Guest
หมวดหมู่ > เว็บบอร์ด จับฉ่าย

ช่องทางการติดต่ออื่น

  • Munkonggadget
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Contact Us

เหน่งบาตัดแปะ....เพลง ก้วงเล้งซั่ว(กว่างหลินซ่าน)

เหน่งบา

25/08/2015 23:19:54
1,866
เคยเอาไปต่อกระทู้คุณ SK (บทเพลงยิ้มเย้ยยุทธจักร)
แล้วคิดว่า กระทู้มันยาวมาก เนื้อหาดี และเยอะมาก สงสัยว่าท้ายกระทู้อาจมีหลายคนลงมาอ่านไม่ถึง
เลยขอตัดแปะขึ้นเป็นหัวข้อเลยละกันครับ

ถ้าไม่ใช่ผู้มีความรู้กว้างขวางเรื่องเกี่ยวกับจีน ส่วนใหญ่คนรู้จักชื่อเพลงนี้ จากนิยายกำลังภายในกระบี่เย้ยยุทธจักรแน่นอนครับ
เพลงก้วงเล้งซั่วที่เอ่ยถึงในเรื่อง..ต้นกระแสธารความคิดของเพลงยิ้มเย้ยยุทธจักร...มีเค้าโ่ครงที่มาจากเพลงจริงๆ และเป็นตำนานซ้อนตำนาน (ไม่นับการอ้างอิงจินตนาการมาแต่งนิยายของท่านกิมย้ง) รายละเอียดอยู่ในกระทู้ของคุณ SK http://www.forum.munkonggadget.com/detail.php?id=176102 โดยข้อมูลของคุณ Hi-Fi-Lover ในความเห็นที่ 5 ดังนี้ครับ

บทเพลงเย้ยยุทธจักร แต่งขึ้นมาใหม่จากการขุดค้นพบทำนอง กว่างหลิงซ่าน ของเฒ่าซิ
ผู้เฒ่าหลิวและผู้เฒ่าซิ ได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงกว่างหลิงซ่าน มาแต่งเป็น บทเพลงเย้ยยุทธจักร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในเวอร์ชั่นหนัง มีการนำเอา กว่างหลิงซ่าน (บทเพลงแต่งใหม่จากเดิมเท่าที่หาได้)
เพลงกระบี่เย้ยยุทธจักรเวอร์ชั่น ท่าน Sam Hui นั้น นำทำนองกว่างหลิงซ่าน (แบบกู่เจิ้ง) มาใช้
กว่างหลิงส่าน 广陵散 เพลงที่นิยายกระบี่เย้ยยุทธจักรเคยพูดถึงว่าสาบสูญไปแล้ว ทำเอาคนจีนทั้งประเทศเข้าไปใจแบบนั้น ซึ่งจริงๆแล้วมีคนเล่นมาทุกราชวงศ์จนถึงปัจจุบัน "กว่างหลิง" เป็นชื่อสถานที่ "ส่าน" แปลว่าเพลง(ในภาษาดนตรีโบราณ/ ไม่อ่าน "ซ่าน") แปลตรงๆว่าเพลงกว่างหลิง มีที่มาจากนิทานสมัยจ้านกว๋อ
ยุคนั้น ณ แคว้นเว่ยกว๋อ เนี่ยเจิ้งที่ไปก่อคดีฆ่าคนโฉดร้ายหนึ่ง
ได้หนีจากเมืองจื่อไปอยู่ เมืองฉีกว๋อพร้อมพี่สาวและมารดา เขาหลบอยู่อย่างสงบมานาน
จนวันหนึ่ง ในราชสำนัก มหาอำมาตย์หานหนีได้ถูกขุนนางนามเหยนซุ่ยฉีกหน้า
กลางการอภิปรายความเห็นทางการเมืองที่ตยบกพร่อง จึงผูกใจเจ็บค่อยหาทางเล่นงานเหยนซุ่ยเสมอ
เหยนซุ่ยจึงถอยฉากออกจากเมืองหลวง ระหว่างทางก้หามือสังหารส่งไปลอบฆ่าหานหนีแก้แค้นเช่นกัน
จนมาถึงฉีกว๋อ เขาได้ยินชื่อเสียงเนี่ยเจิ้งก้ไปเยี่ยมหลายครั้งแต่โดนปฏิเสธเรื่อยมา วันหนึ่งจึงทำทีจัดทองคำไป 2000 ตำลึง
ไปหามารดาเนี่ยเจิ้งในวันเกิดของมารดาเนี่ยเจิ้ง โดยหวังซื้อใจเนี่ยเจิ้งให้ไปฆ่าหานหนี
แต่เนี่ยเจิ้งไม่รับทองจำนวนนั้น ทว่าในใจกลับรู้สึกตื้นตั่นยิ่งนัก
แม้เหยนซุ่ยจะกระซิบบอกว่าไม่ให้ฟรีแต่วานไปฆ่าคน เนี่ยเจิ้งก็ไม่รับเพราะอยากดูแลมารดามากกว่า
เหยนซุ่ยได้ยินก็เข้าใจแต่ก็ยังจะให้ทองแต่เนี่ยเจิ้งก้ไม่รับสุดท้าย เหยนซุ่ยก้ขนทองกลับบ้าน
หลายปีผ่านไปมารดาเนี่ยเจิ้งตาย เนี่ยเจิ้งจึงไปหาเหยนซุ่ย ถามว่าครั้งนั้นที่ท่านวานให้ฆ่านั้นเป็นใคร
เหยนซุ่ยตอบว่าเป็นหานหนี เนี่ยเจิ้งบอกเรายินดีรับทำแต่ไม่ใช่เพราะเงินทอง
ยามนี้มารดาสิ้นลมแล้ว พี่สาวก็มีครอบครัวแล้ว เขาไม่มีห่วงใดอีก เนื่องด้วยท่านยามนั้นมาหาข้าผูกมิตรโดยไม่รังเกียจคนต่ำต้อยเช่นข้า
แม้ข้าไม่รับปากท่านก็ยังคบหาข้าเป็นมิตรเช่นเดิม กับสหายแล้วหากไม่ช่วยเหลือกันจะคบไปเพื่อการใด
ยังเรียกเป็นสหายรึ? หลังกล่าวจบจึงเดินทางไปเมืองหลวงเพียงลำพัง เนี่ยเจิ้งบอกเหยนซุ่นว่าเพื่อไม่ให้ข่าวรั่วจึงต้องลงมือเพียงคนเดียว
เขาเดินทางจนวันหนึ่งเมื่อมาถึง เขาเดินเข้าจวนหาหานหนีที่กำลังนั่งจิบชาในจวนอย่างสบายอารมณ์
โดยไม่รู้ว่าเงาหัวกำลังจะขาด เนี่ยเจิ้งนับว่าเทพมากกลับเดินดุ่มๆบอกขอพบมีเรื่องสำคัญเรียนกับหานหนี
คนที่เฝ้าก้โง่พาไปหาหานหนีในศาลาในจวน พอพบหานหนีเขาก็ชักกระบี่แทงหานหนีตายในศาลาทันที
จากนั้นอาละวาดฆ่าราชองครักษ์อีกนับสิบ ก่อนจะเห็นว่าหมดทางฝ่าออกไปจึงเอากระบี่กรีดหน้าตนเองจนเละ
เอานิ้วควักลูกตาตนออกกันรุปโฉมมีคนจำออก จากนั้นเอากระบี่แทงท้องตนเองตาย.........

ทางการจึงนำศพเขาไปแขวนประกาศใครรู้ว่าเป็นใครมีรางวัล 1000 ตำลึงทอง
ผ่านไปเป้นสัปดาห์ไม่มีใครมายืนยันจนปรากฏหยิงสาวคนหนึ่งมาบอกว่า
"นี้คือเนี่ยเจิ้งแห่งเมืองจื่อ น้องชายของนางเอง"ที่แท้คือเนี่ยหญิงพี่สาวของเนี่ยเจิ้ง
ผุ้คนต่างสงสัยว่าทำไมนางกล้าบอกเช่นนั้น นางตอบกับเหล่าผู้คนและมือปราบว่า
"น้องชายข้ายอมทำลายโฉมตนเอง เพื่อไม่ให้เป็นเหตุเภทภัยสู่ตัวข้า
น้องชายข้าทำถึงขนาดนี้ ข้าจะรักตัวกลัวตายปล่อยให้ศพน้องชายข้าไม่ได้บรรจุฝัง
ปราศจากหลุมศพและป้ายชื่อได้อย่างไร" กล่าวจบนางก็เอามีดที่พกมาอัตวิบากกรมตนเองลง ณ ข้างที่แขวนศพน้องชายของนาง

นักดนตรีนิรนามจึงแต่งเพลงสดุดีเรื่องราวนี้นามว่า "กว่างหลิงซ่าน"ขึ้นมา
(ปล.เรื่องนี้ชั่วสุดยกให้ เหยนซุ่ย ชั่วจริงๆ)

-แต่ที่เพลงนี้ยิ่งโดงดังคือ จีคัง ในยุคราชวงศ์เว่ยตะวันตก
มหาบันทิตผู้ไม่ยอมรับใช้กังฉิน ซือหม่าจาว ทั้งยังตำหนิพฤติกรรมของกังฉินแบบไม่ไว้หน้าใดๆ
ส่งผลให้โดนข้อหา"ไม่สบอารมณ์กังฉิน"ลากไปประหาร แม้เหล่าลุกศิษย์ลุกหาราว 3000 คนจะไปคุกเข่าขอร้อง
ในลานประหารให้ยกเลิกดทษให้ก็ไม่เป้นผล ก่อนประหาร จีคัง ได้ขอพิณมาบรรเลงเพลงกว่างหลิงซ่าน
ระบายความคับแค้นออกมาว่ากันว่า สะกดทั้งลานประหารให้ตกในภวังกันเลยทีเดียว
ก่อนจะโดนตัดหัวหังบรรเลงเพลงจบแล้วเพชรฆาตหายภวัง

ประวัติ จีคัง โดยคุณทองแถม นาถจำนงค์
จีคัง 嵇 康 : “ปราชญ์สวนไผ่” ผู้ถูกสุมาเจียวประหาร

ปราชญ์ยุคสามก๊กคนหนึ่งมีชื่อเสียงมาก แต่เขาไม่มีบทบาทในนิยายสามก๊ก “ซานกั๋วเหยี่ยนอี้” ท่านผู้นี้คือ “จีคัง”

จีคังเป็นปราชญ์ยุคสามก๊กตอนปลาย เป็นผู้มีชื่อเสียงทางด้านวรรณศิลป์และปรัชญาเต๋า แต่เนื่องจากในนิยายเรื่องสามก๊กไม่ปรากฏเรื่องราวของเขา ชาวไทยจึงไม่ค่อยรู้จักนักปราชญ์ผู้นี้

จีคัง (ค.ศ 223 - 262 ) อายุสั้น เขาถูกสุมาเจียวประหารชีวิตเมื่ออายุเพียงสี่สิบเท่านั้น น่าเสียดายเพชรงามเม็ดนี้เหลือเกิน

แม้จะอายุสั้น แต่ชื่อเสียงของเขาก็คงทน วงวรรณคดียกย่องจีคังและเพื่อนอีกหกคนเป็น “เจ็ดปราชญ์สวนไผ่”

ในปีที่เขาเกิดนั้น ( ค.ศ 223) พระเจ้าเล่าปี่ตาย เล่าเสี้ยนได้สืบทอดอำนาจจ๊กก๊ก

จีคังกำพร้าพ่อแต่เล็ก แม่และพี่ชายเลี้ยงดูเขามา จีคังฉลาดปราดเปรื่องมาแต่เล็ก มีความโดดเด่นเหนือพวกพ้อง จึงทะนงตนเชื่อมั่นตัวเองสูง

แต่เขาก็ไม่สนใจลาภายศเกียรติทางสายขุนนาง ชอบศึกษาค้นคว้าตำรา เชี่ยวชาญเรื่องคำสอนของ เล่าจื๊อและจวงจื๊อ เมื่อโจฮองขึ้นเป็นฮ่องเต้ จีคังอายุ 17 ปี ได้หลานสาวของบุตรชายโจโฉคนหนึ่งเป็นภรรยา จึงถูกนับวงศาคณาญาติกับราชวงศ์วุย (ตระกูลโจ) ด้วย ช่วงนี้เขาเป็นขุนนางเล็ก ๆ ตำแหน่งจงส้านไต้ฟู

ชีวิตช่วงนี้ของจีคัง เป็นช่วงมีความสุข ใช้ชีวิตแบบบัณฑิตนักกวี ค้นคว้าตำรับตำรา แต่งหนังสือแต่งกวี ดื่มกินเที่ยวเตรี่กับเพื่อนพ้องบัณฑิต

จีคังมีชื่อเสียงเป็นกวีเอกคนหนึ่งในยุคสามก๊ก

ชีวิตจีคังมาผกผันเมื่อสุมาอี้รัฐประหาร โค่นอำนาจของกลุ่มโจซองใน ค.ศ 249 ตอนนั้นจีคังอายุ 27 ปี ยังเป็นขุนนางตำแหน่งเล็ก ๆ จึงรอดตัว ไม่ถูกประหารชีวิตไปด้วย

การรัฐประหารยึดอำนาจของสุมาอี้นั้นเท่ากับเป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการเมืองจากตระกูลโจ (เฉ่า) ไปอยู่ในมือของตระกูลสุมา ซึ่งในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนราชวงศ์ในสมัยของสุมาเอี๋ยน หลานชายของสุมาอี้ การต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนั้น นอกจากจะใช้กำลังทหารเป็นหลักแล้ว ตระกูลสุมาก็จำเป็นต้องอาศัยทฤษฎีทางปรัชญาคำสอนโบราณมาสนับสนุน สร้างค่านิยมทางสังคมใหม่ ๆ ด้วย

ลัทธหญูหรือลัทธิขงจื๊อนั้น เชิดชูคุณธรรมสำคัญเช่น จงรักภักดี 忠 มนุสสธรรม 仁 ถูกทำนองคลองธรรม 义 ความกตัญญูกตเวทตา 孝 เป็นต้น

ในยุคต้นราชวงศ์ฮั่น คุณธรรมข้อสำคัญที่สุดคือ ความจงรักภักดี ค่านิยมนี้ถูกปลูกฝังมั่นคง ทำให้สังคมจีนเกิดระบบการปกครองแบบ “เฝิงเจี้ยน” (คำนี้ควรจะเรียกทับศัพท์ เพราะไม่ตรงกับ ระบบศักดินาไทย และฟิวดาลิสม์ของยุโรป) ที่มั่นคงเข้มแข็งอยู่ยาวนาน

แต่สถานการณ์ที่ตระกูลสุมา รัฐประหารยึดอำนาจนั้น เท่ากับเป็นการไม่จงรักภักดีต่อราชวงศ์วุย แม้จะมีข้ออ้างได้ว่า ราชวงศ์วุยก็เป็นกบฏไม่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่นมาก่อนก็ตาม แต่พวกตระกูลสุมาก็ยังพยายามแสวงหาข้อสนับสนุนจากหลักคุณธรรมลัทธิขงจื๊อข้ออื่น ๆ โดยได้พยานยามยกเอาเรื่อง “กตัญญูกตเวที” ให้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ข้อหากล่าวโทษโจซอง ที่สุมาอี้มีไปถึงพระเจ้าโจฮอง ก็กล่าวโทษว่าโจซองมิได้กตัญญูต่อพระเจ้าโจยอย และต่อมาเมื่อพวกตระกูลสุมาหาเรื่องลงโทษประหารชีวิตขุนนางที่ต่อต้านพวกเขา ก็จะอ้างเอาเรื่องไม่กตัญญูเป็นความผิดเสมอ

ท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่ล่อแหลมเช่นนี้ ”เจ็ดปราชญ์สวนไผ่” จึงถึงกับแตกแยกกัน ส่วนใหญ่ยอมรับใช้พวกตระกูลสุมา คงมีแต่จีคังผู้เดียวไม่สยบ

จีคังยังคงเขียนหนังสือเผยแพร่ความคิด ที่คัดง้างกับหลักการใหม่ (ที่เชิดชูเรื่องความกตัญญูขึ้นสูงสุด) ของพวกตระกูลสุมา

แนวปรัชญาของจีคังนั้น คล้ายคลึงกับปรัชญาเต๋าของจวงจื๊อ จีคังเสนอให้ “ข้ามให้พ้นหลักคำสอนที่มีชื่อเสียงของศาสนาทั้งหลายเถิด แล้วทำตามกฏธรรมชาติ” (越 名教 而 任自然 เยวี่ยหมิงเจี้ยวเอ๋อร์เญิ่นจื้อหญาน) หลักข้อนี้ทำให้นึกถึงคำสอนของ “เซน” ที่ให้ก้าวข้ามภูเขาสามลูก คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้พ้น จึงจะ “บรรลุ” ธรรม!

จีคังเห็นว่า คัมภีร์ต่าง ๆ หลักคุณธรรมต่าง ๆ ที่ศาสนา(เจี้ยว 教 ) ทั้งหลายกำหนดขึ้นนั้น ล้วนเป็นเครื่องมือพันธนาการลักษณะธาตุแท้ของมนุษย์ มีแต่ฟื้นฟูลักษณะธาตุแท้ของมนุษย์ขึ้นมาจึงจะสอดคล้องกับกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ สรุปแล้วแนวความเชื่อของจีคังเป็นธรรมชาตินิยมคล้ายกับจวงจื๊อนั่นเอง

ผลการต่อต้าน คุณธรรมความกตัญญู ของจีคัง ส่งผลให้เขาถูกสุมาเจียวลงโทษประหารชีวิต ในวัยเพียง 40 ปี เมื่อ ค.ศ 263 ตำนานเล่ากันว่า ก่อนจะถูกประหารชีวิต จีคังได้บรรเลงพิณ เพลง “ก่วงหลิงส้าน” อันเป็นบทเพลงเขาประพันธ์ขึ้นเอง

แน่นอนว่าปัจจุบันนี้ไม่มีใครรู้ว่า เพลงก่วงหลิงส้าน มีทำนองอย่างไร แต่จากตำนานเพลงนี้ คุณหวงจาน ได้จินตนาการสร้างสรรค์เพลงขึ้นใหม่ แต่งโดยใช้โน้ตดนตรียุคโบราณ 5 เสียง ประพันธ์เพลงยิ้มเย้ยยุทธจักรขึ้นเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” (เซี่ยวอ้าวเจียงหู)

หลักฐานสนับสนุนว่า จีคัง เป็นบุคคลมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์คือ ทุกวันนี้ ยังปรากฏ “สุสานจีคัง” และ “ศาลาจีคัง” อยู่

สุสานจีคัง (จีคังมู่) ตั้งอยู่เชิงดอยสือหม่าซาน ห่างจากอำเภอกัวหยาง มณฑลอันฮุย ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร ส่วนศาลาจีคัง (จีคังถิง) ตั้งอยู่บนดอยจีซาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเหมิ่งเฉิงเสี้ยน มณฑลอันฮุย ตำนานเล่ากันว่าจีคังออกปลีกวิเวกอยู่บนดอยนี้ จักรพรรดิเชียนหลง ราชวงศ์ชิง ได้สร้างศาลาจีคังขึ้นเป็นอนุสรณ์สถาน เมื่อปี ค.ศ 1766 ปัจจุบันยังปรากฏศิลาจารึกบทกวีรำลึกถึงจีคังจำนวนหนึ่ง

Guangling San performed by Wu Wengguang

(ถ้าขี้เกียจฟังอารัมภบท ข้ามไปฟังเลย นาทีที่ 1:05 นะครับ)



ที่มา ยูทูบ https://www.youtube.com/watch?t=78&v=Q41O3zfRgjQ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 1

ohwownoone

26/08/2015 10:53:06
370
ไม่อยากจะบอกว่าผมฮัมเพลง กว่างหลินซ่าน ให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืนเลยครับ สงสัยโตขึ้นลูกสาวผมได้หนีตามพี่เหล่งฮู้แหงๆเลย 555+
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 2

ยิ้มเย้ยยุทธจักร

26/08/2015 12:41:10
ฟ้าส่งให้ข้าเกิด คลื่นยังคงพร่างพราว
ฉ่ำละอองยามเช้า สุรีย์ล้อคลื่น...ลอยแกว่งไกว
เสียงดนตรีเห่กล่อม เสียงนกร้องก้องไพร
หยิ่งทนงเพียงไหน ก็คงทิ้งไว้ เหลือซากอันเปลี่ยวดาย

ยิ้มเย้ยโลกเดียวกัน ยิ้มเยาะหยันความตาย
ตราบอรุณสุดท้าย ไม่เคยทิ้งท้าย แสงแรกกรายกลับมา
เสียงดนตรีเห่กล่อม เห็นคลื่นล้อมนาวา
ความโศกใดในฟ้า หนาวเหน็บเหนื่อยล้า ล้วนคลื่นพาแกว่งไป

ยิ้มเย้ยหยันเกลียวคลื่น ไร้กล้ำกลืนหมองไหม้
ฝ่าธาราหวั่นไหว ล่องลอยโดยไร้คลื่นใดพาโศกตรม

ประพันธ์เนื้อร้องใหม่โดย...กระบี่ใบไม้
ดัดแปลงจากเนื้อร้องทำนองเดิม..."ซัง ไห่ อี้ เซิง เซี่ยว"
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
"เหน่งบาตัดแปะ....เพลง ก้วงเล้งซั่ว(กว่างหลินซ่าน)"