ตั้งชื่อไปอย่างนั้นแหละครับ เว็บนี้ สาวๆเข้าไม่เยอะอยู่แล้ว....ไม่ได้แปลว่ามีแต่สุภาพสตรีสูงอายุเข้า หมายถึง มีแต่หนุ่มๆน่ะครับ ^ ^
คือจะบอกเคล็ดลับให้พี่ๆน้องๆ(ชาย)ทั้งหลายทราบ แต่ไม่อยากให้สุภาพสตรีรับรู้ด้วย เพราะคุณเธออาจรู้ดีอยู่แล้ว
เรื่องการต้มไข่ครับ = ="
ก่อนหน้านี้ ผมต้มไข่ไม่เป็น หมายความว่า รู้แค่ว่า เอาไข่ใส่หม้่อ เติมน้ำ เปิดไฟ แล้วก็รอให้สุก แต่ออกมาไข่ขาวแข็ง ไข่แดงเป็นแป้งๆ กลายเป็นสีเทา ทำได้แค่นั้น ไม่ก็เอาใส่หม้อหุงข้าวตอนเพิ่งสุกใหม่ๆ(เพื่อจะได้ไม่ต้องคอยมาดู และเพื่อประหยัดแก๊ส) ผมก็เลยลองศึกษาด้วยตัวเอง..(ทำไมไม่เสิร์ชข้อมูลวะ) ลองต้มหลายสิบครั้ง ได้ข้อสรุปใจดังนี้ครับ
ส่วนประกอบของชุด...เอ๊ย การต้มไข่ คือ ไข่ ภาชนะ(หม้อ) น้ำ และความร้อน กับเวลาที่ใช้
ลองfix ส่วนประกอบบางตัวก่อน คือ ปริมาณไข่ สมมุติว่าเป็นห้าฟอง หม้อที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป น้ำที่แค่พอท่วมไข่(ไก่)
คราวนี้ก็เหลืออีกสองอย่าง ความร้อน(ไฟแรง หรือไฟอ่อน) กับเวลา
การที่จะให้ไข่แข็ง หรือนิ่ม ไข่แดงกลายเป็นแป้ง หรือยังไม่สุกสนิทเป็นยางมะตูมอยู่ที่ความร้อนที่ใช้ กับเวลาที่ใช้เป็นตัวตัดสินครับ ที่ผมสังเกตคือ ความร้อนของน้ำตอนต้มอยู่ จะมีผลโดยตรงกับไข่ขาวเป็นส่วนมาก ในขณะที่เมื่อดับไฟแล้ว ความร้อนของน้ำในหม้อและในไข่ จะทำให้ไข่แดงสุก
นั่นคือ ถ้าหยุดต้ม ไข่ขาวสุกแค่ไหน ก็แทบจะไม่สุกต่อแล้ว ส่วนถ้าปล่อยให้อยู่ในน้ำร้อนต่อ ส่วนที่จะสุกเพิ่มเป็นไข่แดงครับ
ไฟแรง จะทำให้ไข่ขาวแข็ง ไฟอ่อน ไข่ขาวจะไม่ค่อยแข็งเท่าไหร่ ดังนั้น จะให้ไข่ขาวแข็งหรือค่อนข้างนิ่ม ก็จะอยู่ที่เราใช้ไฟแล้วครับ ต้องลองจูนเอาเอง ว่าจะชอบไข่ขาวแข็งแค่ไหน
ที่ว่าไฟแรงไม่แรง วัดจากเตาแก๊ส ผมประมาณการว่า ถ้าไฟไม่เกินก้นหม้อมาจนถึงขอบหม้อถือว่าปานกลาง ถ้าเปลวไฟพ้นก้นหม้อมาจนเลยขอบข้าง ถือว่าแรงครับ ส่วนไฟอ่อนนี่ มันอ่อนได้หลายสเต็ป เอาว่า ด้วยหม้อที่ไม่ใหญ่เกินไป ไข่ไก่ห้าฟอง น้ำพอท่วมไข่ เปลวไฟแค่เสมอขอบหม้อถือว่าเหมาะแล้วครับ
ส่วนไข่แดง ถ้าชอบให้สุกมากๆ เมื่อปิดไฟแล้ว ก็ปล่อยให้อยู่ในน้ำร้อนต่อนานๆ แต่ถ้าอยากให้ไข่แดงไม่ค่อยสุกสนิท หรือถ้าให้เจ๋งกว่านั้น เป็นยางมะตูม เมื่อปิดไฟแล้ว ปล่อยให้อยู่ในน้ำร้อนแค่นาทีกว่าๆ (ว่ากันละเอียดเป็นวินาทีเลยครับ ทีนี้ เพราะแค่แต่ละสิบวินาทีที่ต่าง สภาพไข่แดงก็จะต่างกันออกไป) แล้วเอาลงน้ำเย็น เพื่อหยุดอุณหภูมิตกค้างที่จะไปทำปฏิกิริยากับไข่แดง(....เว่อร์ซะไม่มี = =")
เคยลองต้มไข่โดยประหยัดพลังงานที่สุด ใช้ไฟค่อนข้างแรง ต้มสี่นาที แล้วดับไฟ ปล่อยให้ไข่แช่อยู่ในน้ำร้อนต่อแบบเดินไปทำธุระอย่างอื่นเลย จนน้ำเย็นตัวลง ปรากฎว่า ไข่สุกสนิทได้ครับ
ที่ว่าลงน้ำเย็น (หมายถึง น้ำที่เปิดจากก็อกเฉยๆ ไม่ต้องขนาดน้ำเย็นจากตู้เย็น)ต้องปริมาตรเยอะขนาดหนึ่งกะละมังย่อมๆนะครับ ถ้าน้ำกลายเป็นน้ำอุ่น ก็ต้องเปลี่ยนน้ำอีกรอบ เพื่อเบรคความร้อนให้อยู่ ถ้าคำนวณได้พอดี เราจะได้ไข่ต้มที่ไข่ขาวแข็งพอดี และไข่แดงเป็นยางมะตูม ไปอวดแฟน หรือสุดที่รักของเราได้ว่า '...นี่คุณ(เธอ) ผมก็ต้มไข่ให้เป็นยางมะตูมได้นะ(จ๊ะ)...'
แล้วอย่าไปบอกเคล็ด(ลับ?)ให้สาวๆรู้นะครับ ^ ^
ตัวอย่างเวลาที่ใช้ : ผมต้มไข่ไก่ห้าฟองในหม้อพอดีๆ น้ำแค่ท่วมไข่ ต้มไฟแรงพอประมาณอยู่แปดนาทีครึ่ง แล้วดับไฟ ปล่อยให้ไข่อยู่ในหม้อหนึ่งนาทีครึ่ง จากนั้นตักไข่แช่ในกะละัมังน้ำเย็น แล้วกวนกะละมังไปด้วยเพื่อถ่ายเทความร้อนออก ส่วนใหญ่ประสพความสำเร็จครับ ไข่แดงจะเป็นยางมะตูมได้
ถ้าลวกไข่ ก็
ลองไปต้มกันดูนะครับ จูนเรื่องความร้อนกับเวลาเอาเอง คงต้องจดหรือจำเอาครับ ว่าเปิดไฟแค่ไหน ใช้เวลาเท่าไหร่จะออกมาได้อย่างที่เราชอบ
หมายเหตุ เวลาที่ว่าแปดนาทีนี่ เริ่มนับตั้งแต่เปิดไฟเลยนะครับ ไม่ใช่เริ่มนับตอนน้ำเดือดแล้ว และต้องปิดฝาด้วย(อันนี้สำคัญ เพราะเงื่อนไขการควบคุมอุณหภูมิของผม คือ ผมปิดฝาครับ)
ปล.ไข่แดงกลายเป็นสีเทา นั่นคือการ"ไหม้"ครับ โดนความร้อนนานเกินไป สำหรับผม ถือว่าตัวเองสอบตกสำหรับการต้มครั้งนั้น...
ขอให้ทุกท่านประสพความสำเร็จนะครับ ^ ^