Guest
หมวดหมู่ > เว็บบอร์ด จับฉ่าย

ช่องทางการติดต่ออื่น

  • Munkonggadget
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Contact Us

ถามเรื่องคำศัพท์เกี่ยวกับ เสียง หน่อยครับ

มือใหม่สงสัยครับ

10/12/2013 10:50:10
คือผมเพิ่งเริ่มเล่นหูฟังครับ มีคำถามครับ
1.มิติ , รายละเอียด , บรรยากาศ , background หมายถึงยังไงครับ
2.รายละเอียด กับ การแยกชิ้นดนตรีนี่คืออันเดียวกันปะครับ
3.บรรยากาศ กับ ambient นี่เหมือนกันมั้ย
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 1

vigo4499

10/12/2013 11:38:44
0
วิธีที่ดี และรู้เร็วที่สุด ไปงานมิตติ่ง หรือ ไปร้านขายหูฟัง แล้วฟัง เปรียบเทียบ เอง

*** ตอบไม่ตรง คำถาม *****

............ที่มา http://forum.munkonggadget.com/detail.php?id=95848

ส่วนมากศัพท์ต่างๆเหล่านี้ เป็นการพรรณาให้คนที่อ่านทราบกันว่ามันน่าจะหมายถึงเสียงแบบไหนน่ะครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ใช่ศัพท์มาตรฐาน แต่อนุโลมว่าคนที่อ่านสามารถเข้าใจได้ตรงกันน่ะครับ ผมจะลองขยายความให้ดูนะครับ ^^


แหลมไปได้ไกล = หมายถึงความถี่ย่านแหลมด้านที่ปลายสุด สามารถตอบสนองให้เราได้ยินอยู่

แหลมกุด = หมายถึงความถี่สูงที่ไม่สามารถตอบสนองได้เราได้ยิน คือได้ยินแค่ระดับหนึ่งแล้วหายวับไป

สเตจ = ก็คือเวทีเสียง หมายถึงการวางและแจงตำแหน่งของเครื่องดนตรี รวมกันแล้วเป็นซาวด์สเตทครับ

ดาร์ค = หมายถึงเสียงที่ไม่สว่างนัก สืบเนื่องมาจากเสียงกลางที่ถูกดึงให้จมถอยหลังลงไป

เบสลงได้ลึก = หมายถึงความถึ่ต่ำที่สามารถตอบสนองให้เราได้ยินลงไประดับความถี่ต่ำมากๆ

เบสบวม = หมายถึงเบสย่านกลางและบน ที่ถูกเติมแต่งจนเกินจริง และทำให้เรารู้สึกว่ามันบวมครับ

เสียงกลาง = เป็นย่านเสียงที่มีเครื่องดนตรีและรวมถึงเสียงร้องต่างๆ ก็มักจะอยู่ที่่ย่านเสียงกลางนี่ล่ะครับ

อิมแพ็ค = คือแรงปะทะของความถี่ต่ำครับ ถ้าไดนามิกดีจะสร้างหัวโน๊ตของเสียงเบสที่ดี แล้วรับรู้ได้ถึงแรงปะทะครับ

กลางหวาน = หมายถึงเสียงกลางที่เปิดสว่างกังวานและให้ความต่อเนื่องลื่นไหลควบกันไปกับเสียงแหลมที่ดี

สากเสี๊ยน= หมายถึงเกรนของเสียงแหลมที่ฟังแล้วหยาบ เกิดความระคาย ไม่ละเอียด
ฯลฯ....


น่าจะหมายความประมาณนี้ครับ หากถูกผิดประการใด รอท่านที่ทราบดีมาแก้ไขต่อจากผมได้เลยครับ 555

--------------------

=== คำศัพท์เกี่ยวกับเสียงที่น่ารู้ ===

หลังจากกระทู้การรีวิวเบสที่ถูกต้องได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี 555 ผมก็พยายามหาหนังสือที่อธิบายพวกศัพท์ยากๆ ของวงการเสียงให้เข้าใจง่าย ในที่สุดผมก็เจอครับกับหนังสือ Hi-Fi เล่มเก่าๆ แนะนำให้ save เก็บไว้เลยครับ ถ้าเจอศัพท์พวกนี้ในบทความต่างๆ อีกก็จะได้เข้าใจ ไม่งง 555

(1) อิมเมจ หรือ ตัวเสียง
หมายถึง รูปลักษณ์หรือเสียงที่ให้รูปทรงเป็นชิ้นดนตรี เครื่องเสียงที่มีคุณภาพดีจะต้องสามารถให้รูปทรงของชิ้นดนตรีที่ชัดเจน ขึ้นรูปเป็นสามมิติ (9) และมีสัดส่วน (10) ที่สมจริง

(2) ซาวน์สเตจ หรือเวทีเสียง
หมายถึง อาณาเขตโดยรอบที่ อิมเมจหรือตัวเสียง (1) ทั้งหมดเรียงตัวอยู่ในอากาศ ลักษณะความ กว้าง-แคบ หรือตื้น-ลึก ของเวทีเสียงจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของชุดเครื่องเสียง

(3) ไดนามิก-คอนทราสต์
หมายถึง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงความดังอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เครื่องเสียงที่ดีนั้นจะต้องสามารถถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงของระดับเสียง ของชิ้นดนตรีได้ต่อเนื่องละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ก้าวกระโดด ดังเช่นเสียงที่ได้จากการสี เป่า และร้อง ลักษณะการบรรเลงของนักดนตรีที่กระทำต่อเครื่องดนตรีบางประเภทนั้นสามารถให้ได้ทั้ง ไดนามิก-คอนทราสต์ และไดนามิก-ทรานเชี้ยนต์ (4)

(4) ไดนามิก-ทรานเชียนต์
หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระดับความดังอย่างรวดเร็ว หรือสัญญาณเสียงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นลักษณะของการเปลี่ยนระดับความดังจาก 0 เดซิเบลขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของสัญญาณอย่างรวดเร็วมากๆ เช่น สัญญาณเสียงที่เกิดจากการตี ทุบ หรือเคาะ ที่นักดนตรีกระทำต่อเครื่องดนตรีนั้นๆ เครื่องเสียงที่ดีนั้นต้องสามารถตอบสนองสัญญาณในลักษณะดังกล่าวได้รวดเร็ว และสมจริง

(5) หัวเสียง หรือ อิมแพค
หมายถึง สัญญาณเสียงแรกที่เครื่องดนตรีถูกกระทำ เครื่องเสียงที่มีคุณภาพดีจะต้องให้หัวเสียงที่ชัดเจน และรวดเร็ว ในส่วนความชัดเจนนั้นก็คือต้องให้ตัวเสียงมีความเข้ม มีมวลอิ่ม มีขนาดสมจริง เช่น หัวเสียงที่เกิดจากการเคาะเหล็กสามเหลี่ยมจะต้องมีขนาดเล็กกว่าหัวเสียงของการย่ำกระเดื่องกลอง ส่วนความเร็วของหัวเสียงนั้นขึ้นอยู่กับการเดินของความถี่มาถึงหูของเรา เช่น เสียงย่ำกลอง ซึ่งอยู่ในย่านความถี่ต่ำจะเดินทางมาถึงหูเราช้ากว่าเสียงเคาะเหล็กสามเหลี่ยมซึ่งอยู่ในย่านความถี่สูง เป็นต้น

(6) ความกว้างของเวทีเสียง
หมายถึง ระยะทางจากชิ้นดนตรีซ้ายสุดของเวทีเสียง (2) ไปจนถึงชิ้นที่อยู่ขวาสุดของเวทีเสียง เพลงเดียวกัน จากซีดีแผ่นเดียวกันอาจให้ความกว้างของเวทีเสียงต่างกันได้เมื่อฟังจากชุดเครื่องเสียงต่างกัน เครื่องเสียงที่ให้เวทีกว้างมากๆ ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะคุณภาพของเวทีเสียงย่อมสัมพันธ์กับความลึกของเวทีเสียง (7) ด้วย การแยกลำโพงสองข้างให้ห่างออกจากกันจะเพิ่มความกว้างให้เวทีเสียง แต่ถ้าห่างมากเกินไปจะทำให้ความเข้มข้นของชิ้นดนตรี (8) บริเวณกลางเวทีเสียงเจือจางลง

(7) ความลึกของเวทีเสียง
หมายถึง ระยะทางจากระนาบของแถวชิ้นดนตรีที่อยู่ด้านหน้า ไปจนถึงด้านหลัง (ระนาบด้านลึก) เครื่องเสียงที่ดีนั้นต้องสามารถให้ความลึกของชิ้นดนตรีในระนาบหลังๆ ที่แผ่กว้าง ไม่ใช่หุบเข้าตรงกลางเวที การดึงลำโพงสองข้างชิดกันจะทำให้ความลึกของเวทีเสียงชัดเจนขึ้น แต่ถ้าวางชิดกันมากเกินไป ชิ้นดนตรีจะเบียดกระจุกกันอยู่บริเวณกลางเวที ไม่แผ่กระจายออก

(8) ความเข้มข้น กับความเบาบาง
หมายถึง ความหนาแน่น หรือความเจือจางของมวลเนื้อเสียงของชิ้นดนตรี พิจารณาจากอิมเมจ หรือตัวเสียง (1) ที่ลอยอยู่ในอากาศว่ามีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด ถ้ามากขนาดที่รู้สึกเหมือนกับ "มองเห็น" ชิ้นดนตรีนั้นๆ ได้ ก็บอกได้ว่ามีเนื้อเสียงที่เข้มข้น แต่ตรงกันข้ามถ้ารู้สึกเพียงเลาๆ เหมือนชิ้นดนตรีอยู่ตรงนั้นตรงนี้ บอกได้ไม่ชัดเจน ชิ้นดนตรีนั้นมีมวลเสียงเบาบางนั่นเอง

(9) ความเป็นสามมิติ
หมายถึง ภาพลักษณ์ของเวทีเสียงที่เกิดจากการจัดเรียงของชิ้นดนตรีขึ้นเป็นเวทีเสียง ที่ประกอบไปด้วยความกว้าง - แคบ ความตื้น - ลึก และความสูง - ต่ำ ความเป็นสามมิติของเวทีเสียงจะเกิดขึ้นได้ ตัวเสียงหรืออิมเมจของชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นก็ต้องมีรูปทรงให้ความรู้สึกเป็นสามมิติด้วยเช่นกัน คุณสมบัติข้อนี้นอกจากจะต้องอาศัยประสิทธิภาพของชุดเครื่องเสียงแล้ว ยังต้องอาศัยความละเอียด พิถีพิถันในการปรับแต่งการจัดวางลำโพงและอะคูสติกภายในห้องฟังที่เหมาะสม

(10) ขนาดของชิ้นดนตรี
หมายถึง การประกอบกันของเสียงหลักและฮาร์มอนิกของเสียงนั้น ถ้ามีความสมบูรณ์เพียงพอก็จะเกิดเป็นขนาดของเสียงที่แตกต่างกันออกไป ตามคลื่นเสียงธรรมชาติของเครื่องดนตรีนั้นๆ เช่น เสียงเปียโนจะมีขนาดเล็กกว่าเสียงเบส แม้ว่าจะเล่นโน๊ตตัวเดียวกันก็ตาม และในเครื่องดนตรีชิ้นเดียวกันก็จะให้ขนาดเสียงของตัวโน๊ตแต่ละตัวไม่เท่ากันด้วย เช่น เสียงเปียโนที่เล่นด้วยมือขวาจะให้ขนาดเสียงที่เล็กกว่าเสียงเปียโนที่เล่นด้วยมือซ้าย เครื่องเสียงที่ดีจะต้องแยกคุณสมบัติดังกล่าวของเสียงออกมาได้ชัดเจน และคุณสมบัติข้อนี้เรียกว่า "รายละเอียดเบื้องลึก" หรือ Inner Detail ของเสียง

(11) ความใส หรือทราสพาเร้นท์ซี
หมายถึง ลักษณะที่ให้สามารถ "มองเห็น" หรือรับรู้รายละเอียดของเสียงบนเวทีเสียงทั้งหมด ตั้งแต่ระนาบต้นไปจนลึก สิ่งเหล่านี้จะตรงข้ามกับ "ความขุ่นมัว" ซึ่งจะทำให้การรับรู้รายละเอียดดังกล่าวไม่ชัดเจน เปรียบเหมือนกับการมองเข้าไปในที่มีหมอกคลุมนั่นเอง

ที่มา http://topicstock-tech.pantip.com/tech/gadget/topicstock/2010/03/TM2891320/TM2891320.html

จากคุณ : sumat_kee
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 2

Buffalo

10/12/2013 19:46:47
3
บทความยอดเยี่ยมครับ ความรู้เต็มๆ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 3

borpit

09/03/2014 15:36:28
1
เรื่องศัพท์เกี่ยวกับเสียง
บรรยายไว้อีกในกระทู้นี้ครับ
http://forum.munkonggadget.com/detail.php?id=10771
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 4

ยืนงงในดง ตีน

09/03/2014 18:44:55
2
ขอบคุณ คุณvigo4499 ความรู้สุดยอดมากๆ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
"ถามเรื่องคำศัพท์เกี่ยวกับ เสียง หน่อยครับ"