ระบบการส่งสัญญาณเสียงด้วยบลูทูธจะมีประเด็นที่เป็นตัวควบคุมคุณภาพเสียงอยู่ นั่นก็คือ ตัว codec ที่ใช้อยู่ในอุปกรณ์ codec ย่อมาจากคำว่า coder และ decoder คือการเข้ารหัสและถอดรหัสนั่นเอง ตัวส่งสัญญาณบลูทูธจะนำเสียงดิจิทัลมาเข้ารหัส แล้วส่งผ่านอากาศออกไป ตัวรับสัญญาณบลูทูธจะรับสัญญาณทางอากาศแล้วถอดรหัสออกมาเป็นเสียงดิจิทัล แล้วก็ส่งไปผ่านชิปแปลงสัญญาณเสียงดิจิทัลเป็นอนาลอกอีกครั้ง เมื่อได้สัญญาณอนาลอกก็อาจจะส่งไปผ่านวงจรขยายอีกทอดหนึ่งเพื่อส่งสัญญาณไปออกหูฟัง
codec พื้นฐานของการฟังเพลงผ่านบลูทูธคือ SBC ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดของการใช้งาน เพลงที่ฟังผ่าน codec ตัวนี้จะมีคุณภาพกลางๆ คุณภาพเสียงของระบบนี้จะนำสัญญาณระดับ 16bit 44.1k มาย่อ แล้วส่งผ่านแบนด์วิธประมาณ 328kbps ปลายทางรับสัญญาณก็จะถอดรหัสคืนค่ากลับมา เรียกว่าพอใช้ได้ แต่ไม่ดีมาก ผู้ผลิตหลายรายก็จะมีความพยายามในการพัฒนา codec ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพิ่มแบนด์วิธขึ้น เราก็จะได้ codec ใหม่ๆออกมาอีกหลายตัว และล่าสุด เราได้ LDAC ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาของค่าย sony โดยสามารถนำสัญญาณต้นทางระดับ 24bit/96k มาเข้ารหัสเพื่อส่งสัญญาณผ่านแบนด์วิธ 990 kbps และคืนค่าหรือถอดรหัสที่จุดรับออกมาเป็นเพลงระดับ 24bit/96k นั่นเอง โดยระบบ LDAC จะเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาให้ใช้กับการฟังเพลงระดับ Hi-res เป็นหลัก
ขั้นตอนการทำ codec จะเป็นการย่อขนาดและขยายกลับคืนแบบ lossy compression คือมีการสูญเสียรายละเอียดบางส่วนไประหว่างทาง เพื่อให้แบนด์วิธ์ไม่สูงเกินไป หมายความว่าระบบการส่งเสียงผ่านบลูทูธทุกมาตรฐานจะมีการสูญเสียเสมอ การบีบอัดข้อมูลลักษณะนี้จะคล้ายกับภาพถ่ายชนิด Jpeg ที่ถูกลดทอนรายละเอียดลง และไม่สามารถกู้ข้อมูลกลับมาได้ การย่อขนาดเพื่อส่งผ่านช่องทางแบนด์วิธต่ำ ก็ต้องทิ้งข้อมูลไปเยอะมากกว่าการย่อแล้วส่งในช่องทางแบนด์วิธสูง การใช้แบนด์วิธที่มากขึ้นจะได้คุณภาพสัญญาณที่มากขึ้นนั่นเอง
ด้วยความสามารถของ codec ที่ทันสมัย รวมกับการเลือกใช้ชิปแปลงสัญญาณเสียงที่มีชื่อเสียงด้านการฟังเพลงอย่าง DAC รุ่น AK4376A ซึ่งมีผลทำให้อัตราส่วนสัญญาณเสียงต่อสัญญาณรบกวนสูงระดับ120db พร้อมด้วยการทำงานร่วมกับภาคขยายหรือ amp กำลังขับ 25 มิลลิวัตต์ที่ 32 โอห์ม ก็ทำให้ Fiio BTR3 เป็นตัวรับบลูทูธที่เสียงดีและมีกำลังขับที่ดีสำหรับหูฟังทั่วไป
Specification
Model : FiiO BTR3
Audio Input : Bluetooth V4.2
Supported Codec’s : AAC, SBC, aptX, aptX Low Latency, aptX HD, LDAC and LHDC
Bluetooth chip : Qualcomm CR8675
DAC : AK4376A
AMP : onboard AMP Included in AK4376AFrequency Response : 20~20kHz(aptX connection), 20~40kHz(LDAC connection)
THD+N : 0.003%(LHDC 1kHz)
SNR : 120dB (A-weighted)
Output : 3.5mm Single Ended
Output Power : 33mW@16 Ohm & 25mW@32 Ohm
Output Impedance : 0.3 Ω(32Ω loaded)
Crosstalk : ≥ 75 dB(32Ω loaded)Drivability : 16~100 Ω (recommended)
Battery : 300mAH
Battery Life : about 11hours
Charging Time : ≤1.5 h (DC 5V 500mA)USB Port : USB Type CSize : 58×25×10.4mm (exclusive of back clip)
Weight : 26 g (incl. battery)
เอา BTR3 ไปใช้งานร่วมกับเครื่องเสียงบ้าน โดยเทียบกับชุดหลักที่เปิดด้วย ipod mini วางบน Dock และใช้เพลง wav เป็นหลัก เปิดเพลงเดียวกันเทียบระหว่างชุดเดิมที่เป็น ipod กับ เปิดเสียงด้วยมือถือผ่านบลูทูธไปยัง BTR3 พบว่า เสียงที่ผ่านชุดเครื่องเสียงบ้านฟังใกล้เคียงกันมาก เปิดฟังเทียบอยู่หลายเพลงก็ให้น้ำเสียงที่ดีสูสีกัน มิติของเวทีเสียงก็เรียงตัวคล้ายๆกัน จะชี้ว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่าทำได้ยาก เพราะมันคล้ายกันจริงๆ
ด้วยความสามารถทั้งรับบลูทูธและเป็น usb-dac ได้ เมื่อเราเชื่อมการใช้งานทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน เราสามารถเปิดเพลงจากคอมพิวเตอร์ได้ตลอดเวลา และเมื่อเราเปิดเสียงเพลงจากมือถือเข้าไป เสียงที่ได้ยินจะเป็นเสียงจากช่องทางบลูทูธทันที โดย BTR3 จะส่งเสียงที่มาทางบลูทูธออกมาให้เราได้ยินเลย และเมื่อเรากดหยุดที่มือถือ เสียงจะกลับไปเป็นเสียงของคอมฯตั้งโต๊ะที่มาทางสาย usb-c ทั้งหมดทำงานโดยอัตโนมัติไม่มีจังหวะสัญญาณหลุดหรือต้องตั้งค่าใหม่เลย ว่าไปแล้วฟังค์ชั่นแบบนี้ก็เหมาะที่จะซื้อ BTR3 ติดหน้าคอมฯ เพื่อใช้เปิดเพลงคุณภาพดีๆ ผ่านการทำงานแบบ usb-dac และเมื่อเราอยากจะฟังเสียงจากโทรศัพท์ ก็สามารถทำได้เลยเพราะเชื่อมทางบลูทูธเอาไว้แล้ว
ข้อดี
เสียงดี รองรับการเชื่อมต่อบลูทูธทันสมัย ใช้ codec ชนิด LDAC สามารถใช้ฟังเพลง hi-res แบบไร้สาย เสียงดีมากเมื่อเอาไปต่อกับเครื่องเสียงบ้าน
ข้อเสีย
ตัวเครื่องด้านหน้าเป็นหน้าจอกระจก ดูเหมือนจะต้องดูแลป้องกันพอสมควรเพื่อไม่ให้เป็นรอยขีดข่วน และด้วยความเล็กและมีผิวภายนอกเป็นผิวมันก็กลัวจะทำหลุดมือตอนหยิบใช้งาน
สรุป
Fiio BTR3 เป็นอุปกรณ์รับสัญญาณบลูทูธที่มีความอเนกประสงค์พร้อมด้วยคุณภาพเสียงที่ดี ซื้อตัวเดียวได้ใช้ 2 ฟังค์ชั่นการใช้งานเลยคือเป็น usb-dac และ เป็นตัวบลูทูธสำหรับเสียบหูฟังเพื่อฟังเพลง คุณภาพเมื่อใช้กับชุดเครื่องเสียงบ้านให้คุณภาพสูงมากใกล้เคียงกับชุดเครื่องเสียงตั้งโต๊ะ ส่วนคุณภาพการใช้งานเป็นบลูทูธ ก็ให้น้ำเสียงฟังง่าย ฟังสบาย ไม่มีเบสบวมหรือแหลมสากเสี้ยน และการได้ใช้ codec แบบ LDAC ก็นับเป็นข้อดีที่เราจะใช้มันกับการฟังเพลง hi-res ได้ในอนาคต
ขอขอบคุณร้าน ร้านมั่นคงแก็ดเจ็ท ที่เอื้อเฟื้อให้ยืมสินค้ามาทดสอบนะครับ