Guest
หมวดหมู่ > เว็บบอร์ด จับฉ่าย

ช่องทางการติดต่ออื่น

  • Munkonggadget
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Contact Us

เหน่งบาตัดแปะ....มหาเลลา

เหน่งบา

03/07/2016 18:32:53
1,866



จากปืนใหญ่ใต้อ่าวปัตตานี สู่ตำนาน มหาเลลา ที่ถูกลืม

อาวุธปืนโบราณที่ถูกขุดพบระหว่างการลอกร่องน้ำแม่น้ำปัตตานี คืออีกหนึ่งความภาคภูมิของคนปัตตานีในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งมีมาอย่างช้านาน
ทั้งนี้ ประวัติราชอาณาจักรมลายูปตานี โดย ฮิบรอฮิม ซุกรี บันทึกไว้ภายหลังสยามยึดปัตตานีได้แล้วตอนหนึ่งว่า “(ในสมัยรัชกาลที่ ๑ สยามได้ทำสงครามกับปตานี และสยามเป็นฝ่ายมีชัย)เมื่อได้วางกฎหมายการปกครองเรียบร้อยแล้ว แม่ทัพสยามจึงมีคำสั่งให้ทหารสยามลงเรือรบกลับ พร้อมกับกวาดต้อนเชลยชายหญิงและทรัพย์สมบัติที่ยึดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนใหญ่สมัยรายาบีรูได้นำกลับเมืองสยาม ปัจจุบันปืนใหญ่กระบอกนั้นยังตั้งสง่าอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมที่กรุงเทพฯ และอีกกระบอกหนึ่งตกลงในทะเลที่ปากอ่าวปตานี”

นอกจากนั้น ครั้งที่นำปืนใหญ่พญาตานีเข้าสยาม มีจารึกสั้นๆ เป็นบทกลอนสะท้อนความรู้สึกของ “ประแดะ” มเหสีของท้าวประดู่ หญิงผู้ซึ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในกลุ่มของครัวแขกที่ถูกพ่วงมาด้วย

นางก็ไร้ญาติวงศ์พงศา หมายพึ่งบาทาพระโฉมศรี
โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มี อยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา

เพราะภาวะที่ทุกคนต่างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดกับเหตุการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การขุดคุ้ยตำนานความเป็นมาของปืนโบราณจึงเปรียบเสมือนจุดเทียนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวขึ้นมาอีกครั้ง

นอกจาก “ปืนพญาตานี” ซึ่งวันนี้ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานครแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ยังมีปืนพี่ปืนน้อง “ศรีนครา” และ “มหาเลลา” ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย

และทำให้มหากาพย์หน้าหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ปัตตานีนั้น ยังคงมีเศษเสี้ยวที่เป็นความลับซ่อนอยู่

หากอ้างอิงตำนานการสร้างปืนใหญ่พญาตานี ที่มาจากฐานข้อมูลอันหลากหลาย แม้จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันแน่ชัดคือ มีการสร้างปืนใหญ่ที่เมืองปัตตานี

ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า ในยุคที่ ปาตานีดารุสสลาม อยู่ภายใต้การปกครองของ 4 ราชินี คือ ราชินีฮิเญา( หรือ มัรฮูม ตัมบังงัน),ราชินีบีรู ราชินีอูงู และราชินีกูนิง ระหว่างปี 2159-2268

โดยระบุว่า ปืนใหญ่พญาตานี ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัย ราชินีบีรู เพื่อเตรียมรับมือกับการโจมตีของกรุงศรีอยุธยา

“อาณาจักรปตานียุครายาบีรูนั้น มีกระแสข่าวเสมอว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามกำลังตระเตรียมทัพใหญ่เพื่อยาตราทัพมาโจมตีอาณาจักรปะตานี...เพราะเหตุว่ากองกำลังชาวสยามนั้นมีความพร้อมยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนใหญ่ที่มีพิษสงร้ายแรง ตรงกันข้ามกับกองทัพอาณาจักรปตานีไม่มีความพร้อมที่จะใช้อาวุธ...เมื่อทรงมองเห็นภัยอันตรายและจุดอ่อนดังกล่าว รายาบีรูจึงทรงปรึกษาหารือกับเสนาบดีผู้ใหญ่เพื่อหาทางเตรียมอาวุธให้ครบครัน...บรรดาเสนาบดีผู้ใหญ่ต่างยอมรับข้อเสนอของรายา และจากบัดนั้นเป็นต้นมานายช่างก็ลงมือหล่อปืนใหญ่...การหล่อปืนใหญ่ดังกล่าวสำเร็จผลเป็นอย่างดี เพราะนายช่างหล่อปืนนั้นเป็นชาวจีนชื่อ ลิ่มโกเคี่ยม ต่อมาเข้ารีตเป็นมุสลิมด้วยความสมัครใจและมีนามว่า โต๊ะเคี่ยม อาศัยอยู่กับเสนาบดีผู้ใหญ่ของรายา เนื่องจากอัธยาศัยอันดีงามจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เก็บภาษีเข้าออกที่ท่าเรือปากอ่าวนครปตานี”

ในครั้งนั้นมีการหล่อปืนใหญ่ขึ้น 3 กระบอก คือศรีปาตานี,ศรีนาฆารา และมหาเลลา โดย 2 กระบอกแรกมีความยาวเท่ากันที่ 3 วา 1 ศอก 1 คืบ 2 นิ้วครึ่ง กระสุนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 11 นิ้ว ส่วนกระบอกสุดท้ายที่สั้นที่สุดและไม่รู้ว่า ณ วันนี้อยู่ที่ไหน สร้างเสร็จหรือไม่มีบันทึกไว้ว่ายาว 5 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว กระสุนเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว

ปืนพญาตานีเป็นปืนเด่นที่สุดด้วยความเป็นมาที่มีสีสันกว่าปืนกระบอกอื่น เอกสารทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงประวัติของปืนกระบอกนี้ว่า ครั้งนั้นหล่อปืนขึ้นทั้งหมด 3 กระบอก สองกระบอกแรกสำเร็จด้วยดี เหลือแต่กระบอกที่สามพยายามหล่ออยู่หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงตั้งโต๊ะเซ่นไหว้เอาชีวิตของตนถวายถ้าหล่อปืนได้สำเร็จ ปรากฏว่าเมื่อหล่อได้แล้วนายช่างหล่อปืนจึงไปยืนหน้ากระบอกปืนแล้วจุดทดลองยิง เมื่อปืนลั่นก็พาร่างของเขาลอยหายไปในอากาศ นอกจากนั้นปืนกระบอกนี้ยังมีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในบรรดาปืนที่จัดวางไว้ที่นี่ ใช้วัสดุสำริด ส่วนท้ายปืนเป็นรูปสังข์ปลายงอน ที่เพลามีรูปราชสีห์ บนกระบอกปืนมีจารึกว่า ”พญาตานี” มีห่วงสำหรับยก 4 ห่วง มีรูชนวนบริเวณท้ายปืน ความยาว 6.82 เมตร ตั้งอยู่บริเวณสนามฝั่งทิศใต้
เพราะฉะนั้น การค้นพบปืนโบราณที่บริเวณปากอ่าวปัตตานีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา จึงสร้างความปลื้มปีติให้แก่คนปัตตานีเป็นอย่างมาก

รศ.ดร.ครองชัย หัตถา นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ผู้ทำรายงานการศึกษาสำรวจเพื่อขยายฐานความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า

“ปืนที่พบไม่น่าจะเป็นปืนมหาเลลา เพราะมีลวดลายวิจิตรประณีต และยังมีล้อที่บ่งบอกว่าสามารถหมุนตัวกระบอกปืนได้ โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นปืนประจำเรือที่ติดอยู่กับสำเภามากกว่า เนื่องจากปืนรบอย่างศรีนคราหรือมหาเลลานั้น เป็นปืนที่สร้างมาเพื่อศึกสงคราม ไม่มีลวดลาย”

“และเนื่องจากไม่พบประวัติการสูญหายทำให้ตีความยาวกว่าใครเป็นผู้ผลิต สร้างเมื่อไร อีกทั้งปืนฝังอยู่ใต้พื้นดินกว่า 5 เมตรนั้น คาดการณ์ได้ว่าน่าจะมีอายุประมาณ 2-3 ร้อยปี แต่คงจมมาได้สัก 100 ปี นอกนั้นหลักฐานที่พบไม่สามารถบอกประวัติได้เลย แต่ก็สามารถพิสูจน์ประวัติศาสตร์ได้ว่าปัตตานีในอดีตนั้นมีความเจริญรุ่งเรือง มีการค้าขายทางเรือ และผลิตปืนใหญ่ส่งออกด้วย”

ถึงกระนั้น อ.ครองชัย ให้ความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญในการพบปืนใหญ่โบราณคือลวดลายบนกระบอกปืนที่ผสมผสานศิลปะมลายูท้องถิ่น จีน อาหรับ ลายไทยและตะวันตก (ฮอลันดา)

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้หล่อปืนพญาตานีจำลอง เพื่อนำกลับมาไว้ที่ จ.ปัตตานี แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ได้เริ่มต้น ผมหวังว่าหากมีการค้นหาปืนใหญ่ศรีนคราที่ทางตำนานบอกว่าจมอยู่ในทะเลปัตตานีกว่า 500 ปี รวมถึงปืนโบราณต่างๆที่คาดว่าน่าจะมีอีกมากที่อยู่ใต้พื้นทะเล จะสร้างความภูมิใจให้กับคนปัตตานี และทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อไปได้” นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์กล่าว

และเมื่อย้อนดูขนาดของปืนมหาเลลาที่บันทึกไว้ว่ามีความยาว 5 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว กับ ความยาวกว่า 2 เมตรของปืนใหญ่กระบอกนี้ อีกทั้งลวดลายที่คล้ายคลึงกับปืนใหญ่พญาตานี ซ่อนประวัติศาสตร์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในยุคปัตตานีดารุสสลามไว้อย่างน่าค้นหา

จากหนังสือ ฮิกายัตปาตานี ระบุว่า ตอนที่พวกปาเล็มบัง มาโจมตีปาตานีทั้งสองครั้งนั้น พวกปาเล็มบังไม่สามารถเข้าประชิดกำแพงเมืองได้เลย เพราะบนกำแพงเมืองปาตานีมีปืนใหญ่วางเรียงรายเป็นแถว ห่างกันกระบอกละ 1 วาเท่านั้น

“ตอนที่ฝรั่งชนชาติฮอลันดามาถึงปาตานีใหม่ๆนั้น บางคนได้รายงานเปรียบเทียบวังปาตานีกับวังเมืองอัมสเตอร์ดัมในฮอลันดาว่า วังของเมืองปาตานียาวกว่าวังของเมืองอัมสเตอร์ดัม แต่ในด้านกว้าง วังอัมสเตอร์ดัมกว้างกว่าวังเมืองปาตานี ส่วนปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าประตูเมืองปาตานีนั้นใหญ่กว่าปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าประตูวังที่อัมสเตอร์ดัม”

เพราะฉะนั้น หากปืนใหญ่ที่พบหน้าปากอ่าวปัตตานีไม่ใช่ปืนใหญ่มหาเลลา ก็อาจจะเป็นปืนใหญ่โดยทั่วไปที่วางเรียงรายเป็นแถวห่างกันกระบอกละ 1 วา หรืออาจจะเป็นแค่สินค้าส่งออกเท่านั้น

ในขณะที่บางตำนาน เล่าขานกันว่าปืนมหาเลลาสร้างไม่เสร็จบ้าง กระบอกปืนแตกบ้าง หรือเป็นปืนที่โดนสาปบ้าง

แต่ถึงกระนั้น ตำนานปืนใหญ่ไม่ว่าจะถูกจารึกบันทึกขีดเขียนแตกต่างกันมากน้อยตามความเข้าใจอย่างไรนั้น ยังไม่สำคัญเท่าประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีที่มี เรื่องราวของราชินีผู้ยิ่งใหญ่ และสัมพันธภาพระหว่างปัตตานีกับสยาม

ซึ่งไม่ว่าปืนที่ขุดพบคือมหาเลลาหรือไม่ ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด คือปืนใหญ่ได้กลับมาแล้ว 1 กระบอก
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 1

Draco

04/07/2016 00:18:00
424
ประวัติศาสตร์ที่มารวมเป็นชาติไทย อ่านแล้วทำให้รู้สึกว่าผมรู้น้อยมาก เราไม่ค่อยได้รับรู้กันเลยถึงส่วนอื่นๆนอกจากอยุธยากับธนบุรี
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 2

history

04/07/2016 00:45:15
ถ้าเราไม่อคติ และยอมรับ เปิดใจ เรียนประวัติศาสตร์ไทย นอกเหนือจากการบันทึกประวัติศาสตร์ ของ "ผู้ชนะ" เราจะรู้อะไรหลายอย่าง

ผมทำงานเกี่ยวกับภาควิชาประวัติศาสตร์ไทย ระดับชั้น ป.โท ศึกษา พงศาวดาร พม่า รัฐปัตตานี ลาว กัมพูชา
ทำให้รู้ว่า

1.ประเทศไทย แท้จริงไม่ใช่ สุโขทัย> อยุธยา >รัตนโกสินทร์ (โดยเฉพาะช่วงเวลาสุโชทัยมาถึงอยุธยา)
2.ไทยไม่ได้รักสงบมาแต่โบราณ
3.เพื่อนบ้านไม่ได้รักเราอย่างที่เขาสอนกันมา
4.เราขโมยอะไรมาเยอะจากเพื่อนบ้าน

และอีกมากมายจริงๆ ซึ่งน่าเสียดาย เพราะคงไม่ได้เผยแพร่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ ในระดับอุดมศึกษา ของไทย ด้วยเหตุผล ทางการปกครองของบ้านเรา ที่หลายๆคนน่าจะรู้เบื้องลึกกัน
ว่า ทำไม เหตุใด และ เพราะอะไร

ประเทศใดจะพัฒนาได้ต้องรู้ว่าตนเคยเลวร้าย หรือทำอะไรมาผิดพลาดมาบ้าง และเรียนรู้จากมัน แก้ไข ไม่ใช่หมกไว้ใต้พรม
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 3

nan79

04/07/2016 11:32:48
2
อย่าเอาอะไรมากกะการรับรู้ประวัติศาสตร์ไทย อย่างคุณหญิงโมเนี่ยก็เคยมีเคสมาแล้ว แล้วก็ตัวบุคคลหลายคนเหมือนกันที่พิสูจน์กันแล้วหาหลักฐานตัวตนไม่ได้ แต่ดันมีคนทรง ประเทศเราไม่ได้เรียนรู้กันด้วยข้อเท็จจริง แต่เรียนรู้กันด้วยความเชื่อ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 4

เหน่งบา

04/07/2016 12:09:50
1,866
ผมไม่หวังไกลขนาดประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศหรอกครับ คุณhistory
เอาแค่ประวัติศาสตร์ของเราไม่กี่สิบปีก่อนก็ยังโดนปกปิดบิดเบือนเลยครับ

ถ้าเราเรียนรู้บางอย่างแม้เพียงเล็กน้อยจากประวัติศาสตร์ให้รู้จักตัวเอง รู้จักคนรอบข้างเพื่อดำเนินชีวิตให้เป็นไปได้ดีขึ้น ก็น่าจะเป้นเรื่องที่ดีครับ

ถึงที่เอามาลงกระทู้ก็เป็นแค่สีสันของประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งเล่าสู่กันฟังสนุกๆเท่านั้นครับไม่ได้คิดอะไรมาก(คิดดูสิครับ นครรัฐที่ก่อร่างสร้างตัว ผ่านการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย แล
ะมี "กษัตริยา"...คือ ผู้ครองแผ่นดินที่เป็น"สตรี"ในยุคสมัยโบราณ(ซึ่งสถานภาพของผู้หญิงย่อมด้อยกว่าผู้ชาย) ติดต่อกันถึงสี่พระองค์(เรียกว่ายุคสี่ราชินี) ท่ามกลางการต่อสู้แก่งแย่งที่มีการใช้กำลังรบกันตรงๆของยุคสมัยโน้น แค่นึกตามก็น่าตื่นเต้นแล้วครับ)

ส่วนหนึ่งคือ เห็นอาจารย์Ahuraเล่าเรื่อง Layla ได้อย่างพิจิตรพันลึก ผมเองไม่มีอะไรแบบนั้น และไม่มีฝีมือจะบรรยายได้อย่างอาจารย์ เลยตัดแปะเอามหาเลลามาสู้ครับ 555
(ที่จริงมีเกร็ดหลังบันทึกอีกนิดกับมหาเลลา แต่...เล่าไม่ได้ครับ ถ้าเป็นเรื่องก็เรื่องใหญ่แน่ ใครอยากรู้แจ้งซองเหลืองมาละกันครับ ^ ^)

หมายเหตุ ข้อความตอนต้นกระทู้ ย่อหน้าที่ ๖ จากล่างขึ้นมา พวก ปาเลมบัง ที่ว่า คือ อินโดนีเซียในสมัยโน้นนะครับ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 5

Ahura

04/07/2016 14:02:02
1,663
มหาเลลาที่เรือธงตอนนี้ของหมดชั่วคราวนะครับ 555
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 6

gb.jg

04/07/2016 15:30:20
ไม่ใช่อย่างนั้นครับคุณพี่เหน่งบา
ผมเห็นพี่สนใจเลยอยากให้ศึกษาต่อเพิ่มเติม
เพราะมันมีผลสืบเนื่องถึงระบบการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

เพราะสิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่ชนชั้นปกครองของไทยพยายามรักษาปดปิดมันมาตลอด เป็นร้อยๆปีสืบจากอยุธยามาถึงปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้คนเข้าใจผิดๆ เหมือนสมัยที่คนบอกกันว่า "ปรีดีย์ (พนมยงค์) ฆ่า...." ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนเชื่อแบบนี้อยู่เลย
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 7

เหน่งบา

04/07/2016 16:42:31
1,866
เกรงจะสร้างความผิดหวังให้คุณ history ครับ
ผมไม่ได้มีความสนใจใฝ่รู้ ไม่ได้มีข้อมูลความรู้อย่างที่คุณว่าหรอกครับ
รู้โน่นนิดนี่หน่อยพออ่านนิยายสนุกเท่านั้นแหละครับ = =*
ไม่ใช่นักวิชาการหรือแม้แต่นักศึกษาด้วยซ้ำ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
"เหน่งบาตัดแปะ....มหาเลลา"