น้องโยเป็นเด็กชายวัย ๗ ขวบ วันหนึ่งป้าชวนน้องโยซ้อนมอเตอร์ไซค์เข้าไปในเมือง ระหว่างทางมีรถพุ่งมาชนอย่างจัง ป้าแขนหัก ส่วนน้องโยขาแหลกเละไปข้างหนึ่ง ทั้งสองถูกนำส่งโรงพยาบาลนครปฐมทันที
หมอเล่าว่าขณะที่ป้าร้องโอดโอยอยู่นั้น น้องโยกลับนิ่งเงียบ ไม่ส่งเสียงร้องหรือแสดงอาการทุรนทุรายแต่อย่างใด ยอมให้หมอทำการรักษาอย่างสงบจนใคร ๆ ก็แปลกใจ
เมื่อผ่าตัดเสร็จ หมอถามว่าทำไมน้องโยไม่ร้องเลย น้องโยตอบสั้น ๆ ว่า “ผมกลัวป้าเสียใจครับ”
น้องโยรู้ว่าป้ากำลังเจ็บปวดเพราะแขนหัก จึงไม่อยากให้ป้าเป็นทุกข์มากไปกว่านี้หากได้ยินเสียงร้องของตน ป้าคงรู้สึกแย่อยู่แล้วที่เป็นเหตุให้หลานต้องมาประสบอุบัติเหตุร้ายแรง น้องโยจึงไม่อยากซ้ำเติมความทุกข์ของป้าด้วยการแสดงความเจ็บปวดให้ป้าเห็น
ในยามที่ตัวเองกำลังประสบเคราะห์กรรมแสนสาหัส น้องโยกลับมีใจนึกถึงคนอื่น ใช่หรือไม่ว่าการนึกถึงคนอื่นกลับทำให้น้องโยสามารถอดทนต่อความเจ็บปวดได้อย่างยากที่เด็ก(หรือแม้แต่ผู้ใหญ่)จะทำได้ ในทางตรงข้ามหากน้องโยนึกถึงแต่ตัวเองว่า “ทำไมถึงต้องเป็นฉัน” หรือ “จะยังไงดีถ้าขาฉันถูกตัด” น้องโยคงดิ้นทุรนทุรายด้วยความทุกข์ทรมานยิ่งกว่าป้าเสียอีก
ความเห็นใจและการนึกถึงผู้อื่นสามารถทำให้เรามีพลังต่อสู้กับความทุกข์และอดทนต่อความยากลำบากได้อย่างที่ตัวเองอาจนึกไม่ถึง จะเรียกว่านี้เป็นพลังแห่งความรักหรืออานุภาพแห่งเมตตากรุณาก็ได้ มนุษย์เรานั้นมีศักยภาพเหลือประมาณ ความรักหรือเมตตากรุณามีอานุภาพตรงที่สามารถดึงศักยภาพนั้นออกมาได้อย่างเต็มที่ ผู้เป็นแม่สามารถอดทนต่อความยากลำบากได้แทบทุกอย่าง ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะความรักที่มีต่อลูกนั่นเอง แต่ความรักหรือเมตตากรุณานั้นไม่ได้มีเฉพาะกับผู้เป็นแม่เท่านั้น หากยังมีได้กับทุกคน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสายสัมพันธ์แห่งความเห็นอกเห็นใจ
หมออมรา มลิลา เล่าถึงชายผู้หนึ่งซึ่งประสบอุบัติเหตุ สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มิหนำซ้ำไตยังวายฉับพลัน จึงมีภาวะโคม่า แม้จะถูกนำส่งโรงพยาบาลทันทีแต่หมอบอกว่ามีโอกาสรอดน้อยมาก แต่เขาก็รอดมาได้ สิ่งที่ช่วยชีวิตเขาไว้นั้นเป็นมากกว่ายาและความสามารถของหมอ
เขาเล่าว่า ระหว่างที่นอนหมดสติอยู่ในห้องไอซียูนานเป็นอาทิตย์ บ่อยครั้งที่เขารู้สึกว่ากำลังลอยเคว้งคว้าง แต่มีบางช่วงที่ดูเหมือนจะมีมือมาแตะตัวเขา และมีพลังแผ่เข้ามา ทำให้ใจที่เหมือนจะขาดลอยหลุดไปนั้น กลับมารวมตัวกัน เกิดความรู้ตัวขึ้นมา สักพักความรู้ตัวนั้นก็เลือนหายไปอีก เป็นอย่างนี้ทุกวัน
เขามารู้ภายหลังว่ามีพยาบาลคนหนึ่งมาจับมือแล้วแผ่เมตตาให้กำลังใจแก่เขาทุกวันที่ขึ้นเวร พอจะลงเวรเธอก็มาลาเขา และพูดว่าขอให้สบายทั้งคืน พรุ่งนี้พบกันใหม่ กับคนไข้คนอื่น เธอก็ทำอย่างเดียวกัน
คนไข้ผู้นี้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จนรู้สึกตัวดีขึ้น แต่บางคืนจะรู้สึกทรมานมาก เพราะทั้งเจ็บปวดทั้งหายใจลำบาก จนเขาอยากหยุดหายใจไปเลยจะได้หมดทุกข์ ในยามนั้นเขารู้สึกว่าการตายง่ายกว่าการมีชีวิตอยู่ แต่ขณะนั้นเองเขาก็จะนึกถึงพยาบาลผู้นั้นว่าหากเธอมาพบว่าเขาเสียชีวิตแล้ว เธอคงจะรู้สึกเสียใจ และโทษความบกพร่องของตนเอง เขาจึงพยายามอดทนหายใจต่อไป เพื่ออยู่ให้ถึงเช้า จะได้ล่ำลาพยาบาลคนนั้น และบอกเธอว่าหากเขาตายไป ก็ไม่ใช่ความผิดของเธอ เธอทำดีที่สุดแล้ว
ครั้นถึงตอนเช้า อาการเขาดีขึ้น พอพยาบาลคนนั้นมา เขาก็ลืมล่ำลาเธอ ตกกลางคืนเขาก็กลับมีอาการทรุดลงอีก แต่ก็พยายามอดทนจนถึงเช้าเพื่อลาพยาบาล แล้วก็ลืมอีก เป็นเช่นนี้หลายครั้ง จนอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ
คนไข้ผู้นี้ฝืนสู้กับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนสำเร็จ ไม่ใช่เพราะนึกถึงตนเอง แต่เพราะนึกถึงผู้อื่นซึ่งมีน้ำใจกับตน ใจที่เป็นห่วงผู้อื่นทำให้คนเราพร้อมจะมองข้ามความทุกข์ของตนเอง ดังนั้นจึงสามารถอดทนอย่างถึงที่สุด หรืออาจข้ามพ้นขีดจำกัดของตนเองไปได้ด้วยซ้ำ ตรงกันข้ามกับคนที่นึกถึงตนเอง มักจะอดทนต่อความลำบากได้น้อยกว่า ยิ่งคิดถึงความสุขสบายของตนเองมากเท่าไร ก็ยิ่งไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอดทน และหากคิดถึงแต่ความสำเร็จของตน ก็ยิ่งจำกัดกรอบตัวเองให้เอาศักยภาพมาใช้แต่เพียงบางเรื่องที่ตนเองได้ประโยชน์ จึงไม่สามารถที่จะใช้ศักยภาพได้อย่างถึงที่สุด
คนเราจะเข้มแข็งมากขึ้นเมื่อนึกถึงตัวเองน้อยลงและคิดถึงผู้อื่นมากขึ้น แต่การคิดถึงผู้อื่นนั้นไม่ควรมีความหมายเพียงแค่การนึกถึงความทุกข์ของเขาเท่านั้น หากควรรวมไปถึงการมองจากมุมของเขาด้วย การเป็นห่วงว่าผู้อื่นอาจจะเป็นทุกข์ ถือว่าเป็นความปรารถนาดีอย่างหนึ่ง แต่ความปรารถนาดีที่มองจากมุมของตัวเราเองอย่างเดียว ทำให้เราเข้มแข็งก็จริงแต่อาจขาดความอ่อนโยน เพราะคิดแต่จะกะเกณฑ์ผู้อื่นให้โอนอ่อนตามความคิดของเรา และหากเขาไม่ทำตาม ก็จะเป็นทุกข์หรือเกิดความไม่พอใจขึ้นมา
ครูช่อผกาเป็นครูที่ขยันและเสียสละเพื่อนักเรียน ได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์เวรดูแลเด็กเข้าเรียน วันหนึ่งเห็นนักเรียนคนหนึ่งยืนลับ ๆ ล่อ ๆ ในขณะที่คนอื่นเข้าห้องเรียนกันหมดแล้ว ครูตั้งใจจะตักเตือนนักเรียนจึงเรียกให้เขาตามเข้าไปคุยในห้อง ครูเดินนำหน้าไปหลายช่วงตัวแล้ว แต่นักเรียนกลับไม่ขยับเขยื้อน ยืนเกาะราวบันไดอยู่ที่เดิม ครูโกรธขึ้นมาทันทีที่นักเรียนไม่ทำตามคำสั่ง จึงพูดขึ้นด้วยเสียงดุ ๆ ว่า “ทำไมไม่ตามครูมา”
แต่แล้วความคิดหนึ่งก็แวบเข้ามา ครูจึงถามนักเรียนอีกครั้งด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลง นักเรียนตอบว่า “ผมเดินขึ้นบันไดไม่ได้ครับ ต้องเดินไปอีกด้านหนึ่ง” ปรากฏว่าเขาเป็นโรคกล้ามเนื้อหมดแรง ครูรู้สึกเสียใจที่พูดเสียงแข็งกับนักเรียนเพราะเผลอเข้าใจไปว่าเขากำลังขัดขืนคำสั่งของเธอ แต่ก็ยังดีที่ครูถามเหตุผลของนักเรียนก่อนที่จะด่าหรือพูดจารุนแรงออกไป ความคิดที่แวบเข้ามาว่าเด็กอาจมีเหตุผลของตนทำให้ครูช่อผกาเสียงอ่อนลง และนั่นทำให้เธอพบความจริงที่น่าเศร้าของนักเรียนผู้นี้ ครูรู้ในเวลาต่อมาว่าเขาเคยเรียนเก่ง แต่หลังจากที่เป็นโรคนี้ ก็สอบตกเกือบทุกวิชา ไม่ใช่แต่เขาคนเดียวเท่านั้น พี่ชายคนโตตอนนี้อาการหนักจนต้องนั่งอยู่ในรถเข็น ส่วนคนรองก็เริ่มเดินไม่ได้แล้ว ฐานะการเงินที่บ้านก็ย่ำแย่มาก ครูช่อผกาจึงหาทางช่วยเหลือเด็กคนนี้ โดยร่วมมือกับครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียน รวบรวมเงินจนสามารถส่งเสียให้เรียนจบ
หากครูช่อผกาไม่พยายามฟังเหตุผลของนักเรียนก่อน ก็คงจะจมอยู่กับความไม่พอใจที่เห็นเขาไม่ทำตามคำสั่งของเธอ ความรู้สึกว่า “ตัวกู”ถูกท้าทาย ทำให้เธอเกือบจะทำอะไรรุนแรงกับเด็ก ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเขาให้เป็นทุกข์ยิ่งขึ้น
ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งผู้คนทำร้ายกันเพียงเพราะเอาความรู้สึกของตัวเป็นใหญ่ หาไม่ก็ยืนกรานที่จะมองจากมุมของตัวเอง จึงเห็นอีกฝ่ายเป็นผู้ผิด กว่าจะรู้ภายหลังว่าตนเองด่วนสรุปบางครั้งก็สายเกินไปแล้ว ภรรยาทะเลาะกับสามีเพราะหาว่านอกใจ เพื่อนผิดใจกันเพราะหาว่าไม่มาตามนัด คนไข้โกรธพยาบาลเพราะหาว่าปล่อยปละละเลย ทั้งหมดนี้อาจไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้นหากถามหาเหตุผลของอีกฝ่ายก่อน หรือพยายามมองจากมุมของเขาดูบ้าง
การนึกถึงผู้อื่น ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ นอกจากจะทำให้เราด่วนทำร้ายกันน้อยลงแล้ว ยังช่วยให้เราเป็นทุกข์น้อยลงด้วย เวลาเห็นเพื่อนนิ่งเฉยกับคำทักทายของเรา แทนที่จะปล่อยให้ความไม่พอใจผุดขึ้นมาเป็นใหญ่ในใจ หรือจมอยู่กับความคิดว่า “ถือดีอย่างไรถึงมาปั้นปึ่งกับฉัน” ลองตั้งคำถามใหม่ว่า “เขามีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่าถึงไม่พูดไม่จาอย่างนั้น” คำถามหลังนั้นช่วยลดทอนความโกรธออกไปจากใจเรา เกิดความห่วงใยขึ้นมาแทนที่ อีกทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมความรู้สึกให้มาใกล้ชิดกันมากขึ้น ใครจะไปรู้เขาอาจกำลังมีปัญหาบางอย่างเร้ารุมจิตใจ จึงทำให้ไม่ทันรับรู้การทักทายของเรา หาใช่เป็นเพราะกินแหนงแคลงใจเราไม่
ความเป็นมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับ “ขนาด”ของหัวใจ ใจจะใหญ่หรือเล็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัยหรือเพศ อีกทั้งไม่ได้ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด เด็กที่อายุเพียง ๗ ขวบอย่างน้องโย มีใจใหญ่กว่าผู้ใหญ่จำนวน ไม่ใช่เพราะอะไรอื่น หากเพราะนึกถึงคนอื่นนั้นเอง ไม่มีอะไรที่จะรัดรึงใจเราได้แน่นหนาเท่ากับความเห็นแก่ตัว เมื่อใดก็ตามที่เรานึกถึงตัวเองน้อยลง ใจไม่เพียงขยายใหญ่ขึ้นเท่านั้นหากยังเป็นอิสระอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนอีกด้วย
พระไพศาล วิสาโล
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ 267 :: พฤษภาคม ๕๐ ปีที่ ๒๓
คอลัมน์ริมธาร : ขยายใจให้ใหญ่ขึ้น
รินใจ