ในหนังสือเรื่อง “จะเล่าให้คุณฟัง” (แปลโดย เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อสเปน (๒๕๕๔)
ฆอร์เฆ่ บูกาย ได้เล่าถึงชายผู้หนึ่งซึ่งมีเหตุต้องโทรศัพท์ถึงหมอประจำครอบครัว
“ที่ผมโทรมาหาหมอเพราะผมเป็นห่วงภรรยา”
เมื่อหมอถามว่าเธอเป็นอะไร ก็ได้คำตอบว่า “เธอกำลังจะหูหนวก อยากให้หมอมาดูอาการเธอหน่อย”
หมอไม่สะดวกไป จึงนัดให้เขาพาเธอมาหาวันจันทร์ แต่เขาอยากให้หมอรีบมาทันที หมอจึงทำการวินิจฉัยทางโทรศัพท์
“คุณรู้ได้อย่างไรว่า เธอไม่ได้ยิน”
“ก็...เวลาผมเรียกเธอ เธอไม่ยอมตอบนี่”
หมออยากรู้ว่าเธอหูหนวกแค่ไหน จึงแนะให้เขาเรียกเธอจากจุดที่กำลังโทรศัพท์ ตอนนั้นเขาอยู่ห้องนอน ส่วนเธออยู่ห้องครัว
เขาตะโกนเรียกชื่อเธอ “มาเรียยยยยย......เธอไม่ได้ยินผมเลย หมอ”
หมอแนะให้เขาเดินไปที่ประตูห้องนอน แล้วตะโกนเรียกเธอจากทางเดิน
“มาเรียยยยยยย.....เธอไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อย หมอ”
หมอแนะให้เขาเดินไปหาเธอแล้วตะโกนเรียกเธอไปด้วย จะได้รู้ว่าเธอได้ยินเสียงเขาเมื่ออยู่ใกล้แค่ไหน
“มาเรียยย.....มาเรียยยย......มาเรียยยยย ทำอย่างไรเธอก็ไม่ได้ยิน” แล้วเขาก็พูดต่อว่า ตอนนี้เขาอยู่ตรงประตูครัว เห็นเธอหันหลังให้เขา กำลังล้างจาน แต่ไม่ได้ยินเสียงเขาสักนิด
หมอแนะให้เขาเดินเข้าไปใกล้อีกนิด แล้วเรียกชื่อเธอด้วย
เขาเดินเข้าไปในครัว แตะไหล่เธอ และตะโกนที่หูของเธอว่า “มาเรียยยยยยย....”
คราวนี้ภรรยาหันขวับมาด้วยความฉุนเฉียวแล้วพูดว่า
“คุณต้องการอะไรกันแน่ฮึ ต้องการอะไร ต้องการอะไร ต้องการอะไรรรรรรร.....คุณตะโกนเรียกฉันเป็นสิบครั้งแล้ว ฉันก็ตอบคุณไปทุกครั้งว่า “ว่าอย่างไรคะ” คุณนับวันจะหูตึงขึ้นเรื่อย ทำไมไม่ไปหาหมอสักที”
ถึงตรงนี้คุณคงรู้แล้วว่าใครกันแน่ที่หูตึงและควรไปพบหมอ
นิทานเรื่องนี้เตือนใจได้ดีว่า ก่อนที่จะสรุปว่าคนอื่นมีปัญหา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเอง เพราะบ่อยครั้งเราเองต่างหากที่มีปัญหา หาใช่คนอื่นไม่
คนที่ชอบตัดพ้อว่า ทำไมเพื่อนไม่เข้าใจเราเลย ควรกลับมาถามตัวเองบ้างว่า แล้วเราล่ะ เข้าใจเพื่อนบ้างหรือเปล่า บางทีอาจจะพบว่า เป็นเพราะเราเอาแต่ใจตัวหรือชอบเรียกร้องความเข้าใจจากคนอื่นต่างหาก พอเพื่อนไม่ยอมทำตามความต้องการของเรา ก็เลยตีขลุมว่าเขาไม่เข้าใจเรา
คนที่ชอบกล่าวหาคนอื่นว่าไม่มีน้ำใจนั้น มักจะมองไม่เห็นตนเองว่าที่แท้ตนเองงนั่นแหละเห็นแก่ตัว
หญิงผู้หนึ่งเล่าว่า บ่ายวันหนึ่งเธอไปกินอาหารในร้านซึ่งเนืองแน่นด้วยลูกค้า โชคดีที่เธอได้โต๊ะเสริมหน้าร้านซึ่งนั่งได้คนเดียว โต๊ะนั้นเล็กมาก นอกจากชุดเครื่องปรุง กล่องทิชชู กล่องช้อนตะเกียบ และเหยือกน้ำ แล้ว ก็มีที่ว่างพอสำหรับก๋วยเตี๋ยวชามเดียวเท่านั้น
ขณะที่เธอกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์รออาหารอยู่ ก็ได้ยินเสียงเคาะโต๊ะ พร้อมกับเสียงพูดว่า “นี่ ๆๆ” เธอหันไปมองต้นเสียง ก็พบว่ามีเด็กสาวสามคนยืนข้างหน้า
“นี่ ลุกก่อนได้ไหม” สาววัยมัธยมปลายพูดขึ้นมา
เธอยังไม่ทันตอบ เด็กสาวก็พูดตามมาว่า “ก็มาคนเดียวใช่ไหม ลุกก่อนได้ไหม เนี่ยมากันสามคน”
เธอยังงงอยู่ จึงถามว่า “อะไรนะ” เด็กสาวรุกต่อว่า “เอ้า ก็บอกว่ามากันสามคน มาคนเดียวก็ลุกก่อนได้ไหม รีบ เดี๋ยวไปเรียนตอนบ่ายไม่ทัน”
ขณะที่เธองงงวยกับเรื่องที่เกิดขึ้น เด็กเสิร์ฟก็เรียกทั้งสามคนเข้าไปนั่งในร้าน ระหว่างที่ทั้งสามคนเดินเข้าไปข้างใน ก็มีเสียงลอยมาว่า “เปลืองที่ว่ะ คนอะไรไม่มีน้ำใจ”
การกล่าวหาคนอื่นนั้นทำได้ง่าย หากไม่รู้จักมองตน ยิ่งปล่อยให้ความเห็นแก่ตัวครองใจมากเท่าไร ก็ยิ่งกล่าวหาคนอื่นว่าเห็นแก่ตัวหรือไร้น้ำใจได้ง่ายเท่านั้น
จริงอยู่บางครั้งคนอื่นก็ทำตัวเป็นปัญหาจริง ๆ แต่ถ้าเอาแต่เพ่งโทษคนอื่น ก็จะมองไม่เห็นว่าตนเองมีส่วนในการสร้างปัญหาหรือเป็นตัวปัญหาเองด้วย พ่อแม่ที่ชอบบ่นว่าลูกไม่ฟังพ่อแม่เลย หากสำรวจเข้าจริง ๆ ก็จะพบว่าพ่อแม่เองก็ไม่ฟังลูกเช่นกัน เป็นเพราะมีพฤติกรรมเช่นนั้นกับลูก ลูกก็เลยทำอย่างเดียวกันกับพ่อแม่ (โดยลูกเองก็เอาแต่บ่นทำนองเดียวกันว่าพ่อแม่ไม่ฟังตน แต่หารู้ไม่ว่าตนเองก็ไม่ฟังพ่อแม่เช่นกัน)
แม่บางคนรู้สึกกลุ้มใจที่ลูกเก็บตัวเงียบ ทำตัวเหินห่างแม่ มีปัญหาอะไรก็ไม่ยอมเล่าให้แม่ฟัง เวลาเธอแนะนำลูก ลูกก็แสดงทีท่ารำคาญ บอกปัดความหวังดีของแม่ แม่คิดแต่จะแก้นิสัยลูก แต่ลืมมองตนเองไปว่า ตนเองก็เป็นคนจู้จี้ขี้บ่น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ทันทีที่แม่หันมามองตนและรู้ว่าตนเป็นคนเช่นไร ก็อาจจะพบว่า ตนเองมีพฤติกรรมไม่ต่างจากพ่อหรือแม่ของตน การกระทำบางอย่างของพ่อแม่ที่ตนไม่ชอบสมัยยังเป็นเด็ก กลับซึมซับรับเอามาและแสดงกับลูกของตนในเวลาต่อมา เธอไม่เฉลียวใจเลยว่า ยิ่งมองว่าพ่อแม่เป็นตัวปัญหามากเท่าไร ตัวเธอเองก็กลายเป็นปัญหาไม่ต่างจากพ่อแม่
บังอรไม่พอใจสมทรงเพราะเธอชอบนินทาผู้คนในสำนักงาน ตัวบังอรเองก็เป็นเป้าของการนินทาด้วย เธอพยายามติติงสมทรง แต่ก็ไม่ได้ผล การนินทายังคงมีอยู่ต่อไป สร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่บังอรยิ่งขึ้น ผลก็คือเวลามีพนักงานใหม่มา บังอรก็มักจะไปเล่าให้เขาเหล่านั้นรู้ว่าสมทรงเป็นคนชอบนินทา โดยที่เธอหารู้ไม่ว่าเธอกำลังทำอย่างเดียวกันกับสมทรง
สมศักดิ์ไปดูหนัง แต่รู้สึกรำคาญชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งซึ่งนั่งอยู่แถวหลัง ทั้งสองชอบกระซิบกระซาบ หาไม่ก็พูดวิจารณ์ตัวละคร ส่งเสียงรบกวนสมาธิของสมศักดิ์ เขาพยายามหันกลับไปมองเพื่อส่งสัญญาณให้ทั้งสองเงียบ แต่ก็ไม่เป็นผล สร้างความขุ่นเคืองให้เขาเป็นลำดับ ในที่สุดเขาก็อดรนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาตวาดคนทั้งสองว่า “หยุดพูดสักทีได้ไหม รู้ไหมว่าคุณกำลังรบกวนคนอื่นอยู่” ปรากฏว่าคนทั้งโรงตกตลึงเพราะเสียงตวาดของสมศักดิ์
สมศักดิ์เอาแต่มองว่าคนอื่นเป็นปัญหา สุดท้ายตัวเองกลับก่อปัญหายิ่งกว่าคนอื่นเสียอีก นั่นเป็นเพราะความลืมตัว ปล่อยให้ความโกรธลุกลามแผดเผาใจจนห้ามปากไม่อยู่ เช่นเดียวกับบังอรที่เพ่งโทษเพื่อนจนลืมมองตน ความเกลียดจึงครอบงำใจจนอดไม่ได้ที่จะต้องนินทาสมทรง เข้าทำนอง “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”
เป็นธรรมดาว่าเมื่อใดที่เรามองเห็นคนอื่นเป็นปัญหา ความขุ่นเคืองใจหรือความโกรธเกลียดย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย และหากยังไม่หยุดเพ่งโทษเขา อารมณ์ดังกล่าวก็ยิ่งสะสมและลุกลามจนทำให้ลืมตัว เผลอทำอย่างเดียวกับเขา ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ดังนั้นหากไม่อยากทำเช่นนั้น ก็พึงระลึกอยู่เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่เรามองเห็นคนอื่นเป็นปัญหา เมื่อนั้นจำต้องหันมามองตนและสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตนให้ดี หาไม่แล้วเราอาจจะกลายเป็นปัญหาเสียเอง
ถ้าจะให้ดี ควรหันมาตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราเองไม่ได้เป็นปัญหาหรือเป็นส่วนหนึ่งของของปัญหาตั้งแต่แรก ดังเรื่องของชายหูตึงข้างต้น
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๒๐ :: ตุลาคม ๕๔ ปีที่ ๒๗
คอลัมน์ริมธาร : ปัญหาอยู่ที่ผู้มอง
พระไพศาล วิสาโล