สินค้าลอตใหม่ ภายใต้ผู้นำเข้าใหม่ รวมถึงราคาใหม่ (ที่ลดลงจากเดิม) ลอตแรก เข้ามาถึงเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ มีรายการดังนี้ครับ
1. Bose 251 White ลำโพง environmental speaker กันแดดกันฝน ใช้งานนอกบ้านได้ ราคา 16,500 บาท (จากราคาเดิม 19,260 บาท)เป็นรุ่นยอดนิยมอีก 1 คู่
2. Bose 161 Black ราคาคู่ละ 5,900 บาท (จากราคาเดิม 11,770 บาท) ดูไม่ผิดครับ ราคานี้จริงๆ ผมเองยังตกใจ หลายท่านใช้เป็นคุ๋หน้า บางท่านใช้เป็นลำโพง surround บางท่านนิยมไปติดในร้านอาหาร
3. Bose 201 Black ตัวนี้น้องเล็กรองจาก 301 เคยเป็นลำโพง ระดับเริ่มต้นที่น่าจับตาอีกคู่ครับ ราคาใหม่ คู่ละ 9,900 บาทเท่านั้น (จากราคาเดิม 14,980 บาท)
4. Bose 301 Black รุ่นยอดนิยมตลอดกาล ฟังเพลงก็ได้ ร้องคาราโอเกะก็ได้ เป็นตัวแทนของ Music Everywhere ได้เป็นอย่างดี ราคาใหม่คู่ละ 13,900 บาท (จากราคาเดิม 19,046 บาท)
5. Bose Freespace 51 ลำโพง outdoor อเนกประสงค์ครับ วางในสนาม หรือแอบซ่อนไว้ในสวน ก็ย่อมได้ ราคาคู่ละ 18,300 บาท (จากราคาเดิม 29,425 บาท)
6. Bose 151SE (Black & White) ลำโพง environmental speaker กันแดดกันฝน ใช้งานนอกบ้านได้ ราคาคู่ละ 10,900 บาท (จากราคาเดิม 13,910 บาท)
7. Bose AM-10 V (Black) ลำโพง hometheater แบบเต๋าคู่ รุ่นอมตะ ยอดนิยม กับราคาใหม่เพียง 40,890 บาทเท่านั้นครับ (จากราคาเดิม 55,000 บาท) จับกับ Yamaha 1080 , 2080 , 3080 เข้าไปงานนี้ ทั้งห้องสวย ทั้งเสียงดี มาครบเลยครับ
8. Bose AM-5 V (Black) ลำโพง 2.1 แบบเต๋าคู่เช่นกัน กับราคาใหม่แบบน่าตกใจที่ 16,900 บาทเท่านั้น (จากราคาเดิม 24,000 บาท)
9. ทิ้งท้ายกับ Lifestyle-650 (White) ชุดลำโพง lifestle สุดยอดลำโพงจิ๋วกับเทคโนโลยี jewel cube และ subwoofer ที่ทำงานผสานกันอย่างลงตัว ทำให้เป็นชุด satellite ระดับ hiend ที่นักเล่นให้ความสนใจเป็นอย่างสูง กับราคาเซ็ตละ 195,000 บาท
…แม่นมั่นว่า ไม่มีใครในโลกเครื่องเสียงที่ไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อ “BOSE” เพราะ BOSE เป็นแบรนด์ดังที่อยู่เคียงคู่โลกเครื่องเสียงมาช้านานตั้งแต่ปีค.ศ.1964 ภายใต้กิจการ Bose Corporation ที่ก่อตั้งขึ้นโดย Dr. Amar G. Bose ศาสตราจารย์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า (electrical engineering) แห่งมหาวิทยาลัยชื่อดังติดอันดับหนึ่งของโลก “Massachusetts Institute of Technology” หรือที่เรา-ท่านรู้จักกันดีในชื่อสั้นๆว่า MIT นั่นเอง …ย้อนหลังไปเมื่อตอนที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่นั้น (ประมาณยุค’50) Dr.Bose ได้ตัดสินใจซื้อชุดเครื่องเสียงใหม่ให้แก่ตัวเอง แต่ก็ต้องรู้สึกผิดหวัง เพราะเลือกแล้วเลือกอีกก็ไม่มีลำโพงที่ให้เสียงได้ถูกใจ เสมือนได้ฟังดนตรีกำลังเล่นสดๆ อยู่ต่อหน้ากระนั้น นั่นทำให้เขากลับมานั่งศึกษาว่า ทำอย่างไรจึงจะได้มาซึ่งลำโพงที่ให้เสียงได้ถูกใจอย่างที่ว่า Dr.Bose นึกย้อนถึงเรื่องราวที่เคยได้ศึกษามาเกี่ยวกับการรับรู้ต่อเสียงของประสาทหูมนุษย์ และนั่นได้ทำให้เขาเจาะลึกลงไปถึงเรื่องของ psychoacoustics นำมาผสานเข้ากับหลักการเชิงลึกของการออกแบบลำโพง อันเป็นที่มาของ “ต้นแบบ” ลำโพงรุ่น 901 ในปีค.ศ.1968 ด้วยจุดโดดเด่นที่เป็นความต่างจากใครๆ ในการออกแบบชนิดแหวกตำรับตำรา ภายใต้หลักการทำงานที่เรียกขานว่า Direct/Reflecting® speaker system
ความไม่เหมือนใครในระบบการทำงาน “Direct/Reflecting® speaker system” มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความเพ้อฝัน หรือว่า นั่งเทียนเขียนขึ้นมาเอง หากแต่เกิดขึ้นจากการศึกษาเชิงวิเคราะห์วิจัย เจาะลึกลงไปถึงเรื่องของอะคูสติกเสียงภายในคอนเสริ์ต ฮอลล์ชั้นยอดนับร้อย ๆแห่งที่ซึ่งยอมรับกันว่า ดีเยี่ยม เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลต่างๆ แล้วจึงนำมาประมวลผลเป็นตัวเลข เปรียบเทียบกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้น-น่าทึ่งมาก-เพราะเสียงที่คนเราได้ยินได้ฟังจากในคอนเสริ์ต ฮอลล์นั้น จะมิใช่เสียงจริงจากการแสดงดนตรีซะเต็มร้อยเปอร์เซนต์ หากแต่จะประกอบไปด้วย :- เสียงตรง หรือ Direct sound ที่ได้จากเสียงคนตรีพุ่งตรงเข้าสู่หูทั้งสองข้างของเรา กับ เสียงสะท้อน หรือ Reflecting sound ที่ได้จากเสียงคนตรีพุ่งไปกระทบเข้ากับสิ่งต่างๆ สารพัดอย่างภายในคอนเสริ์ต ฮอลล์ก่อนที่จะสะท้อนมาเข้าสู่หูทั้งสองข้างของเรา
เสียงตรง และ เสียงสะท้อน ที่เข้ามาสู่หูทั้งสองข้างของคนเราจะมีความเหลื่อมล้ำทางค่าเวลา มิได้เดินทางมาถึงหูพร้อมๆ กัน แม้ว่าเสียงต่างๆ จะเดินทางในอากาศด้วยอัตราความเร็วที่ไม่ต่างกันก็ตาม เพราะ “เสียงตรง” ย่อมที่จะเข้าสู่หูคนเรา-ก่อน-ที่ “เสียงสะท้อน” จะมาถึง ซึ่งอาจจะใช้เวลาเพียงเศษเสี้ยววินาที แต่แม้ค่าเวลาที่เหลื่อมล้ำกันเพียงแค่นี้ “ประสาทหู” ของมนุษย์ก็สามารถนำไปตีความสู่สมองให้รับรู้ได้ …นี่แหละที่เป็นต้นเรื่องของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ psychoacoustics ซึ่งเป็นสิ่งที่เชี่ยวชาญอย่างมากของ Dr.Bose จนบรรลุสู่ทฤษฎีมากมายที่กลายมาเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ BOSE ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้
“901 Direct/Reflecting® speaker system” เป็นลำโพงที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากลำโพงโดยทั่วไป ไม่เหมือนใครอย่างสิ้นเชิงจริงๆ เพราะแทนที่จะใช้ตัวขับเสียง หรือ ไดรเวอร์ (driver) ซึ่งมีขนาดใหญ่ อย่างที่เรียกกันว่า วูฟเฟอร์ (woofer) ซึ่งทำงานได้เหมาะสมกับช่วงย่านเสียงความถี่ต่ำ ให้ทำงานร่วมกับไดรเวอร์ซึ่งมีขนาดเล็ก อย่างที่เรียกกันว่า ทวีตเตอร์ (tweeter) ซึ่งทำงานได้เหมาะสมกับช่วงย่านเสียงความถี่สูง เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงโดยรวมที่ครอบคลุมทั้งช่วงย่านเสียงความถี่ต่ำขึ้นไปจนถึงช่วงย่านเสียงความถี่สูง
Dr.Bose กลับเลือกที่จะใช้ไดรเวอร์เพียงแค่ขนาดเดียวเท่านั้น ทว่าใช้ไดรเวอร์นี้หลายตัวด้วยกันทำงานผสานกัน ดังนั้นลำโพงรุ่น 901 ที่ Dr.Bose ออกแบบขึ้นมานี้จึง “แหวก” หลักการในทุกทฤษฎีการออกแบบลำโพงที่เคยมีมา เนื่องเพราะการค้นพบความรู้เกี่ยวกับ psychoacoustics นั่นเอง ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังไม่มีคนเข้าใจ หรือยอมรับกัน นักออกแบบลำโพงในยุคนั้นต่างก็คัดค้าน และต่อต้านแนวคิดการออกแบบของ Dr.Bose กันแทบจะถ้วนทั่ว
ทั้งนี้ทั้งนั้น Dr.Bose ได้ให้เหตุผลของการออกแบบลำโพงรุ่น 901 ไว้ว่า ในเมื่อเสียงโดยรวมที่เรารับฟังกันในคอนเสิร์ต ฮอลล์นั้น เป็นทั้งเสียงตรงและเสียงสะท้อนที่ผสมผสานกัน (ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เสียงในธรรมชาติก็มีทั้งเสียงตรงและเสียงสะท้อน เดินทางมาสู่หูให้คนเรา และสรรพสัตว์ได้รับรู้นั่นแหละ) ดังนั้นในเมื่อเสียงคนตรีที่รับฟังกันสดๆ นั้น (live performance) มันกอปรด้วยเสียงตรงและเสียงสะท้อน ไฉนการออกแบบลำโพงจึงไม่นำความรู้ดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์เล่า…
ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าอย่างเจาะลึก Dr.Bose จึงได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ “สัดส่วน” ระหว่างเสียงตรงต่อเสียงสะท้อนประมาณ 11 กับ 89 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ดังนั้นลำโพงรุ่น 901 จึงได้รับการติดตั้งไดรเวอร์ขนาดเดียวกัน ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้วนั้นเอาไว้จำนวน 9 ตัว โดยกำหนดให้ไดรเวอร์จำนวน 8 ตัวใน 9 ตัวนี้ทำหน้าที่ก่อกำเนิดเสียงในลักษณะของเสียงสะท้อน (89%) ส่วนไดรเวอร์อีกตัวที่เหลือใช้ทำหน้าที่ก่อกำเนิดเสียงในลักษณะของเสียงตรง (11%) กลายเป็นเสียงตรงและเสียงสะท้อนสอดผสานกัน ผสมกลมกลืนออกมาเป็นเสียงดนตรีแบบ live performance ให้ได้รับฟังกัน
รูปทรงของตัวตู้ลำโพงรุ่น 901 จึงไม่เหมือนใครๆ เขาอีกเช่นกัน เพราะโดยปกตินั้นใครๆ เขาก็จะออกแบบให้ตัวตู้ลำโพงมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า และกำหนดให้ส่วนที่เป็น “แผงหน้า” ตัวตู้ซึ่งติดตั้งไดรเวอร์ต่างๆ เอาไว้นั้น หันเข้าสู่ตำแหน่งนั่งฟัง เพื่อให้สรรพเสียงที่ไดรเวอร์ต่างๆ เปล่งออกมาเข้าสู่หูผู้ฟัง แต่ลำโพงรุ่น 901 กลับมีรูปทรงคล้ายๆห้าเหลี่ยมซะงั้น อันมีชื่อเรียกขานเป็นการเฉพาะว่า AME (Acoustic Matrix enclosure) โดยจักหันตัวตู้ด้านที่ติดตั้งไดรเวอร์จำนวน 8 ตัวไว้ ซึ่งตัวตู้ด้านนี้จะเอียงเฉียงเป็นมุมระหว่างกันประมาณ 120 องศา (มิได้เป็นระนาบเดียวกันเช่นทั่วไป) เข้าหาผนังห้อง – โดยเฉพาะบริเวณมุมห้อง เพื่อให้เกิดลักษณะของเสียงสะท้อน (Reflecting sound) แล้วหันตัวตู้ด้านที่ติดตั้งไดรเวอร์จำนวน 1 ตัวไว้นั้น เข้าหาตำแหน่งนั่งฟัง เพื่อให้เกิดลักษณะของเสียงตรง (Direct sound)
แม้จะถูกคัดค้าน – ต่อต้านในหลักการออกแบบ แต่ครั้นได้ฟังเสียงที่ “901 Direct/Reflecting® speaker system” ขับขานออกมาเป็นต้องชื่นชมในน้ำเสียงที่ได้ฟัง เรียกว่า –น้อยคนนัก– ที่จะไม่ชื่นชอบ หากไม่อคติจนเกินไป ….ทว่าโดยธรรมชาติว่ากันตามหลักฟิสิกส์แล้วไซร้ ไดรเวอร์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้วนั้นเปรียบได้ไม่ต่างจาก “เป็ด” ที่บินก็ได้- ว่ายน้ำก็ได้-ดำน้ำก็ได้ แต่เอาดีที่สุดแล้วก็คงไม่พ้น-ว่ายน้ำ ซึ่งไดรเวอร์ขนาด 4 นิ้วก็เช่นกัน ด้วยขนาดของมันจะให้ผลักมวลอากาศปริมาณมากๆ เพื่อก่อกำเนิดเสียงต่ำๆ เหมือนอย่างวูฟเฟอร์ก็คงยากส์ และด้วยมวลของมันจากขนาด 4 นิ้ว จะให้สั่นพลิ้วฉับไวในช่วงเสียงสูงๆ ดุจดั่งทวีตเตอร์ก็ซูเปอร์ยากส์เช่นกัน ดังนั้นไดรเวอร์ขนาด 4 นิ้วจึงให้ความโดดเด่นในช่วงย่านเสียงกลาง (midrange) อันเป็นช่วงความถี่ที่เสียงดนตรีส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในย่านนี้แทบทั้งนั้น นอกจากนี้ช่วงย่านเสียงกลาง ยังเป็นช่วงความถี่ที่ประสาทหูคนเรารับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงย่านความถี่ต่ำ หรือสูง
ฉะนั้นด้วยประการฉะนี้ Dr.Bose จึงต้องออกแบบสิ่งที่เรียกว่า active equalization ขึ้นมาใช้งานควบคู่กับ ชนิดขาดกันและกันไม่ได้ ไม่งั้น “901 Direct/Reflecting® speaker system” จะกลายสภาพจากลำโพงเสียงมหัศจรรย์ เป็นลำโพงสุดห่วยที่ให้แต่ความถี่เสียงกลาง – ไม่มีเบส – ไม่มีทริเบิล …ช่างไม่น่าฟังเอาเสียเลยซะงั้น หน้าที่ของเจ้าอุปกรณ์ “active equalization” จักทำการยกระดับ หรือ บูสต์ (boost) ช่วงความถี่เสียงต่ำ (เบส) และช่วงความถี่เสียงสูง (ทริเบิล) ขึ้นมามากยิ่งกว่าปกติ หลายเท่าทีเดียว (มีปุ่มปรับระดับการบูสต์ช่วงความถี่เสียงต่ำ และช่วงความถี่เสียงสูง แยกออกจากกันเป็นอิสระ และเลือกปรับมาก-น้อยได้ตามที่ต้องการ) เพื่อเป็นการชดเชยกับสมรรถนะการทำงานของไดรเวอร์ขนาดแค่ 4 นิ้ว ให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพในการขับขานความถี่เสียงที่ครอบคลุมได้ตลอดทั้งช่วงย่าน ตั้งแต่ความถี่ต่ำยันความถี่สูงได้อย่างกลมกลืนกัน นำมาซึ่งคุณภาพเสียงที่น่าฟัง
ด้วยเหตุแห่งความจำเป็นในการต้องใช้อุปกรณ์ “active equalization” จึงทำให้บรรดาฝ่ายคัดค้าน รวมถึงนักฟังประเภทออดิโอไฟล์นิยมพากัน “รุม” กินโต๊ะ BOSE 901 ว่า ไม่เป็นธรรมชาติ มีการตกแต่ง และบิดเบือน รวมทั้งเสริมสีสันให้แก่สรรพเสียงที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งมิใช่เสียงจริงเสียงแท้ที่นักฟังควรจะได้ฟัง “901 Direct/Reflecting® speaker system” จึงมิอาจเข้าไปครองใจหมู่นักฟังออดิโอไฟล์นิยม แต่หากเป็นนักฟังประเภทมิวสิก เลิฟเวอร์แล้วไซร้ นี่คือหนึ่งลำโพงในฝันกันเลยทีเดียว …ทั้งนี้ทั้งนั้นนักฟังที่ชื่นชอบ BOSE 901 ก็จะโต้กลับฝ่ายค้าน รวมทั้งออดิโอไฟล์นิยมว่า ถ้าหากหลักการของ Direct/Reflecting ของ BOSE 901 –ไม่ถูกต้อง– ทำไม “901 Direct/Reflecting® speaker system” จึงยังคงดำรงอยู่ ผ่านร้อนผ่านฝนผ่านหนาวมาได้อย่างยืนยาว ไม่เคยขาดตอนเลย นับตั้งแต่ Series I ที่แรกออกจำหน่ายเมื่อปีค.ศ.1968 ผันผ่านพัฒนาการต่างๆ มาจนถึง Series VI ณ ปัจจุบัน โดยมิเคยเปลี่ยนทั้งหลักการทำงานภายในและรูปทรงภายนอกเลยได้ใยเล่า จริงไหมล่ะ – มันควรต้องเจ๊งไม่เป็นท่า นับตั้งแต่แรกผลิตออกมาแล้วละนั่น ถ้าของเขาไม่ดีจริง… นี่แหละหนาฉายา ลำโพงระดับตำนานที่ไม่มีวันตาย !!!