่างกายก็มี คือ จะมีการค่อยๆสร้างและผลักเอาเศษขี้ไคลและขี้หูจากกลางแก้วหูแล้วค่อยๆวนออกมาด้านนอก
หูชั้นนอกอักเสบ ... แล้วเกี่ยวอะไรกับการปฏิบัติตน
จากความรู้เบื้องต้นทางสรีระวิทยา เราจะทราบว่าถ้าอยู่ในสภาวะปกติ เป็นไปได้ยากที่หูจะเกิดหูชั้นนอกอักเสบ ซึ่งภาวะที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้ก็มีหลายอย่างแบ่งตามกลไกคือ
- การทำให้ขี้หูเสียความสามารถไปจากความชื้น พบได้ในที่ที่มีความชื้นสูงๆ น้ำเข้าหู การว่ายน้ำบ่อยๆ อยู่ในที่อากาศร้อน(จนเหงื่อออกในหู) ... เมื่อขี้หูเปียกบ่อยๆเข้า มันก็ลดความเป็นกรดและไม่อาจต้านทานแบคทีเรียได้
- โรคที่ทำให้ผิวหนังอักเสบที่ดันมาเกิดในรูหู เช่นคนที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สะเก็ดเงิน สิว ... เมื่อผิวหนังเกิดมีแผลขึ้นมา เชื้อมันก็เข้าได้
- มีอะไรไปแหย่ในหูจนเกิดแผล เช่น การเอานิ้วแคะหู การใส่หูฟัง การใส่ที่อุดหูกันน้ำเข้า การใช้ไม้พันสำลีแคะหู รวมไปถึงการใช้สารเคมีบางอย่างหยอดหู อย่างเช่นแอลกอฮอล์ หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และสารอื่นๆ
- ขี้หูอุดตัน เมื่ออุดตันก็หมักหมมและเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งส่วนมากแล้วขี้หูจะออกมากก็เนื่องมาจากการรบกวนหรือระคายเคือง ซึ่งก็เนื่องมาจากข้อข้างบนอยู่ดี
จริงๆแล้วอ่านมาถึงตรงนี้จะจบเนื้อหาก็ได้ครับ ... ก็แค่ทุกท่านหลีกเลี่ยงข้อข้างต้นนี้ก็จบ ... แต่ผมเขียนต่อดีกว่า
อย่างเรื่องที่ยกตัวอย่าง ชายคนดังกล่าวใช้ไม้พันสำลีแคะหูประจำ พอผมไปบอกว่าหูติดเชื้อให้หยุดการใช้ไม้พันสำลี ... แกกลับเชื่อแค่เรื่องหูติดเชื้อ(ดังนั้นยิ่งต้องทำความสะอาด)ส่วนเรื่องการใช้ไม้พันสำลีนั้นรู้สึกเป็นว่าหมอคนนี้พูดแปลกๆ ใช้ไม้พันก็ต้องสะอาดขึ้นสิ... คราวนี้พอยิ่งใช้ก็เลยยิ่งบวมยิ่งปวดหนักเข้าไปใหญ่
ทำไมห้ามใช้ของไปแคะหู (แล้วทำไมทีไปหาหมอ หมอถึงใช้)
การใช้ของแหย่ปั่นแคะหูนั้น ทำร้ายรูหูได้ โดยเหตุผลต่างๆดังนี้
- ของทุกอย่างที่แข็งพอที่จะแหย่เข้ารูหูได้ แข็งพอที่จะขูดผิวหนังให้เป็นแผลได้ครับ ไม่เว้นแม้แต่ไม้แคะหู หรือสำลี แม้ว่าแผลจะเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตา แต่ใหญ่กว่าเชื้อโรค
- การแคะหู จะไปทำลายขี้หูทำให้รูหูขาดสารป้องกันเชื้อ และยังไปกระตุ้นให้หูสร้างขี้หูเพิ่มขึ้น ... หากคุณปั่นหูหรือแคะเป็นประจำ ขี้หูก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งธรรมชาติของการใช้ไม้พันสำลีปั่นหู สุดท้ายจะไปลงเอยที่อย่างเบาะๆ เกิดการดันขี้หูไปรวมกันจนกลายเป็นขี้หูอุดตัน อย่างหนักๆดันขี้หูทะลุเข้าแก้วหู (ซึ่งหลายคนจะยืนยันว่ากะความยาวไม้พันสำลีดีแล้วว่าไม่เขาแก้วหูแน่ๆ แต่ลืมไปว่าตนเองมองไม่เห็นขี้หูที่อัดแน่นในรู)
ส่วนที่ว่าทำไมทีหมอ หมอถึงใช้ ... หมอจะใช้ก็ในกรณีที่ขี้หูอุดตันหรือเกิดการอักเสบมีเศษเนื้อไปหมักหมมในรูหู การแคะนั้นหมอต้องมองเห็นตลอดการแคะ ต้องระวังการโดนผนังรูหู และทำแค่ครั้งเดียว ไม่ได้ทำทุกวัน
ส่วนใครที่มีปัญหาเรื่องหลังอาบน้ำแล้วน้ำเข้าหู อาจจะใช้ผ้าซับที่ขอบนอกของรูหู หรือเอาไม้พันสำลี"ซับ"แตะๆที่ขอบรูหูครับ
ทำไมห้ามเอาของไปหยอดหู (ทีหมอยังสั่งยาหยอดหูได้เลย)
หลายคนเข้าใจผิดเรื่องยาหยอดหู ... เพื่อนรุ่นเดียวกับผม สมัยปี1 เอาแอลกอฮอล์หยอดหูเนื่องจากมีปัญหาหูอักเสบบ่อยๆจากการว่ายน้ำ ... ผลก็คือ หลังหยอดยิ่งหนักกว่าเดิมเสียอีก
คนไข้บางคน ซื้อน้ำยาบางชนิดมาหยอดหูเป็นประจำโดยจำจากที่ถามหมอว่า "หมอเอาอะไรหยอด" ซึ่งพอไปหยอดประจำแล้วกลับแย่กว่าเดิม ก็เลยกลับมาว่าหมอเสียอีก
ยาหยอดหูนั้น แทบทั้งหมดเป็นการหยอดเพื่อการรักษาครับ หลังจากหายแล้วไม่ควรหยอดเอง ...
พวกแอลกอฮอล์ผสมในน้ำยาหยอดหู จะใช้รักษาในหูของนักว่ายน้ำที่เกิดอาการของโรคบ่อยๆ ... แต่เมื่อหายแล้ว ก็มักจะไม่ใช้ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายชั้นผิวหนัง
พวกไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ผสมน้ำยาหยอดหู ใช้ในบางราย ... (แต่ผมไม่เคยเห็นใครใช้ เคยแต่อ่านเจอเมื่อนานมาแล้ว) การใช้แบบไม่ระวังอาจจะเกิดภาวะแก้วหูทะลุได้ง่ายๆ
การใช้น้ำยาใดๆก็ตามหยอดหูเป็นประจำ จะทำให้ขี้หูเปียก(หรือในกรณีแอลกอฮอล์ ผิวหนังจะเป็นแผล) ขี้หูที่เปียกจะเสียการป้องกันต่อเชื้อไปและทำให้ยิ่งติดเชื้อเกิดการอักเสบได้
ดังนั้น ในการดูแลและป้องกันโรคของหูด้านนอก ... อาจจะกลับกันกับสามัญสำนึกนิดนึงครับ นั่นคือ
"อย่าไปยุ่งกับรูหูเลย ปล่อยมันไว้เฉยๆดีกว่า"