โลกดนตรี East Meets West ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่โลกโหยหา Giovanni Mirabassi ศิลปินผู้แผ่ขยายอาณาเขตทางดนตรีในแบบ Romance is the key ได้ทำให้เราได้ร่วมชื่นชมผลงานที่จัดว่าสวยงามอัลบั้มหนึ่งแห่งทศวรรษนี้
ผมเป็นคนชื่นชอบศิลปินที่พยายามยกระดับผลงานให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจตลอดเวลาเพราะต้องยอมรับว่า ศิลปินคนหนึ่งๆหากจะทำให้แฟนๆคอยติดตามได้ตลอดนับสิบๆปีนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มี Creativityไม่หยุดนิ่งดังนั้นการหา Direction ทางดนตรีในแต่ละชุดจึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากที่โปรดิวเซอร์และตัวศิลปินเองต้องทำการบ้านมากทีเดียว สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ได้คำตอบมานั้นผมพบว่าตัวศิลปินเองจะต้องรักที่จะเดินทาง เสาะหาวัตถุทางดนตรีจากซีกโลกหนึ่งไปสู่อีกซีกโลกหนึ่งเพื่อเปิดวิสัยทัศน์ ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จาก “สิ่งที่ตัวเองเคยรู้” ไปสู่ “สิ่งที่ตัวเองไม่รู้” เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบใหม่ๆเสมอ
ตัวอย่างง่ายๆเลยเช่น Charlie Byrd นักกีตาร์คลาสสิคที่หันมาให้ความสนใจในดนตรีแจ๊สแล้วนำเทคนิคที่เล่นอยู่บนกีตาร์สายเอ็นมาถ่ายทอดผลงานดีๆมากมายในรูปแบบแจ๊ส รวมไปถึงการชอบแบ่งการเล่นโชว์ของเขาเป็นคลาสสิคครึ่ง แจ๊สครึ่งอยู่เสมอนำมาซึ่งความประทับใจแก่แฟนในทั้งสอง Genres (แนวเพลง) และที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการมีส่วนในการสร้าง Bossa Nova Movement ใน North America ในต้นยุค 60’s จากการได้เดินทางไปแสดงในบราซิลในช่วงปี 1961 ที่ในครั้งนั้นดนตรี Bossa Nova ซึ่งพัฒนาโดย Antonio Carlos Jobim, Joao Gilberto, Vinicius de Moraes กำลังเปรียบเสมือนไฟลามทุ่งในดินแดนแห่งลุ่มน้ำอเมซอนแห่งนี้ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของ Charlie Byrd ตลอดไปเมื่อเค้ากลับไปสหรัฐด้วยสกอร์และแผ่นเสียงของ Antonio Carlos Jobim และได้เชิญชวนให้ Stan Getz มือเทเนอร์แซ็กตำนานได้ร่วมตกลงปลงใจที่จะออกผลงานร่วมกันในชุด Jazz Samba จนทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเสียงเพลงแห่งเกลียวคลื่นทุกหัวระแหงจากหาด Rio de Janeiro และส่งต่อไปยังชาวโลกจนถึงทุกวันนี้ “จากคลาสสิคสู่แจ๊ส จากแจ๊สสู่บอสซาโนว่า” ดังนั้นหากเราต้องการเอาดีในโลกดนตรีสมัยใหม่แล้ว “การเปิดตาเปิดใจ” จะเป็นคำตอบในการสร้างสรรค์ผลงานให้กับเราใหม่ๆเสมอครับ
Giovanni Mirabassi ก็คงมีชีวิตที่โลดแล่นไม่ต่างจากศิลปินแจ๊สมากมายในโลกนี้ที่ชีวิตของเขาคือการเดินทาง นับตั้งแต่เกิดในเมืองเปรูจา อิตาลี เล่นร่วมกับศิลปินระดับโลกมากมายต่างวัฒนธรรมต่อมาก็ได้ย้ายถิ่นฐานไปปารีสจนเรียกตัวเองเป็น Frenchman เริ่มเล่นอาชีพขณะที่อายุเพียง 17 ปี และที่สำคัญร่วมงานกับ Chet Baker, Steve Grossman ได้รับรางวัลเป็นเกียรติ Grand Prix และ Best Soloist ที่ the Concours International de Jazz d’Avigon (1996) และสุดยอดรางวัลของฝรั่งเศสอย่าง Django d’Or of the best young talent and a Victoires du Jazz (2002) ที่ได้จากงานโซโล่อัลบั้ม Avanti ที่มีแรงบันดาลใจในปฏิวัติทางการเมืองจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนในอาชีพนักดนตรีมีผลงานกว่า 20 อัลบั้ม เขามักเดินทางไปสถานที่ที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรมเพื่อผลิตผลงานที่สะท้อนถึงดินแดนที่ได้บันทึกผลงานเช่น Adelante ที่บินไปถึงกรุงฮาวาน่าเพื่อบันทึกงานโซโล่พร้อมกันศิลปินชาวคิวบาอันมีเนื้อหาทางการเมืองและคงไม่มีเมืองใดที่ฝังรากวัฒนธรรมการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นและคลาสสิคไปนอกจากที่นี่คิวบา (น่าจะไปเปียงยางอีกประเทศเร็วๆนี้ 555) อีกแล้ว
ในปี 2011 Giovanni Mirabassi Trio พร้อมด้วยมือเบสจากนิวยอร์คและ Arranger คู่ใจ Gianluca Renzi อดีตมือเบสยอดเยี่ยมของยุโรป และมือกลองคิวบา Lukmil Perez Herrera ที่พำนักอาศัยในยุโรปพร้อมด้วย Conductor Lorenzo Pagliei ได้ไปแสดงที่ Goyang Aram Nuri Concert Hall ในเกาหลีใต้พร้อมด้วยการ Back up โดยวง Bee String Orchestra กับ 31 ชีวิตนักดนตรีชาวเกาหลีใต้ทั้งหมดและบันทึกเป็นผลงานในอัลบั้มที่ชื่อว่า Viva V.E.R.D.I ซึ่ง Giovanni บอกว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับผลงานของนักประพันธ์คลาสสิค Verdi เลยแต่มันเกี่ยวกับปฏิวัติทางการเมือง (บ้าการเมืองเหมือนบ้านเราจริง 555) ในอิตาลีเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ต่างหากในชื่อ Viva Vittorio Emanuele Re D’Italia แต่แค่มันมีนัยได้สองความหมายเท่านั้น
ซึ่งจะว่าไปแล้วจุดเริ่มต้นของอัลบั้มนี้เกิดขึ้นเมื่อ Giovanni ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่เฉลิมฉลองงานดนตรีครบ 150 ของการรวมความเป็นปึกแผ่นทางการเมืองของอิตาลีด้วยบทเพลงของ Verdi ที่ Conduct โดย Riccardo Muti โดยการแสดงดังกล่าวได้เล่นจบลงต่อหน้าอดีตนายกรัฐมนตรีแบรุสโคนี่ที่กำลังมีคดีคอร์รัปชั่นอื้อฉาวอยู่ในขณะนั้นและผู้คนใน Rome Opera ได้ร้องตะโกนคำขวัญปลุกใจในเหตุการณ์ทางการเมืองว่า Viva V.E.R.D.I อย่างกึกก้อง ก็ไม่รู้ว่าแบรุสโคนี่จะยังนั่งอยู่หรือเดินออกไปเลย
การประสานความร่วมมือทางดนตรีในครั้งนี้ระหว่างยุโรปและเอเชียที่มีคนฟังชาวเกาหลีใต้แน่นฮอล์และรอคอยกับการแสดงครั้งนี้ได้ทำให้เราได้มีโอกาสสัมผัสงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่อีกอัลบั้มที่มีความยาวกว่า 65 นาทีกับ 8 บทเพลงที่ประพันธ์โดย Giovanni 5 เพลงกับมือเบสอีกหนึ่งเพลงและงานของปรมาจารย์จากบราซิล Hermeto Pascoal ในเพลง Bebe และจบด้วยเพลง Arirang ที่ได้กลายเป็นบทเพลงที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกว่าเป็น Korea’s Unofficial National Anthem แล้วโดยผ่านการเรียบเรียงจากมือเบส (ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยทื่มือเบสจะทำหน้าที่ในส่วนนี้ซึ่งรวมถึงการเรียบเรียงสกอร์ให้กับวงออเคสตร้าอีกด้วย ไม่ธรรมดาจริงๆ)
ต้องบอกว่าเมื่อฟังทั้งอัลบั้มนี้เปรียบเสมือนฟังหนัง Soundtrack จากภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ดีๆเรื่องหนึ่งที่มีฉากเดินเรื่องที่นุ่มนวลเสนาะหูและด่ำดิ่งลงสู่ความเศร้าสร้อยไปจนถึงเร่งเร้าด้วยงานเครื่องสายสวยๆที่ทำให้หัวใจเราพองโตไปกับงานอลังการเช่นนี้ การโซโล่ของเบสและกลองที่กระชับและตื่นเต้นในฮอล์ที่มีภาคอคูสติกที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทำให้ยิ่งเพิ่มดีกรีความดื่มด่ำไปอีกหลายเท่า เมื่ออัลบั้มเดินทางมาถึงจุดสูงสุดก็จบด้วย Arirang เพลงที่ทุกคนในฮอล์ไม่ได้คาดคิดแต่แน่นอนคงได้มีการตระเตรียมกับทีมงานอยู่แล้วว่าจะจบโชว์ในครั้งนี้ด้วยอะไรที่น่าจะไม่ต่างจากบ้านเราที่หากศิลปินชั้นนำที่จะจบด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงอย่างไรก็อย่างนั้น
Giovanni Mirabassi Trio with Bee String Orchestra ในอัลบั้ม Viva V.E.R.D.I จึงเป็นอีกตัวอย่างสำคัญของศิลปินที่ไม่หยุดนิ่งในการเติมเต็ม สร้างสรรค์ผลงานในทุกอัลบั้มให้มีอะไรใหม่ๆนำเสนอผู้ฟังอย่างผมครับ