
ปี พ.ศ. 2533 ปีแห่งความทรงจำของใครหลายคน ปีแห่งการเริ่มต้นทศวรรษ 90’s ปีที่เบิร์ดธงไชยออกอัลบั้มบูมเมอแรง แล้วดังระเบิดด้วยยอดขายเทป 2 ล้านตลับ เช่นเดียวกับคริสติน่า อากีล่าร์ กับอัลบั้มชุดแรกที่โกยยอดขายเกินล้านตลับ เป็นศิลปินหญิงคนแรกของแกรมมี่ที่มียอดขายเทปสูงที่สุดในขณะนั้น หนังเจ๊จูบานฉ่ำก็มาแรง เพลงโน้โค้กกลายเป็นเพลงประจำดิสโก้เธค ละครคู่กรรมที่เบิร์ดธงไชย เล่นคู่กับกวางกมลชนกก็ดังมาก เหตุการณ์ในความทรงจำที่เศร้าสลดของใครหลายคน อย่างอุบัติเหตุแพล่มที่เขื่อนอุบลรัตน์ หลังจากนั้นแค่หนึ่งวันก็เกิดเหตุการณ์รถแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่กลายเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่คนในยุคนั้นไม่มีวันลืม
ในวงการเครื่องเสียงของไทยในขณะนั้น กระแสความนิยมเครื่องเสียงบ้านตระกูลมินิไฮไฟ หรือ มินิคอมโป กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนเมืองยุคใหม่ ด้วยขนาดที่กะทัดรัด สามารถจัดวางในห้องที่มีขนาดเล็กได้ ดีไซน์ที่สวยงามเสมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งของบ้าน คุณภาพเสียงที่ใกล้เคียงกับเครื่องเสียงรุ่นใหญ่ในราคาที่ถูกกว่ากันเกือบครึ่ง ทำให้เครื่องเสียงตระกูลมินิคอมโปนั้น กลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
ซึ่ง Sony FH-E929 ที่ผู้เขียนนำมารีวิวในวันนี้ เป็นมินิคอมโปรุ่นทอปเจนเนอเรชันที่สองในตระกูล Sony Super FH ในปี 2533 หลังจากที่โซนี่เปิดตัว Super FH เจนเนอเรชันแรกเมื่อหนึ่งปีก่อน ภายใต้คอนเสปต์ “Lay Out Free” ดีไซน์ตัวเครื่อง จัดวางได้อย่างอิสระ มาพร้อมฟังก์ชัน Digital Parametric Equalizer ระบบปรับอีควอไลเซอร์แบบดิจิตอล พร้อมโหมดเสียง Surround รอบทิศทาง และ วงจรเพิ่มเสียงเบสแยกพิเศษ Super Acoustic Turbo (SAT) ราคาของ E929 ในขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 20,000 – 22,000 บาท โดยมีแอมป์พลิฟายเออร์ วิทยุ และเครื่องเล่นเทปแบบเดี่ยวเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน หากต้องการเครื่องเล่นซีดีต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 7,000 บาท รวมๆ แล้วก็ถือว่าแพงมากในยุคนั้น ในช่วงที่ราคาทองคำยังไม่แตะหลักหมื่นบาทเหมือนในยุคนี้ ส่วน E929 ตัวที่จะรีวิวในวันนี้ ได้มาในราคาหลักพันจากช่างซ่อมท่านหนึ่งแถวชลบุรี โดยที่ให้ช่างจัดการทำความสะอาดแผงวงจร ซ่อมวิทยุ ซ่อมระบบเทป และปะลำโพงให้เรียบร้อย