ลืมหนังทุกเรื่องของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่คุณเคยดูมา : Memento, Insomnia, Batman Begins, The Prestige, The Dark Knight, Inception, The Dark Knight Rises และ Interstellar
ทั้งหมดที่เอ่ยถึงนี้เป็นหนัง plot-based เราติดตามเรื่องราวของตัวละครและเหตุการณ์ หากพล็อตสนุก ก็รอดตัวไปแล้วครึ่งหนึ่ง หากบทดี เล่าเรื่องดี ฉากดี ดนตรีดี ก็สมบูรณ์ ดังที่โนแลนประสบความสำเร็จมาทุกเรื่อง
แต่ Dunkirk ไม่เข้าข่ายที่พูดมา
Dunkirk เป็นประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทุกคน (หมายถึงคนที่อ่านหนังสือมากกว่าปีละ 8 บรรทัด) รู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ทหารอังกฤษ ฝรั่งเศส และสัมพันธมิตรหลายแสนคนถูกลอยแพที่ฝั่งดังเคิร์ก ฝรั่งเศสในปี 1940 พวกเขาพยายามข้ามช่องแคบอังกฤษกลับประเทศอังกฤษ แต่ไม่มีเรือรบสามารถพาข้ามไป เพราะการโจมตีทางอากาศของฝ่ายเยอรมันตลอดเวลา ในที่สุดชาวประมงริมฝั่งอังกฤษก็พากันออกเรือลำเล็กข้ามไปช่วยขนทหารกลับมา มันจึงถูกเรียกว่า Miracle of Dunkirk
เรื่องมีเท่านี้ ใครๆ ก็รู้ คำถามคือจะเล่าเรื่องอย่างไร จะแต่งพล็อตเรื่องซับซ้อนอิงประวัติศาสตร์ หรือว่า...?
Dunkirk ของโนแลนไม่ได้เล่า 'เรื่อง' แต่เล่า 'อารมณ์' ดังนั้นหากคุณตีตั๋วเข้าโรงไปเพื่อหวังความบันเทิงแบบเรื่องของเขาที่เคยดูมาก่อน ก็เก็บเงินไว้ซื้อไอติมกินดีกว่า เพราะนี่ไม่ใช่หนังดูสนุกเพลิดเพลิน หรือเพื่อความผ่อนคลาย ตรงกันข้าม คุณจะออกจากโรงด้วยความเศร้า หงอย ซึม และสมองไม่ว่างอีกหลายวัน
แต่หากคุณเป็นคอหนังแท้ นี่เป็นงานที่ดีที่สุดอีกชิ้นหนึ่งของโนแลน
นี่เป็นหนังสงครามที่มีวิธีการเล่าต่างจากเดิม และทรงพลังโดยแทบไม่ต้องใช้คำพูด
หนังฉายภาพให้ดูว่าสงครามเปลี่ยนคนอย่างไร สงครามทำให้คนกล้า เกลียด ขี้ขลาด กลัว และมีความหวัง ทั้งหมดระบายอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยแทบไม่มีบทพูด
ฉากเรื่องสมจริง การถ่ายภาพสวยงาม ดนตรีอลังการ
ในท้ายเรื่องเราจะคุ้นกับคำที่เราบางคนอาจได้ยินมาก่อน สุนทรพจน์ของ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ พูดให้เรามองเห็นว่าในด้านพ่ายแพ้ก็มีด้านชนะ ในความมืดก็มีความสว่าง
“เราจะไปจนถึงที่สุด เราจะต่อสู้ในฝรั่งเศส เราจะต่อสู้ในทะเลและมหาสมุทร เราจะต่อสู้ด้วยความมั่นใจสูงขึ้น และเข้มแข็งขึ้น ในอากาศ เราจะป้องกันเกาะของเราไม่ว่าราคาจะเป็นเท่าไร เราจะต่อสู้บนหาดทราย เราจะต่อสู้บนพื้นดิน เราจะต่อสู้ในท้องทุ่ง บนถนน เราจะต่อสู้บนเขา เราจะไม่มีวันยอมแพ้”
นักเขียนโก้วเล้งหลังจากทำงานสร้างพล็อตซับซ้อนมานานปี เขาก็ลอกคราบจากนักเขียนพล็อตซับซ้อน สูงสุดคืนสู่สามัญ หันไปเล่าเรื่องเกี่ยวกับคน ความรู้สึก อารมณ์
และนี่ก็เป็นการลอกคราบของโนแลน
เชื่อว่าไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
หมายเหตุ :
1 ดูจากจำนวนรอบน้อยนิดของหนัง เมื่อเทียบกับ Transformers และ Wonder Woman แล้ว ก็รู้เลยว่านี่ไม่ใช่หนังที่นายทุนอยากให้เราดู (จะว่าไปแล้วโครงหนังเรื่องนี้ ถ้าไม่ติดยี่ห้อโนแลน รับรองไม่ได้สร้าง!) ดังนั้นใครสนใจ ก็ควรดูก่อนหนังออกจากโปรแกรม สังหรณ์ว่าไม่น่าจะอยู่นาน
2 สังหรณ์อีกอย่างว่า เรื่องนี้อาจได้ตุ๊กตาทอง Best Director + Best Picture
.………………..
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/winlyovarin/
เมื่อวานนี้พูดถึงหนัง Dunkirk (ออกเสียง ดังเคิร์ก ไม่ใช่ ดันเคิร์ก) ท่อนหนึ่งว่า ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่ติดยี่ห้อ คริสโตเฟอร์ โนแลน รับรองไม่ได้สร้าง
นี่น่าจะเป็นเรื่องจริง นายทุนฮอลลีวูดมีเงินเยอะก็จริง แต่ไม่ได้ให้เงินใครง่ายๆ
หากมิใช่เพราะ คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงอย่างยิ่ง ยากมากที่นายทุนจะโยนเงินให้ 150 ล้านไปสร้างหนังที่ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง
เชื่อว่านายทุนอาจยอมตามใจเขา ให้ทำหนังอาร์ตที่ชอบสักเรื่อง หลังจากนั้นก็ภาวนาสามวัดเจ็ดโบสถ์ให้เขากลับไปทำหนัง 'ตลาด' กว่านี้
ส่วนนายทุนไม่ค่อยแคร์หรอกว่างานจะชิงออสการ์สักกี่ตัว สนใจว่าจะทำเงินได้เท่าไร พวกเขาทำงานเป็นระบบ เป็นโรงงานอุตสาหกรรม เหมือนผลิตบะหมี่สำเร็จรูป
กรอบคิดแบบนี้ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกตีกรอบไปด้วย
วงการฮอลลีวูดทำหนังโดยตั้งเป้าที่กำไร ไม่ใช่ศิลปะ ไม่ได้ประกอบอาชีพสร้างหนังเพราะรักศิลปะ แต่เพราะเงินล้วนๆ
นี่คือธุรกิจ ซอร์รี! ศิลปะเป็นเพียงผลพลอยได้ หรือ by products!
ดังนั้นสตูดิโอหนังจะไม่ปล่อยอำนาจการควบคุม หากผู้กำกับไม่ทำเงินจริง หรือไม่แรงจริง
ตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาคือหนังเรื่อง Once Upon a Time in America ของ Sergio Leone ผู้กำกับฝีมือดีชาวอิตาเลียน เขาสร้างหนังยาวมาก ดำเนินเรื่องโดยไม่ลำดับเวลา สตูดิโอก็จัดการตัดต่อหนังให้ใหม่โดยที่ผู้กำกับได้แต่ใบ้รับประทาน เรียงลำดับเรื่องตามลำดับเวลา ราวกับว่าคนอเมริกันโง่ ดูหนังไม่ลำดับเวลาไม่เป็น และหั่นหนังให้สั้นลงอีก ปรากฏว่าหนังเจ๊ง กินเวลาอีกนานปีกว่าฉบับ Director's cut จะปรากฏโฉมในอเมริกา และถูกยกย่องว่าเป็นหนังระดับสุดยอดแห่งโลก
Sergio Leone ในเวลานั้นไม่ดังเท่าโนแลน จึงไม่มีอำนาจต่อรอง
กรณีของโนแลนเป็นแค่ความฟลุกของวงการที่เจออัจฉริยะผู้ทำหนังอาร์ตที่ทำเงินด้วย นายทุนจึงยอมให้เขาสนุกไป โดยไม่เข้ามายุ่มย่ามในเรื่องความคิดสร้างสรรค์
………………
โรงงานฮอลลีวูด 'don't give it damn' ว่าหนังดีหรือไม่ดี สนใจแต่ตัวเลขการตลาด
พวกเขาคิดเป็นสูตร หากหนังดังก็ทำภาค 2 ถ้าภาค 2 ยังมีคนชอบ ก็สร้างไปเรื่อยๆ ถ้าพระเอกตายก็โคลนขึ้นมาใหม่ ถ้าโคลนไม่ได้จริงๆ ก็สร้าง prequel
สร้างครบสิบปียี่สิบปี ก็รีบูต กระตุ้นใหม่อีกรอบ ใช้ไฟชอร์ตตัวแฟรงเกนสไตน์ให้มันคืนชีพขึ้นมาใหม่
พวกเขาจะแฮปปี้มากหากได้ไอเดียที่ทำเงินยาวๆ สักเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น Fast and Furious ผู้สร้างคงไม่คาดว่ามันจะฮิตขนาดนี้ เมื่อฮิตก็สร้างภาคต่อ และขยายขอบเขตให้หนังมีชีวิตรอดต่อไปอีกร้อยปี เปลี่ยนโทนหนังให้เป็นหนัง เจมส์ บอนด์ หากถึงภาคที่ 50 คนเบื่อแล้ว ก็ให้มนุษย์ต่างดาวลงมาขับรถแข่งแทน
ล่าสุดสตูดิโอยินดีปรีดาที่บังเอิญหนัง John Wick โกยเงิน คงได้สร้างอีก 20 ภาคแน่นอน เชื่อหัวไอ้เรืองเต๊อะ!
ดังฉะนี้เราจะได้ดู Spider-Man, Captain America, Wonder Woman, Daredevil ฯลฯ อีกหลายรอบ และเมื่อกระแสเฉื่อยของ Transformers จางหาย ก็จะรีบูตขึ้นมาใหม่อีกรอบ
I'll be back!
นี่มิได้บอกว่าหนังในวงจรนี้เลวร้ายทั้งหมด (Wonder Woman ก็สนุกดี) แต่บอกว่าความหลากหลายหายไป ความกล้าที่จะทำของใหม่สดลดลง
วิธีคิดแบบนี้ทำให้งานรวมขาดความคิดสร้างสรรค์อย่างที่ควรเป็น ไม่หลากหลายเมื่อเทียบกับจำนวนหนังในตลาด
นายทุนฮอลลีวูดก็ไม่ต่างจากนายทุนหนังบ้านเรา เป็นโรคไม่กล้าเสี่ยง (No-Risk Syndrome) ดังนั้นเราก็จะได้หนังแบบเซมเซมไปอีกนาน ฝรั่งดูหนังซูเปอร์ฮีโร่ปีละ 50 เรื่อง
ส่วนคนไทยดูละครผู้หญิงแย่งพระเอก และพระเอกข่มขืนนางเอกต่อไป
เพราะโรค No-Risk Syndrome รักษายากจริงๆ
.………………..
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/winlyovarin/
ผมไม่ใช่นักดูหนัง แค่ชอบอ่านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่สอง
Dunkirk นี่เป็นจุดเปลี่ยนของสงครามเลยครับ คนส่วนมากนึกถึงการยกพลขึ้นบกที่ Normandy แต่ถ้าที่ Dunkirk ทหารอังกฤษกับสัมพันธมิตรถูกกวาดล้างจับไปหมด ก็จะไม่สามารถรวมกำลังกลับมาที่ขึ้นบกที่ยุโรปใหม่ เรียกว่าเป็นการถอยเชิงยุทธศาตร์ที่ชี้ขาดผลของสงครามได้เลย ส่วนเบื้องหลังเท่าที่ผมเคยอ่าน ฮิตเล่อร์ก็ไม่ได้ต้องการไล่ต้อนอังกฤษให้จนมุมซะทีเดียว คล้ายๆกับพยายามญาติดีกับอังกฤษด้วยซ้ำถึงได้ปล่อยทหารอังกฤษถอยทัพไปเกือบหมด ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางการเมือง (ตอนเริ่มต้นสงครามฮิตเล่อร์มอง อเมริกากับอังกฤษเป็นพวกผมทองตาฟ้าเหมือนกัน) แต่สุดท้ายฮิตเล่อร์ก็ดึงอเมริกากับอังกฤษมาเป็นพวกไม่ได้ แถมยังไปเปิดแนวรบที่สองกับโซเวียตทำให้แพ้ไปในที่สุด
ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาถึงยุคปัจจุบัน ถอยหลังไปก็จะประมาณนี้
- ยุคปัจจุบัน โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคหลายขั้วอำนาจ ฝรั่งเรียก tectonic shift แกนโลกเริ่มเอียง ศูนย์กลางอำนาจ เริ่มย้ายจากอเมริกามาสู่ส่วนอื่นของโลกโดยเฉพาะเอเชีย อเมริกาเริ่มที่สูญเสียอำนาจทั้งการเงิน และการปกครองที่ต้องออกแรงใช้กำลังทหารมากขึ้นเพราะพูดแล้วไม่มีใครฟังเหมือนก่อน
- ยุคมหาอำนาจหนึ่งเดียว เกิดจากหลังสงครามเย็น โซเวียตศัตรูหนึ่งเดียวล่มสลาย ว่ากันว่า อเมริกาถึงกับไปไม่เป็นเพราะไม่เหลือศัตรูในโลกให้สู้อีกแล้ว หลังจากหายมึนอเมริกาก็ขยายฐานทัพไปทั่วโลก และเข้าสู่จุดสูงสุดของอำนาจในยุค New World Order ประมาณช่วงบุชคนพ่อ
- ยุคสงครามเย็น หลังสงครามโลกจบลงสัมพันธมิตรใหญ่สองค่ายคือ เสรีนิยม กับ คอมมิวนิสต์ ก็หันมาเผชิญหน้ากันเอง ซึ่งตามจริงสองสองค่ายนี้ระแวงกันอยู่แล้ว เพียงแต่มีศัตรูร่วมกันคือเยอรมัน ดังนั้นทันทีที่เบอร์ลินแตก รถถังอเมริกันกับโซเวียตก็หันกระบอกปืนเข้าหากันทันที จนเกิดเป็นเส้นแบ่งเบอร์ลิน ตะวันตก ตะวันออกในเวลาต่อมา
- สงครามโลกครั้งที่สอง จบลงด้วยชัยชนะสัมพันธมิตร หลักๆคืออเมริกากับโซเวียต ซึ่งในช่วงสงครามหลังจากปล่อยให้อังกฤษ กับยุโรปฟัดกันจนพินาศและเยอรมันหมดแรงเพราะเปิดศึกอีกด้านกับโซเวียต อเมริกาก็เข้าสงครามในช่วงท้ายๆและเป็นตัวเปลี่ยนเกม เพราะทรัพยากรและขนาดกองทัพที่ใหญ่มาก ขนาดเปิดศึกได้สองฝั่งมหาสมุทร เพราะอเมริกาสู้กับทั้งญี่ปุ่นทางฝั่ง Pacific และสู้กับเยอรมันฝั่งยุโรป
หนังใช้ฉากหลังเป็นสงครามฝั่งยุโรปนี่แหละครับ ในจำนวนหลายสมรภูมิ Dunkirk ซึ่งเป็นสมรภูมิที่สำคัญและเทียบเทียบเท่ากับการยกพลขึ้นบกที่ Normandy หรือ การรบประจัญบานที่ Stalingrad แต่สาเหตุที่ไม่ค่อยมีคนพูด อาจเพราะเป็นการถอยทัพและก็มีเบื้องหลังทางการเมืองด้วย
สงครามเริ่มจาก ฮิตเลอร์เข้ายึด Poland (1939) อังกฤษและสัมพันธมิตรส่งกำลังมาช่วยแต่ก็ต้านไม่อยู่ ฮิตเล่อร์ไล่บุกยึด ฝรั่งเศษ เนเธอแลนท์ เบลเยี่ยม และยุโรปไปจนเกือบหมด อังกฤษถอยกลับไปตั้งหลัก รอการกลับมาใหม่พร้อมการมาถึงของอเมริกาซึ่งแอบช่วยแบบเงียบๆมาตลอด แต่กว่าจะมาช่วยจริงก็ช่วงท้ายของสงครามแล้ว (1944) โดยอเมริกามีขนาดที่ใหญ่เป็นตัวแปรสำคัญของสงครามขนาดฮิตเล่อร์ก็ไม่อยากเป็นศัตรูด้วยในตอนแรก
อเมริกานั้น ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สองแทบไม่เคยส่งทหารออกไปรบจริงจังนอกประเทศเลย ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆก็ล้าหลังมาก อย่างรถถังอเมริกันก็เล็กและบางกว่ารถถังเยอรมันหลายเท่า เล่ากันว่าต้องใช้ถึง 4 คันในการสู้กับรถถังเยอรมันคันเดียว ทหารราบก็ไม่มีประสบการณ์ในการรบ จนแม้แต่สัมพันธมิตรด้วยกันเช่นอังกฤษยังดูถูก
แต่สิ่งที่อเมริกามีแต่ประเทศอื่นไม่มีคือขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มหาศาล ดังนั้นทันทีที่ตัดสินใจเข้าสงคราม โรงงานผลิตข้าวของเครื่องใช้ก็เปลี่ยนหันมาผลิต อาวุธ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพอย่างมากจากตลาดเสรีสามารถย้ายมาสนับสนุนสงครามได้อย่างคาดไม่ถึง (อาวุธและการยุทธภัณฑ์ต่างๆส่วนมากผลิตโดยเอกชน) และภายในไม่กี่ปีของสงคราม อเมริกาก็สามารถพัฒนากองทัพ รวมถึงจิ๊กเทคโนโลยีทางทหารของเยอรมันไปต่อยอดจำนวนมาก และอาศัยขนาดกองทัพที่ใหญ่กว่าเอาชนะเยอรมันได้ในที่สุด
ส่วนอังกฤษเองที่เคยถือตัวว่าเป็นมหาอำนาจเก่ามาก่อน กลับไม่ได้มีบทบาทหลักในสงครามเพราะ แนวรบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตามยุค โดยก่อนหน้านั้นในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งการสู้รบทำในสนามเพลาะเป็นหลัก ยิ่งขุดได้ยาวและลึกยิ่งได้เปรียบ พอจบสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอังกฤษจึงได้สร้างเครื่องจักรขุดสนามเพลาะขนาดใหญ่มากไว้ 3-4 เครื่อง และคาดว่าถ้ามีสงครามอีกตัวเองต้องได้เปรียบมากแน่ๆ แต่สงครามโลกครั้งที่สองกลับมาพร้อมกับรถถังรุ่นใหม่ที่เบาและวิ่งได้เร็วของเยอรมัน ทำให้สนามเพลาะที่ขุดไว้หมดประโยชน์ และอังกฤษก็ถูกไล่ตกทะเลที่ Dunkirk ในที่สุด
ส่วนตัวหนังผมคิดว่าไว้ต้องหาโอกาสไปดูแน่ๆครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าหนังเดินเรื่องไปแนวไหน รู้แต่ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามโลก และจุดเปลี่ยนนี้ก็ส่งผลมาถึงการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของอเมริกา และหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นก็เหลืออเมริกาประเทศเดียวที่ใหญ่สุด สามารถกำหนดนโยบายแทรกแซงการเมืองประเทศต่างๆทั่วโลกได้เกือบหมด
http://www.truthdig.com/report/item/dunkirk_greatest_moment_biggest_disgrace_british_history_20170721
--> ต่อจากนี้ไม่เกี่ยวกับหนังและกระทู้แล้วนะครับ ขออภัยทีี่เขียนต่อเพราะติดลม สามารถเลื่อนข้ามได้เลยครับ
ถ้าถอยหลังไปช่วงเหตการณ์ก่อนหน้าในหนังอีก ก็จะพบว่าในช่วง 500 ปีก่อนหน้านี้ พวกฝรั่งเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาจากยุคกลาง (-1500 ถึง -500) เข้าสู่ยุคฟื้นฟู (-700 ถึง -300) และเจริญเเร็วมากหลังจากการปฎิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีก่อน ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นเจ้าโลก ไล่ลำดับก็มี สเปน โปรตุเกศ ดัตช์ ฝรั่งเศษ อังกฤษ จนมาถึงอเมริกา ซึ่งแต่ละประเทศ ก็มีช่วงเวลายิ่งใหญ่สักประมาณ 1-200 ปีก่อนจะค่อยๆเสื่อมและถอยกลับไปจนไม่เหลือความเป็นมหาอำนาจอยู่อีก
จะเห็นว่าฝรั่งเพิ่งมาเจริญในยุคใหม่นี้แค่ราวๆ 500 ปี โดยก่อนหน้าบางครั้งก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเปอร์เซียอย่างยาวนาน ซึ่งระหว่างนั้นแต่ละส่วนของโลกก็มีอารยธรรมของตัวเอง และผลัดกันสร้างวิทยาการด้านต่างๆทิ้งไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะชาวจีนที่ประดิษฐ์เป็นเข็มทิศ กระดาษ หางเสือเรื อ ชาวอาหรับ คิดค้น พีชคณิต (ตัวเลขอารบิกที่เห็นบนหน้าจอนี้รวมถึงระบบเลขฐานสิบและวิธีการคำนวน) เครื่องมือกล เพลา การดูดาว ซึ่งวิทยาการในช่วง 2-3000 ปีก่อนหน้านี้เองที่เป็นรากฐานให้กับการเข้าสู่อุตสาหกรรม และยุคสารสนเทศ จนมามี iphone ipad ในปัจจุบัน