
นายวาทิน ปิ่นเฉลียว บรรณาธิการ เจ้าของนามปากกา "ลุงต่วย" แห่งหนังสือ ต่วย'ตูน เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 85 ปี หลังจากป่วยรักษาตัวมานาน โดยมีกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ ในวันที่ 5 ตุลาคม รดน้ำศพเวลา 17.00 น. ที่ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร และสวดพระอภิธรรม วันที่ 6-9 ตุลาคม เวลา 19.00 น.
วาทิน ปิ่นเฉลียว เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2473 เป็นบุตรคนกลางของ นายวิวัธน์ และนางพวง ปิ่นเฉลียว มี่พี่สาวชื่อ มาลัย มีพี่ชายชื่อปกรณ์ ปิ่นเฉลียว (ทิฆัมพร หยาดเมฆา) มีน้องสาวชื่อ จินตนา ปิ่นเฉลียว (จินตวีร์ วิวัธน์) จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานเป็นสถาปนิกควบคุมงานก่อสร้างเขื่อนยันฮี
เริ่มเข้าสู่วงการหนังสือ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ด้วยการวาดรูปการ์ตูนในหนังสือฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นไปเขียนภาพประกอบเรื่องให้ "นิตยสารสยามสมัย" และวาดการ์ตูนให้กับ "นิตยสารชาวกรุง" วาทิน มีบุตรสองคนคือ ดาว ปิ่นเฉลียว และดุลย์ ปิ่นเฉลียว
เมื่อ พ.ศ. 2509 วาทิน และ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ นักเขียนจากนิตยสารชาวกรุง ร่วมกันตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ "สำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน" และรวบรวมการ์ตูนที่วาทินวาดในนิตยสารชาวกรุง รวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กในชื่อ "รวมการ์ตูนของต่วย" พิมพ์ออกมาขายเป็นชุดๆ ต่อมาจึงพิมพ์เรื่องสั้น โดยขอต้นฉบับจากบรรดานักเขียนอาวุโส และเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นนักเขียนในสมัยนั้น เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, รัตนะ ยาวะประภาษ, นพพร บุญยฤทธิ์, วสิษฐ เดชกุญชร รวมกับการ์ตูนของวาทิน ออกเป็นนิตยสารรายสะดวก ใช้ชื่อว่า "รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง"
ต่อมามีคนท้วงติงว่า ชื่อหนังสือยาวเกินไปเรียกยากจำยาก จึงตัดชื่อหนังสือเหลือ ต่วย’ตูน และเริ่มพิมพ์เป็นรายเดือนฉบับแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 และพิมพ์ ต่วย’ตูน พิเศษ เป็นนิตยสารรายเดือน มีเนื้อหาเกี่ยวเกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่องน่ารู้ เรื่องลึกลับ เรื่องแปลกและเรื่องผี ฉบับแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517
งานเขียนในต่วย’ตูน ค่อนข้างหลากหลาย ประกอบด้วยนักเขียนจากหลายวิชาชีพ ทั้งแพทย์ ครู วิศวกร ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ข้าราชการ แบ่งออกได้เป็นหลายยุค
ยุคแรก ประกอบด้วยนักเขียน ได้แก่ ประมูล อุณหธูป (ทองคำเปลว), หลวงเมือง, กระจกฝ้า, ลาวัลย์ โชตามระ (จอหงวน อัมพร หาญนภา), 'รงค์ วงษ์สวรรค์, ระวี พรเลิศ, ชิน ดนุชา,รัตนะ ยาวะประภาษ, นพพร บุญยฤทธิ์, วสิษฐ เดชกุญชร และนักเขียนอาวุโส เช่น ฮิวเมอร์ริสต์ (อบ ไชยวสุ), หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, พลอากาศเอกหะริน หงสกุล, ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์
ยุคที่สอง เป็นนักเขียนมีชื่อจากนิตยสารชาวกรุง มาจากหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ ปัญญา ฤกษ์อุไร, ชาตรี อนุเธียร, ประเทือง ศรีสุข, วิชัย สนธิชัย, ประจักษ์ ประภาวิทยากร , โอภาส โพธิ์แพทย์, อุดร จารุรัตน์, เสรี ชมภูมิ่ง, อนันต์ แจ้งกลีบ
ยุคที่สาม เตชะพิทย์ แสงสิงห์แก้ว เขียนเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น, ชัยชนะ โพธิวาระ เขียนเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย, ฉุ่ย มาลี, พัฒนพงศ์ พ่วงลาภ
ยุคที่สี่ เริ่มใช้นักเขียนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่าน และสร้างนักเขียนใหม่ขึ้นมา เช่น พล.อ.โอภาส โพธิแพทย์, สุขุม นวลสกุล, ทัศน์ทรง ชมภูมิ่ง, ขุนสรรพันเรือง, โปรดเถิดดวงใจ ฯลฯ