
คติพจน์ของ DITA audio :
“It’s been our dream to find an answer to the truth” Dita
"การค้นหาคำตอบ (Answer) อันนำพาสู่สัจธรรม (Truth) คือความฝันของพวกเรา" - Dita
วันนี้จั่วหัวรีวิวด้วยคติพจน์หรือคำขวัญอันหนึ่ง ที่ผมเองตอนแรกอ่านเจอก็รู้สึกแปลกใจว่า เออหนอ เจ้าคนที่ตั้งคำขวัญหรือคำนิยม หรือจะเรียกคำว่าอะไรก็แล้วแต่ ถ้าลองถึงขั้นกล้าตั้งออกมาได้ขนาดนี้ และแปะหราติดไว้หน้าเว็บไซต์ตนเอง ถ้าไม่เพี้ยนก็ต้องมั่นอกมั่นใจอะไรบางอย่างจนกล้าเอ่ยวาทะออกมาประมาณนี้
ความเป็นมา :
ใช่แล้วครับ วันนี้ผมจะรีวิวถึงหูฟังแบรนด์หนึ่ง ที่ชื่อว่า Dita Audio นั่นเอง นานมากๆที่ผมไม่ค่อยได้เขียนรีวิว เหตุหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความเกียจคร้าน คือคนเราพอไม่ได้เขียนอะไรนานๆ หรือมัวเพลินไปทำอะไรอย่างอื่นนานๆ เช่นถ่ายคลิปวีดีโอ มันก็ทำให้รู้สึกขี้เกียจ และทรยศงานหลักของตัวเองด้วยการบ่ายเบี่ยงไปทำอย่างอื่นแทนซะ 555
อีกเหตุหนึ่งก็คือ สินค้าที่ออกมาในช่วงหลังๆ ยังไม่มีอะไรท้าทายหรือชวนให้สะกิดใจหรือสร้างความตื่นเต้นให้ผมต้องมานั่งเขียนถึงนั่นเอง ครั้นจะเขียนส่งเดชมันทุกอย่างไป ผมว่านอกจากคนอ่านจะไม่ได้อะไรที่เป็นประโยชน์ เผลอๆ พาลเกลียดขี้หน้าว่างานเขียนไม่ค่อยมีคุณภาพ หรือออกมาเขียนเชียร์ตะพึดเพื่อสักแต่ว่าจะขายสินค้าให้ได้ไปวันๆ 555
งานเขียนอันนี้ผมคิดว่าน่าจะยืดยาวพอสมควรครับ ท่านใดที่ใจร้อน สามารถเลื่อนไปอ่านพารากราฟสุดท้ายได้ทันที เพราะน่าจะมีค่าเท่ากันครับ 555 แต่ท่านใดที่ว่างๆ และอยากจะรู้ที่มาที่ไปโดยละเอียด(แต่ไม่รู้ว่าถูกต้องหรือเปล่า) ก็ลองติดตามอ่านไปได้เรื่อยๆนะครับ ผมเองกำลังจะเล่าถึง Dita แบบละเอียดๆๆ และในแง่มุมของคนเล่นคนหนึ่งที่ได้จับต้องอะไรที่นานๆ มันจะถูกใจซักครั้ง
บ่ายวันหนึ่งที่มั่นคงเรือธง มีที่ท่านหนึ่งนามแฝงว่าพี่ ส แกพาชายหน้าตาจี๊นจีนคนหนึ่งมาที่ร้าน โดยผมเองไม่ทราบมาก่อนว่าพี่ ส นี่คือใครและชาวจีนซึ่งหน้าตาสู้ผมไม่ได้นั่งอยู่คู่กันคือใคร แล้วพี่ ส ก็แนะนำผมว่าแกเป็นคนเล่นหูฟังคนหนึ่ง ซึ่งแกไม่ได้บอกว่าแอบเมียเล่น หรือกล้าๆเล่นด้วยตนเอง พี่ ส บอกกับผมว่า อีตาอาเฮียคนนี้คือมิสเตอร์เดสมอน (Desmond) ซึ่งผมก็ตะโกนโฮกๆๆทักทายสวัสดีด้วยภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างอัปยศของผมกับ Desmond
Desmond ยื่นนามบัตรของแกให้ผม 1 ใบ ส่วนผมยื่นอากาศให้แก 1 ครั้ง พร้อมกับโบกมือโบ๋เบ๋ว่าผมไม่เคยพิมพ์นามบัตร ซึ่งอีตา Desmond ก็เข้าใจและหัวเราะร่วนเป็นไข่เค็ม Desmond แนะนำตัวว่าแกเป็นเจ้าของ Dita Audio โดยทำกับหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ Danny โดยตัวเองนั้นเป็นคนเล่นเครื่องเสียงแบบขนาดหนักมาก่อนชั่วชีวิต (เล่นขนาดหนักนั้นผมหมายถึงเล่นเครื่องเสียงไฮเอนด์) และแกโม้ว่าแกทำหูฟังที่แกคิดว่ามันให้เสียงที่เป็น Hi-Fidelity ที่สุด
ผมยักหน้าหงึกหงัก โดยมีพี่ ส. คอยทำตัวเป็นกูเกิ้ลทรานสเลท(ไม่ใช่ทานเสลด) พี่ ส.ช่วยผมตลอดการสนทนา ผมถามคุณ Desmond ว่าแล้วไงต่อ ซึ่ง Desmond ถามผมว่ารู้จักหูฟังของแกไม๊ ผมตอบว่าไอด๊อนท์โนว์ ซึ่งหูฟัง Dita นั้นเป็นหูฟังที่ผมแทบจะตกสำรวจไปอีกตัวหนึ่งจริงๆ ผมเพียงเห็นผ่านตาในเว็บ Headfonia และประปรายในเว็บบอร์ดมั่นคง Desmond ทำหน้าเหมือนผิดหวังเล็กน้อย แต่ยังคงเก็บอาการคล้ายๆตอนที่ปาเกียวโดนเดอะมันนี่ต่อยเข้าลิ้นปี่
มิสเตอร์ Desmond บอกไม่เป็นไร ถ้าไม่รู้งั้นรู้เดี๋ยวนี้ซะเลย แล้วแกก็ควักระเป๋าสะพาย ซึ่งผมมองแล้วคล้ายๆกระเป๋าล่วมยาขนาดเขื่อง แกหยิบหูฟังออกมาบนโต๊ะ 2 ตัว แล้วบอกให้ผมลองฟังดูว่าเป็นไง จำได้ว่าผมหยิบไอโฟนกะโหลกกะลาของผมออกมาลองฟัง โดยแบ่งกับเบียสสลับกันไปมาคนละตัวแนวสวิงกิ้ง (จึ๋ยๆ) ผมขยับหูฟังย๊อกแย๊กอยู่พักนึงกว่าจะเข้าหู และพอเข้าที่และตั้งใจฟังไปได้ซัก 4-5 นาที ผมก็ดึงหูฟังออก แล้วบอกว่าโอวววว มายก๊อด คิดฮอดหลายย
ผมบอกว่ายูตั้งใจบินมาไทยเพื่อมาหาไอเลยหรือนี่ ผมแอบดีใจที่มีคนตั้งใจบินมาหา ดูแล้วตัวเองมีคุณค่ายังไงชอบกล แต่ Desmond บอกหน้าตาเฉยว่าเปล่า ไอพาลูกเมียมาเที่ยว มาไหว้พระพรหมเอราวัณตรงแถวนี้ต่างหาก ไอเลยลองแวะมาดูถ้าไม่เจอยูไอก็กลับ เดี๋ยวว่าจะพาลูกไปเที่ยวสวนสยามและสวนจตุจักรต่อ ซึ่งที่เล่ามาก็ไม่มีอะไรครับ ย่อมาเหลือบ้นทัดเดียวก็คือ Desmond บังเอิญมาเที่ยวไทย และอยากจะแนะนำสินค้าให้ผมได้ทดลองฟังก็แค่นั้น 555
แนวคิดของ Dita :
ผมคุยกับ Desmond อย่างถูกคอ แต่ผมไม่รู้ว่า Desmond ถูกคอผมหรือเปล่า Desmond บอกว่าเค้าเล่นเครื่องเสียงมานาน แต่ตลาดเครื่องเสียงนั้นเป็นอะไรที่ไม่ท้าทาย แต่สิ่งที่ท้าทายก็คือตลาดหูฟังมากกว่า เพราะแกบอกว่าในตลาดหูฟังนั้น ยังหาหูฟังที่ให้เสียงแบบที่แกอยากได้ไม่มีซักราย Desmond บอกผมว่า แกมีแนวคิดที่จะหาวิธีทำหูฟังที่ให้เสียงออกมาดีที่สุด โดยไม่สนใจกระแสว่าเค้ากำลังโหนเทรนด์อะไรอยู่ โดย Desmond บอกว่า แกทดลองและทดสอบมาหลายปี และก็พบว่า หูฟังแบบไดรเวอร์ไดนามิก เป็นหูฟังที่ตอบสนองเสียงแบบที่แกต้องการได้ดีที่สุด
ถ้าท่านกดปุ่มย้อนไปดูข้างบนจะเห็นว่า Desmond เขียนคำอุดมไว้หรูเริ่ด อารมณ์ก็ประมาณว่า การค้นคว้าหาคำตอบว่าอะไรให้เสียงที่ดีที่สุด ซึ่งตอบสนองความจริงได้ดีที่สุด นั่นคือความฝันของเรา (ซึ่งก็คือของเจ้า Desmond และ Danny นั่นเอง โอ๊เย) ซึ่งผมเล่ายาวเป็นวักเป็นเวร แต่ก็ดันลืมบอกท่านไปว่า Desmond คือคนสิงคโปร์ และหูฟัง Dita ก็มีสัญชาติสิงคโปร์และกำเนิดในสิงคโปร์ โดยมีแนวคิดที่ชัดเจนในการเลือกไดรเวอร์ประเภทที่ตอบสนองได้ดีที่สุด และใช้วัสดุที่ดีที่สุด จับลงมาใส่รวมกันในหูฟัง Dita ก็เท่านั้น
ท่านเลือกฝั่งไหน :
หัวข้อนี้อาจจะฟังแล้วชวนตีกันหรือเหมือนชวนเพื่อนๆมาล้อมวงต้มบะหมี่มาม่าหมูสับหรือต้มยำกุ้งเคล้าดราม่าจริงๆ แต่ท่านที่เล่นหูฟังทั้งหลาย ท่านเคยสังเกตไม๊ว่า ทำไมท่านชอบหูฟังบางตัว และทำไมคนอื่นชอบตัวที่ไม่เหมือนท่าน และถ้าท่านสังเกตุให้ละเอียดเจาะลึกลงไปอีกนิด ท่านจะแปลกใจว่ามีคนที่ชื่นชอบหูฟังไดรเวอร์แบบไดนามิก กับคนที่ชื่นชอบหูฟังที่เป็นแบบ Balanced Amature (BA) ซึ่งจะว่าไปแล้วการที่ท่านชื่นชอบหูฟังที่ใช้ไดรเวอร์ประเภทต่างกัน ไม่มีใครถูกใครผิดซักหน่อย
หูฟังที่ใช้ไดรเวอร์แบบไดนามิก หรือแบบแป้นกลมๆ ที่มีแม่เล็กขนาดเล็กตรงกลาง มีลวดเล็กๆพันรอบ ไดรเวอร์แบบนี้เป็นไดรเวอร์แบบดั้งเดิม จะว่าไปแล้วมันถูกออกแบบและผลิตมานานเกินกว่า 3-40 ปี เป็นไดรเวอร์แบบตัวเดียวอันเดียวจบ ไม่ต้องมีนู่นนี่นั่นให้เปลืองต้นทุน เปลืองสมอง ไม่ต้องพึ่ง crossover แต่อย่างใด ตัวเดียวโดดๆ ขับความถี่ตั้งแต่ทุ้มสุดยันแหลมสุด ในยุคนี้อย่างเก่งก็แค่พัฒนาให้ไดรเวอร์มีขนาดเล็กลง แล้วเพิ่มแม่เหล็กที่กำลังสูงพวก Neodymium เข้าไป
ส่วนหูฟังแบบ BA นั้น ถูกออกแบบมาเป็นขนาดทรงสี่เหลี่ยมเล็ก สามารถเรียงต่อกันเป็นตับๆได้แบบตัวต่อ lego และยังสามารถเลือกได้ว่าจะให้ตัวไหนส่งความถี่ต่ำ ความถี่กลางหรือแหลม เอาแบบหยาบๆก็ทำแบบ 2 ทาง หรือแบบ 2 ไดรเวอร์ เอาแบบเต็มยศและระห่ำหน่อยก็ 10 ไดรเวอร์ ตัวตัดความถี่ก็ตามสั่ง จะให้ตัดตรงไหน ส่งเสียงแบบไหนก็ว่ามา สวยได้หล่อได้แบบเป๊ะๆ ซึ่งเทคโนโลยีอันนี้มาในใหม่ระดับ 5-10 ปี และยังพัฒนาต่อไปได้อีกยาวไกล
แล้วทำไม๊ทำไม Dita ดันมาเลือกไดรเวอร์ไดนามิก ก็ในเมื่อการทำหูฟังแบบ BA นั้นยากกว่ามาก ให้ความเที่ยงตรงกว่ามาก และ Dita เองก็ยอมรับว่าการทำหูฟัง BA ให้เสียงดีนั้นยากมาก แต่การทำหูฟังแบบไดนามิกที่ให้เสียงดีกว่า BA นั้นยากมากกว่า....หลายท่านอ่านมาจนถึงตรงนี้อาจจะงงว่า แล้วตกลงจะให้กูเลือกอะไร ตอบท่านว่าไม่มีสิ่งใดผิดหรือถูกหรอกครับ แต่ผมจะไกด์คร่าวๆ ว่าแบบนี้ครับ
- หูฟังแบบ BA ให้ความเที่ยงตรง ชัดเจน คมชัด รายละเอียดสูงถึงสูงมาก อยากทุ้มแหลมขนาดไหน BA ทำได้
- หูฟังแบบ Dynamic ให้ความต่อเนื่องลื่นไหล ผ่อนปรนและมีความเป็นดนตรีสูง แต่อาจจะเสียเปรียบ BA ในเรื่องความชัดเจน
เปรียบไปก็เหมือนดูทีวี OLED จอรุ่นใหม่ล่าสุด กับทีวีพลาสมา จอรุ่นเก่า เอาเป็นว่า ท่านชอบอะไร ???
รูปลักษณ์และวัสดุ :
ตัวเฮาส์ซิ่ง = หลังจากพล่ามไปยาวในพารากราฟข้างต้นและก็ไม่รุ้ว่าถูกหรือเปล่าด้วย 555 คราวนี้ก็มาถึงการเล่าถึงตัววัสดุต่างๆที่ทาง Dita เลือกใช้กันครับ เริ่มต้นคือตัวเฮาส์ซิ่งหรือตัวหูฟังนั่นแหละครับ ทาง Dita เค้าเรียกว่า Chassis ครับ แต่ผมเรียกเฮาส์ซิงเสียเองจะดีกว่า ตัวเฮาส์ซิ่งของ Dita ทำเก๋ด้วยการเลือก Aluminium เบอร์ 6061-T6 แล้วมาทำการ CNC ด้วยเครื่องสลักแกะเป็นรูปร่าง
แอบไปค้นกูเกิ้ลมา ปรากฏว่าตามฟอร์มครับ 6601-T6 เป็นอลูมิเนียมที่มีความแข็งแกร่งเป็นเบอร์ต้นๆ ทนต่อการกัดกร่อนของสนิมได้ดีเลิศ และสามารถเชื่อมประสานได้ติดกันอย่างคงทนถาวรยิ่งกว่าสักคิ้วถาวรซะอีก ซึ่งทาง Dita เค้าอธิบายคร่าวๆไว้ในเว็บว่าเหตุที่ต้องเลือกเป็นอลูมิเนียมนั้น เนื่องจากวัสดุประเภทอื่นเช่นพลาสติก มีการรีโซแนนซ์ที่เกิดมาจากตัวของมันลงไป ซึ่งหลักการที่ Dita ใช้นั้นก็ประมาณว่าดูเอาจากหลักการทำงานของลำโพงไฮเอนด์ของเครื่องเสียงบ้านนั่นแหละ
และสิ่งที่ทำให้ Dita แทบหมดตูดก็คือการลงทุนวิจับ R&D ว่าจะเอาอะไรมาทำเป็นตัวเฮาส์ซิ่งดีนั่นเอง ผมตั้งข้อสังเกตุอีกนิดนึงครับ ตัวเฮาส์ซิ่นั้นมีขนาดเป็นทรงกลม คือกลมเท่ากันแบบวงกลมเรขาคณิต และมีขนาดความหนาที่หนาเอาเรื่องอยู่ ซึ่งตอนแรกที่ผมเห็นตัวเฮาส์ซิ่ง ผมยังอดนึกสงสัยว่ามันจะวางเข้าไปในหูได้อย่างไร แต่พอมองไปที่ท่อนำเสียงหรือ Canal แล้ว ต้องบอกว่า Dita แยบยลมากที่เลือกทำท่อนำเสียงที่คำนวนค่าเฉลี่ยของหูมนุษย์ไม่รู้กี่หูต่อกี่หูมาเป็นเกณห์เฉลี่ยในการทำหูฟังของ Dita และหลังจากวางหูฟังเข้าตำแหน่งแล้ว มันจะแนบไปกับใบหูแบบเนียนๆ ไร้รอยต่อทอเต็มผืนประมาณนั้น 555
สายสัญญาณ = สิ่งที่เป็นความภูมิใจของอีตา Desmond มากๆๆก็คือสายที่เค้าเลือกใช้ครับ ตอนนั่งคุยกันตา Desmond ส่งให้ผมยึดปลายสายหูฟังไว้ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งตา Desmond ออกแรงฉุดไว้ อารมณ์คล้ายๆ การเล่นชักคะเย่อ คือให้ผมดึงสายหูฟังเย่อกับเค้าดูว่าจะขาดหรือไม่ แต่ปรากฏว่าเปล่าครับ สายยังคงเหนียวทนทานไม่มีอาการถอดใจว่าจะขาดได้ง่ายๆ ซึ่งข้อนี้ผมเฉยๆ ในใจผมก็นึกว่ามันจะขาดไปได้ยังไง ก็ฉนวนหุ้มมันหนาขนาดนั้น และคนซื้อคนไหนมันจะบ้าซื้อหูฟังแล้วไปนั่งดึงสายชักคะเย่อเล่นกับเมียหรือลูกที่บ้าน 555
เอาเป็นว่าการโชว์ดึงสายหูฟังแบบจอมพลังเป็นอันพับไป คือผมดูแล้วเหมือนปา่ที่จืดชืด ไม่สร้างความตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่เพื่อไว้หน้า Desmond ผมจำเป็นต้องทำตาโตด้วยความประหลาดใจ และส่งเสียงฮือฮาให้แลดูตืนเต้น โดยเฉพาะเจ้าเบียสนั้นส่งเสียงโอ้โฮราวกับเชียร์ปาเกียว(เวอร์ซะ) แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สายหูฟังนั้นเป็นของค่ายมิดทูไฮเอนด์อย่าง Van Den Hul นั่นเองซึ่งไม่ใช่การไปซื้อสายสำเร็จรูปแล้วมานั่งปอกเปลือกแล้วตัดมาใช้ แต่ Dita บินไปคุยและไปเจรจากับ Van Den Hul เพื่อให้พัฒนาสายร่วมกันหน่อย
โดยทาง Dita บอกว่าไม่มีอะไรมากมาย ง่ายๆกล้วยๆ คือแค่บอกทาง Van Den Hul ว่าทำสายที่ดีที่สุดมาให้หน่อย เท่าที่ประสบการณ์ 30 ปีของ Van den hul จะพึงมี ซึ่งฟังแล้วดูเก๋เท่ และดูเหมือนอาจจะโดนเตะได้ถ้า Desmond ขืนไปต่อราคาทาง Van Den Hul หนักๆ 555 และสายทีว่าก็คือสายที่ทาง Dita ภูมิใจนำเสนอว่า "The Truth" หรือความจริงนั่นเองครับ ซึ่งสายสัญญาณที่เลือกใช้ในหูฟังของ Dita มี 2 รุ่น ก็คือ The Truth และ The Fat ครับ
ซึ่ง The Fat เป็นสายที่ทาง Dita ออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสูง และเป็นสายที่ให้ Noise ต่ำทีสุด มีฉนวนที่พันกันยาก และทนทานต่อทุกสภาพอากาศ ยกเว้นน้ำท่วมกับแผ่นดินไหวซึงต้องตัวใครตัวมันว่างั้น 555 ซึ่งสายไอ้อ้วน หรือ The Fat นั้นถูกวางให้ใช้ในหูฟังรุ่น Answer ส่วนสาย The Truth ถูกวางไว้ในหูฟังชื่อ The Truth นั่นเอง บอกตามตรงผมแอบขัดใจเล็กน้อย ตรงเรื่องการตั้งชื่อ คือผมคาดว่า Desmond น่าจะมีความเป็นศิลปินมากจนเกินความจำเป็น ถึงได้ลิขิตคำอะไรที่เวอร์ๆออกมา 555
แต่ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งก็คือ ทาง Dita ทำกระเปาะเล็กๆ แบบเจาะช่องหน้าต่างเล็กๆให้เราได้มองเห็นสายที่เปลือยฉนวนออก ผมถือว่าจุดนี้เป็นจุดที่กิ๊บเก๋ยูเรก้ามาก เพราะคนซื้อได้เห็นวัสดุไปเพลินๆขณะฟัง ดูไปก็มั่นใจไป ฟังก็มีความสุขกันไป ตัวสายผมคาดเดาจากเสียงน่าจะเป็นทองแดงบริสุทธิ์เคลือบเงินครับ แต่ในส่วนจุดที่บัดกรี ทาง Dita ระบุไว้ใชัดเจนว่าใช้ตะกั่วเงินสั่งทำพิเศษแบบไม่ใส่ถั่วงอกจากทาง Van Den Hul เพิ่มอีกด้วย โอววว แม่เจ้า
ข้อที่หลายคนมองเรื่องสายแล้วอาจจะขัดใจคือเรื่องการเปลี่ยนสายครับ บางคนซื้อหูฟัง แต่ไม่ได้สนใจว่าเสียงมันเป็นอย่างไร แต่ดันไปพิจารณาว่าหูฟังตัวนั้นตัวนี้เปลี่ยนสายได้หรือเปล่าแทน ซึ่งจริงๆแล้วผิดถนัดในหลักการของ Dita เพราะทาง Dita บอกว่าฉันออกแบบเสียงมาทุกอย่างดีหมด เลือกใช้สายที่ดีที่สุดแบบไม่ต้องอัพเกรดอีกแล้ว ไยสูเจ้ายังจะไปงมงายเรื่องเปลี่ยนสายทำไมเล่า ก็ถือว่าเป็นจุดแข็ง และคิดบวกก็คือเจ็บตัวครั้งเดียวจบ ไม่ต้องสะเงาะสะแงะไปหาสายอัพเกรดให้เมื่อยภายหลัง
ไดรเวอร์ = อย่างที่บอกไว้ข้างต้น ทาง Dita บอกว่าไม่สามารถจะเดินตามก้นใครได้ ชาวบ้านเค้าจะแห่ทำอะไรก็ช่าง แต่ Dita เลือกจะทำสิ่งที่ง่ายแต่ดีที่สุดแบบ Simple the Best ไดรเวอร์ที่ทาง Dita เลือกใช้นั้นไม่ใช่ไปหยิบเอาจากบ้านหม้อ แล้วมาลุงตู่ว่าเป็นของดี แต่เป็นไดรเวอร์ที่สั่งผลิตขึ้นมาเฉพาะ โจทย์คือต้องเบาโคตรๆ และต้องมีความแกร่งสูงสุด ไม่สะบัดตัวตอนเปิดดังๆหรือเร่งโวลุ่ม เพื่ออะไรหรือ ก็เพื่อให้ความถี่ต่างๆทุกย่าน ถ่ายทอดได้อย่างเที่ยงตรงและสม่ำเสมอตลอดที่ความดังทุกระดับ (ยกเว้นระดับงานวัดหรือพวกหูดับนะเออ) ขนาดกำหนดไว้ที่ 10 มม และถูกเรียกว่า Ultra Wide Bandwitdh
ข้อสังเกตุอีกข้อของผมก็คือ ไดรเวอร์ต่างๆในลำโพงบ้านที่เราฟังๆกันอยู่ ส่วนมากเป็นระบบไดนามิกเกินกว่า 90% คือยังคงเป็นรูปทรงกลมๆ มีวอยซ์คอยส์และกำเนิดเสียงส่งผ่านไดอะแฟรม ซึ่งลำโพงที่ใช้หลักการอื่นๆก็พอมีนะครับ แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ จะเทียบจำนวนรุ่นแทบจะนับรุ่นกันได้ ผมว่านี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทาง Dita ก็คิดคล้ายๆกันครับ และสิ่งที่ Dita เลือกจะใช้ไดรเวอร์แบบไดนามิกไดรเวอร์เดียวก็คือเค้าไม่ต้องการให้สัญญาณไปไหลเวียนผ่านวงจร Crossover ซึ่งอาจจะมีการผันแปรของเสียงได้ (อะไรที่ต้องให้สัญญาญไหลผ่าน ความบริสุทธิ์นิยมลดลงทั้งนั้นแหละ)
และ Dita เลือกใช้ไดรเวอร์เดียวกันในทุกๆรุ่นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กสุดอย่าง answer หรือ Balanced ก็ใช้ไดรเวอร์เดียวกัน ซึ่งอันนี้เข้าใจได้ว่าทาง Dita คงไม่มีเวลามาผลิตไดรเวอร์ออกมาหลายๆตัว สู้ทำรุ่นเดียวแต่ทำให้มันดีที่สุดไปเลยไม่ได้ และเมื่อทำออกมาแล้วก็จับใช้ซวดรวด 3 รุ่นเลยก็แล้วกัน และไปใช้วิธีแบ่งรุ่นด้วยการอัพเกรดสายลงไปแทน ผมชอบมากเลยครับ ตรงที่ตอบกันตรงๆ ตอบกันตามจริงให้คนทราบว่าใช้ไดรเวอร์เดียวกันในทุกรุ่น ไม่ต้องมานั่งอ้อมแอ้มโกหกพกลมไปวันๆ 555
จะบอกว่า Dita เอาง่ายเข้าว่า หรือหลักการของ Dita นั้นดีเยี่ยม ก็แล้วแต่ดุลพินิจของทุกท่านแล้วงานนี้ เพราะนี่คือการยืนหยัดของชายทรนงที่บอกว่าตัวเองทำหูฟังเพราะความฟังเป็น ไม่ได้ทำหูฟังเพราะว่าต้องทำตามเทคโนโลยี!!! ป้าบเข้าให้ไม๊ครับท่าน 555 หลายท่านอ่านมาถึงตอนนี้ อย่านึกว่าผมก๊อปเอาจากเว็บเค้าแล้วมาแปลนะครับ ผมอ่านและวิเคราะห์โดยใส่ความเห็นของผมประกอบไปตลอด มิได้ลอกการบ้านเหมือนที่เว็บใต้ดินที่เค้าชอบส่งการบ้านและลอกการบ้านกันแน่นอน 555
หัวแจ็ค = ทาง Dita ผลิตหัวแจ๊คขึ้นมาเองครับ ในเว็บเค้าเรียก Plug แต่เอาเข้าใจแบบไทยๆผมเรียกว่าหัวแจ็คก็แล้วกัน หัวแจ๊คนั้นทาง Dita เลือกที่จะทำหัวที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ นั่นหมายความว่าเล็กพอจะยัดไอ้สาย Van Den Hul ที่อุตส่าห์คิดหัวแทบปูดลงไปให้ได้ โดยวัสดุเลือกคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ทนทาน ไม่เป็นสื่อแม่เหล็กหรือสื่อนำไฟฟ้า ซึ่ง Dita บอกว่า ก่อนจะมาลงทุนทำหัวแจ็คส่วนตัว Dita เอาแจ็คมาเป็นเข่งๆๆมาทดลองแล้ว ปรากฏว่าไม่ถูกใจเสี่ย Desmond ก็เลยต้องผลิตแจ็คส่วนตัวออกมานั่นเอง
วัสดุที่เราเห็นกันเหล่านี้ อาจจะแลดูเทอะทะในสายตาคนเล่นหูฟังหน้าใหม่ๆ แต่ผมว่าในคนเล่นหูฟังที่ผ่านวันเวลาของการเลือกเฟ้นมาแล้ว คงไม่มีใครมาใส่ใจอะไรในเรื่องเหล่านี้ครับ คนเล่นมาพักนึงหรือเล่นมานานๆ ความเคยชินที่ชอบสีสันสดใส หน้าตาต้องหล่อก่อนเสียง แพจเกจต้องอลัง สุดท้ายผมเห็นโยนทิ้งหมด แล้วมาเลือกเอาไอ้ที่ให้เสียงดีๆๆเอาไว้เป็นเพื่อนร่วมทางแบบจริงๆจังๆ สวยแต่รูปมันจูบไม่หอม ใครๆก็รู้ล่ะงานนี้ 555
จำนวนรุ่นหูฟังของ Dita :
Dita ทำตัวอินเทรนด์ด้วยการออกแบบมาเพียง 3 รุ่น ยึดแนว minimalist หรืออาจจะเรียกแนวขี้เกียจทำมากรุ่นก็ยังได้ คือทำไม่ต้องมาก แต่ทำให้มันดีไปเลย ซึ่งผมว่าไม่เลว เพราะจากประสบการณ์ที่เห็นมานาน ยิ่งมากรุ่น ยิ่งเลือกยาก และเหมือนยิ่งไม่โฟกัสให้โดนใจคนฟังเข้าไปใหญ่ เรามาดูกันว่าหูฟัง 3 รุ่นมีอะไรบ้างนะครับ
- รุ่น The Answer เป็นรุ่นเล็กสุด ใช้ไดรเวอร์ Ultra Wide Bandwitdh และใช้สาย The Fat หรือไอ้อ้วน ที่ทาง Dita คิดและเลือกใช้ หัวเป็นขนาด 3.5 mm (ราคา 24,900 บาท)
- รุ่น The Answer (Truth Edition) ทุกอย่างเหมือนรุ่น Answer ยกเว้นสายหูฟัง ที่อัพเกรดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาเป็นสาย Van Den Hul รุ่น The Truth หัวเป็นขนาด 3.5 mm (ราคา 37,900 บาท)
- รุ่น The Balanced (Black Edition) ทุกอย่างเหมือนกับ Answer Truth Edition เป๊ะ แต่ปลายสายใช้เป็นหัวบาลานซ์แบบ mini 2.5 mm (หัวแจ๊คที่แยกกราวด์ออกจากกัน)เพื่อใช้เล่นกับเครื่องเล่น Astell&Kern ได้ และมีสาย adapter ที่แปลงจากบาลานส์ 2.5 ไปเป็นแบบ mini 3.5 mm เพื่อความคล่องตัวสูงสุดในการเล่นกับเครื่องเล่นทุกรุ่นในท้องตลาด (ราคา 49,900 บาท)
ซึ่งรุ่นต่างๆในไทยจะมีเท่านี้ครับ ส่วนพวก Gold Edition ต่างๆก็เหมือนกับตัว Black Edition ครับ คือเป็นสีทอง และก็มีขายในญีุ่ปุ่นเท่านั้น อันนี้เป็นคำบอกเล่าของคุณ Desmond ผิดพลาดให้ไปกล่าวโทษที่ desmond แทนก็แล้วกัน ส่วนรุ่นบาลานส์ก็สำหรับท่านที่มาทางสาย AK ส่วนท่านใดไม่ได้ใช้ AK ก็ไม่มีความจำเป็นในการต้องซื้อรุ่น The Balanced ให้เปลืองสตุ้งสตางค์ครับ ทุกอย่างในขั้นตอนผลิต เหมือนและทัดเทียมกันทุกอย่าง ผิดกันใสส่วนที่ผมได้บอกไว้เท่านั้นเองนะครับ 555
การสวมใส่ :
อันนี้เป็นอีกประเด็นที่ต้องคุยให้ฟังละเอียดเช่นกันครับ ในหูฟังทุกรุ่นของ Dita นั้น ออกแบบมาแบบให้คล้องหลัง คือใครที่ชอบแบบแนวทูอินวัน ประเภทใส่ตรงๆก็ได้ หรือใส่แบบคล้องหูก็ได้ อันนี้หมดสิทธิ์ครับ เพราะ Dita วางตำแหน่งของสายให้วิ่งคนละทางกันกับท่อ canal คือชาตินี้หมดสิทธิ์ใส่แบบตรงๆ ซึ่งบอกตรงๆ ผมอยากบอก Desmond ให้ออกแบบรุ่นตรงๆแบบใส่ตรงๆให้ผมซักตัว เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่ขีเกียจใส่สายแบบคล้องหู
สายของ Dita นั้น ถ้าเป็นในรุ่นตัว Answer นั้นจะทำจากสาย The Fat หรือสายไอ้อ้วน ส่วนรุ่นอืนๆใช้สาย The Truth ซึ่งทำจากสาย Van Den Hul ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีคือแข็งกระโดกกระเดก ทำให้บางท่านที่ทดลองใส่ อาจจะต้องร้องครางว่าใส่ยากฉิบหาย ซึ่งอันนี้ต้องทำใจครับ เจ้าหูฟัง Dita นั้นมันไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นหูฟังที่ฟังเล่นๆ ก็เลยมีอะไรที่ออกจะผาดโผนและขัดใจคนซื้ออยู่เล็กๆ ซึ่งก็คือความแข็งของสายนี่ล่ะ
คราวนี้มาถึงจุดสำคัญ หลายคนที่ลองใส่ Dita ผมมั่นใจว่าใส่กันไม่เข้าแน่ๆๆ คือจากการทดลองใส่ของผมเอง ผมใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆๆ กว่าจะเริ่มพอคลำเป้าเจอ คล้ายๆนักมวยที่ขึ้นเวทีต่อย พยายามรัวหมัดยิกๆๆ แต่ปรากฏว่าไม่เข้าเป้าเลย ปัญหาของ Dita ก็คือเวลาใครหยิบมาลอง ทุกคนจะพยายามจับมันคล้องหูและแยงท่อ Canal เข้าไปในรูหูก่อนให้ได้ พอหลังจากนั้นก็จะหันมาขยับและดึงสายให้คล้องหูให้เข้าที่
นั่นล่ะครับเวรเลย คือเมื่อเราใส่หูฟังเข้าที่ แล้วก็ดึงสายให้คล้องหูให้แนบทีสุดตามสเตป กะว่าเท่เต็มที่แน่ๆๆงานนี้ แต่ปรากฏว่าพอพยายามดึงายให้หล่อ เจ้าท่อที่ว่าก็เคลื่อนออกจากตำแหน่ง บางทีหลวม บางทีหลุด คราวนี้ก็ปล้ำใหม่ พอเสียบเข้าหู สายเริ่มหลุด ก็ไปดันท่อเข้าหู สายก็เริ่มหลุด ดึงไปดึงมาอยู่ในวงจรอุบาทว์ไปเรื่อยๆโดยหมดความสุข ผมเองเกือบจุะเขวี้ยงทิ้งในช่วงแรกๆแล้ว เพราะว่าพอขยับสาย เสียงที่ได้ก็เปลี่ยนไป
และต้องบอกสำหรับคนที่สนใจจะเล่น หูฟัง Dita นั้นไม่เหมือน inear ทั่วไป คือถ้าเรายัดเข้าด้วยความแน่นแบบเต็ม 100% เสียงที่ได้คือเสียงที่เลวครับ คือเบสต่างๆ รวมถึงเสียงย่านต่างๆจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลง ครั้นใส่แบบแค่แน่นระดับ 30% เบสจะหายหมด และยิ่งพยายามจะกดตัวหูฟังให้แนบลึกลงไปกับตัวหู หรือพยายามจะดึงสายหูฟังให้แนบกับหู ยิ่งทำให้ท่านหลงทิศหลงทาง
แนวทางแก้ไขก็คือ เลิกสนใจประเด็นเรื่องการคล้องหูไปก่อนครับ เพราะสายที่เค้าดัดด้วยความร้อนมานี้ มันยากที่จะแนบไปได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือใส่แบบแขวนไว้ลอยๆ แบบช่างหัวแม่งมัน 555 ให้ใส่แค่พอคล้องไว้ตามทิศทาง แต่ให้ไปจับตัวหูฟังใส่ให้เข้าตำแหน่งให้ดีทีสุดก่อนครับ ผมแนะนำว่าควรใส่ด้วยความลึกที่พอดี และตัวเฮาส์ซิ่งควรวางแบบลอยๆไว้หน่อยนึง ไม่งั้นเสียงที่ได้จะออกไปทางทึบ ลองดูครับ พอใส่ได้ตำแหน่งที่ลอยได้พอดีๆๆ เสียงที่ดีที่สุดจะบอกท่านเอง
หลายท่านอาจจะหัวเราะว่ากะอีแค่นี้เหรอที่จะต้องมาบอกกัน ผมกล้าบอกเลยว่า หลายท่านอาจจะไม่ได้ยินเสียงที่จริงๆ จากมันเลย ถ้าการสวมใส่ไม่ได้ตำแหน่ง Sweet Spot ที่ดีที่สุด ผมว่าเจ้า Dita นั้นเล่นยากนิดนึงคล้ายๆพวกหูฟัง Earbud คือถ้าแค่จะเอามีเสียงก็คงไม่ยากเย็นนัก แต่ถ้าต้องการเสียงที่ดีทีสุด ต้องฝึกหาตำแหน่งที่ดีทีสุดให้กับตัวเองให้จงได้ครับ และหลังจากผมผ่านวิบากกรรมการใส่หูฟังตัวนี้ ปรากฏว่าตอนนี้ปร๋อเลยครับ ท่านใดมีทักษะดี ก็จะไม่มีปัญหาตรงนี้แต่อย่างใด
วัวเคยขา ม้าเคยขี่ ตรงไหนดีสุด ตรงไหนให้เสียงดีที่สุด ท่านจะทราบด้วยตนเอง อย่าเพิ่งแหกปากโวยวายว่าทำไมแหลมไม่มี ทำไมเบสหายไปไหน ทำไมเสียงอุดอู้ ทำไมเบสบวมขนาดนี้ ทำไมมีแต่เสียงแหลม อาการเหล่านี้จะเกิดกับท่านหลังจากซื้อ Dita กลับไปบ้านแล้วแน่นอนครับ แนะนำให้หาน้ำเย็นๆ มาวางไว้ใกล้ๆ หยอดยาอุท้ยให้ชื่นใจัก 2-3 หยด แล้วค่อยๆฝึกใส่ ผมมั่นใจว่าทุกท่านอาจจะไม่ได้สังเกตุ แต่ผมสังเกตุมาชัดๆ และผมก็แหกปากโวยวายแบบนี้ก่อนเช่นกัน 555
ปล.เรื่องการใส่สายคล้องหูนั้น ในช่วงแรกจะรู้สึกว่าแข็ง แต่พอผ่านช่วงเวลาไปซัก 3-4 วัน สายตรงบริเวณที่คล้องเข้าหลังหู จะนิ่มเข้ารูปได้ดีขึ้นครับ ไม่ต้องกังวลจนเกินไปกับการสวมใส่ครับ
จุกยางแบบไหนดี :
จุกยางที่ Dita ส่งมาให้ในกล่อง ไม่มีอะไรให้คิดมากครับ เห็นมาบานเบอะนั้น จริงๆ แยกออกมาเป็นจุกยางแค่ 4 แบบ และมี 3 ไซส์ (เล็ก กลาง ใหญ่) ซึ่งผมแยกแยะและอธิบายให้ท่านทราบและเลือกปฏิบัติช่วยเหลือตัวเองดังนี้ 555
- จุกยาง รูกลางใหญ่ Large Bore Tips (airier highs)จุกยางอันนี้จะเป็นจุกยางที่มีรูตรงกลางใหญ่กว่าเพื่อน จุกยางแบบนี้จะให้เสียงออกมาแบบหมดเปลือก คือมีทุ้มเท่าไหร่ มีแหลมเท่าไหร่ ปล่อยหมด ไม่มีกั๊กฝากเมีย เสียงที่ได้นั้นผมว่าเด่นดีทุกย่าน และเครื่องดนตรีไม่ตีรวนกัน ทางเว็บ Dita บอกว่า เลือกจุกนี้จะได้ความโปร่งโล่งลอด ได้ช่องไฟ ไม่ต้องแปลกใจครับ คือหน้าตัดของรูมันใหญ่ เสียงแหลมออกมาได้เต็มกว่า ผมเองเลือกใช้จุกยางแบบรูใหญ่สุดอันนี้ครับ คือฟังแล้วเคลียร์สบายอก สบายใจดี และเบสก็มาดีไปดีไม่มีหาย ท่านที่ชอบฟังความถี่ย่านบางคอแหลม เลือกจุกแบบนี้ได้เลยครับ
- จุกยาง รูกลางขนาดกลาง Medium Bore Tips (reference tuning) จุกอันนี้เป็นจุกที่ทาง Dita ใช้เป็นจุกอ้างอิง และติดมากับตัวหูฟังเลย และเค้าจะติดรุ่นกขนาดไซส์กลางมาในกล่อง ท่านใดรู้ว่าหูใหญ่หรือหูเล็ก อดใจรอแป๊บนึง ใช้จุกที่เค้า Reference ก่อน ถ้าไม่พอดี หรือไม่โดนใจค่อยเปลี่ยน จุกนี้หลักการไม่มีอะไรมาก ผมว่า Dita เค้าเลือกอะไรที่มันเป็นทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา คือไปกลางๆ ก่อน ชอบหรือไม่ชอบค่อยไปเลือกเอาทีหลัง ใครที่คิดไม่ค่อยออกเพราะปกติให้เมียคิดแทน ให้เลือกจุกยางแบบนี้ก็ได้ครับ 555
- จุกยาง รูกลางขนาดเล็ก Small Bore Tips (sweeter highs) จุกยางแบบรูเล็กนี้ ตรรกะคือทางออกของเสียงแหลมจะเล็กหน่อย ทำให้เสียงแหลมมันไม่เสียดหู(สำหรับบางคน) โดยที่เบสที่เป็นความถี่ต่ำผมว่ายังไม่ได้มากไปกว่าเดิม แต่แหลมลดลงนิดๆ ซึ่งจุกยางอันนี้เหมาะกับท่านที่ไม่ค่อยชอบฟังเสียง ซ ส หรือเสียงพวก Sizzle ให้เลือกใส่จุกยางแบบนี้ได้ทันที หรือท่านที่รู้สึกว่าหูฟังให้เสียงที่สว่างเกินไป เลือกจุกนี้จะช่วย tone down เสียงแหลมให้ลดลงแบบนิ่มๆๆ สบายๆ ทาง dita เรียกว่า Sweeter Highs แต่ผมไม่เลือกล่ะ ใส่วันแรกแป๊บเดียวก็ถอดแล้ว มันเหมือนเอาอะไรไปกักกั้นมันไว้ครับ 555
- จุกยาง 2 ชั้น Double Flange Tips อันนี้แนะนำให้เขวี้ยงทิ้งครับ หรือไม่ก็เก็บอยู่ในถุงเฉยๆ เพราะใส่แล้วเหมือนกับท่านฟังเพลงแล้วกดปุ่ม loudness คือมันยกเสียงทุ้มจนเวอร์ๆหลอกหูชอบกล Upper Bass ตูมตาม เบสบวมแบบล้นๆ แต่ถ้าคิดบวก เอาไว้ใส่ฟังพวก EDM แล้วแด๊นส์ในห้องนอนกับลูกเมียก็ไม่เลวเหมือนกัน สำหรับท่านที่ฟังออดิโอไฟล์เป็นหลัก แนะนำว่าไม่ต้องใส่ใจ ลองใส่แล้งฟังเล่นๆๆซักเพลงสองเพลง แล้วเก็บเข้าที่ได้เลย 555
การเบิร์นอิน :
Dita ทุกรุ่นใช้ไดรเวอร์เดียวกันหมด และ Dita เรียกว่า ultra-lightweight อย่างที่เล่าไว้ข้างต้น ซึ่งบังเอิญผมถือว่าโชคดีมากๆๆ เพราะคุณ Desmond เอื้อเฟื้อตัวเดโมมามากพอสมควร โดยได้ชุดที่เบิร์นอินแบบน่าจะครบถ้วนมาแล้ว ล้วงออกจากกระเป๋ากางเกงของ Desmond กันเลยว่างั้น ส่วนอีกชุดหนึ่งทางคุณ Desmond ส่งมาให้อีกต่างหาก ซึ่งชุดหลังนี่เป็นชุดใหม่ที่ไม่ได้ผ่านการเบิร์นมาแต่อย่างใด
หูฟังตัวที่เบิร์นกับตัวที่ไม่เบิร์นเลยต่างกันมากถึงโคตรมาก โอกาสที่ใครฟังตัวแกะกล่องแล้วจะไม่ทำหน้าเหวอเหมือนเจอผีเห็นทีจะไม่มี เพราะผมเองแกะตัวใหม่ๆกับมือ 3-4 ตัว ปรากฏว่าเสียงต่างจากตัวเบิร์นนานแล้วพอสมควร ต่างกันตรงไหนบ้าง? สิ่งที่ต่างกันจนเรียกได้ว่าน่าเกลียดมากก็คือเบสที่คอนโทรลไม่ได้เลย มันแกว่งและโยน ชนไปชนมา โน้ตตัวแรกยังไปไม่ทันหมดขบวน โน้ตเบสตัวหลังก็ดันมาแซงตัวหน้าอีก
ขอให้ท่านอย่าได้แปลกใจ เบสก่อนเบิร์นนั้นเบลอและบวมมาก แต่อัศจรรย์แห่งรักมีจริง เพียงแต่ท่านเสียบจิ้มกับเพลย์เยอร์ให้กระแสไฟไหลผ่านซัก 5-10 ชั่วโมง คราวนี้เบสจะเริ่มเปลี่ยนไปทันที ให้สังเกตุตรงจุดนี้ก่อน โน้ตจะชัดเจนขึ้น อาการแกว่งหรือโยโยแบบคนกินยาลดความอ้วนก็จะดีขึ้น ท่านที่ทำหน้าเหยเก รอยยิ้มก็ผุดขึ้น ชั่วโมงต้นๆนั้นขอให้อย่าได้แปลกใจเลยครับ อดทนเปิดและฟังไปอีกพักเดียว เสียงทุกย่านดูเหมือนจะชัดเจนขึ้นทีละนิดๆ และเหมือนหนังแฟนตาซี มันเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆตามชั่วโมงการเบิร์น เอากับมันซิ !!
ผมลองเบิร์นด้วยเพลงคลาสสิคเซ็ทที่บันทึกไว้อย่างดีของค่าย Telarc ซึ่งปกติค่ายนี้บันทึกเพลงคลาสสิคเป็นอาชีพ แผ่นโหลๆที่บ้านเรารู้จักกันดีก็ Round-Up และ Overture 1812 ผมเลือกพวกเพลงคลาสสิควงใหญ่เป็นส่วนใหญ่มาเป็นตัวเปิดเบิร์น และเปิดฟังแบบดังปกติเท่าที่ฟัง ซึ่งปกติผมก็แนะนำทุกท่านแบบนี้ทุกครั้ง ผมเปิดให้มันวนไปวนมาทั้ง 3-4 อัลบั้ม วิธีการเปิดวนก็แค่ทำ Playlist ไว้ชุดนึง แล้วเปิดวนไปวนมาจนกว่าจะเมื่อย พอเมื่อยก็หยิบเอา Dita มาฟังอีก ปรากฏว่าเจ้า Dita นั้นก็ดีขึ้นไปอีก คือมันไปได้เรื่อยๆตามเวลาที่เสียไป
จิ๊กโก๋ใจร้อน หลังจากที่พร่ำบอกใครต่อใครว่าอย่าใช้แผ่นเบิร์น แต่เที่ยวนี้อดไม่ได้จริงๆ เพราะผมดูแววแล้ว เจ้า Dita น่าจะเบิร์นยาวเอาเรื่อง เพราะหูฟังทั่วไปถ้าเบิร์นไปผ่านช่วง 50 ชั่วโมงแล้วถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนจากชั่วโมงแรกๆ โอกาสจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีก็ทำท่าจะยาก แต่กับ Dita นี่แปลก เหมือนผมจะสังเกตุว่ามันเปลี่ยนไปได้ทุกครั้งที่พักการเบิร์นแล้วมาหยิบฟัง อ่านถึงตรงนี้หลายท่านนึกว่าผมโกหก แต่ท่านที่ซื้อ Dita มาเล่นก่อนหน้าที่ผมจะเอามาขาย น่าจะพอทราบดีว่ามันเป็นอย่างที่ว่าจริงๆๆ ไม่ได้โม้ว่างั้น 555
หลังจากที่วัยรุ่นเริ่มใจร้อน ผมก็เอาไฟล์ Burn ของ Ayre ในแทร็ค 4 ที่เป็น Brown Noise มาเบิร์นอินแทนได้ ซึ่งแผ่นเบิร์นของ Ayre นั้นผมใช้มาตั้งนานนมแล้ว แผ่นนี้ Recommend โดย Ayre เค้าไม่แนะนำแทร็คอื่นนะครับ เพราะว่าจากที่ผมเคยใช้แล้ว มันมีบางแทร็คเป็นการไล่ความสูงไปหาความถี่ต่ำที่หูคนไม่ได้ยิน แต่ลำโพงที่ถูกเบิร์นทำงานหนักมากๆ โดยสังเกตุจากการผลักเข้าออกของดอกลำโพง ที่ชักเข้าชักออกจนเจ้าของแทบเป็นลม 555