
เด็กม.ต้นฮิต ใช้“ถุงพลาสติก“ แทน “ถุงยาง“
อาจารย์จุฬาฯเผย นักเรียนชาย ม.ต้น นิยมใช้ "ถุงพลาสติก" แทน "ถุงยางอนามัย" อ้างไม่มีเงินซื้อ ขณะที่บางรายไม่กล้าซื้อ
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยหลังทำการสำรวจข้อมูลเพื่อทำวิจัยเรื่องเด็กและเยาวชนในมติวัฒนธรรม พบว่า ขณะนี้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) ในเขตภาคอีสาน นิยมใช้ถุงพลาสติกใสแทนถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่มีเงินซื้อถุงยางอนามัยและบางรายไม่กล้าไปซื้อ
นายสมพงษ์เห็นว่า ที่ผ่านมามีการณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยจริง แต่ส่วนใหญ่ทำแบบผิวเผิน และรณรงค์ในเมืองเท่านั้น เด็กต่างจังหวัดจำนวนมากยังมีความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างผิดๆ ขณะที่แต่ละภาคเรียนมีนักเรียนหญิงชั้น ม.3 ต้องออกจากโรงเรียนเพราะตั้งครรภ์จำนวนมาก เฉลี่ยห้องละประมาณ 3-5 คน
ด้าน ศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวช แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีที่เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งใช้ถุงพลาสติกแทนถุงยางอนามัยว่า เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะถุงพลาสติกไม่มีความยืดหยุ่น เนื้อหยาบ อาจทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ง่าย และที่สำคัญ ไม่ได้ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยเฉพาะเอชไอวี หรือ เอดส์ อีกทั้งเห็นว่าปัจจุบันถุงยางอนามัยสามารถหาซื้อได้ง่ายทั้งตามร้านสะดวกซื้อและตู้หยอดเหรียญ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอโครงการแจกถุงยางอนามัยร้อยเปอร์เซ็นต์ให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปทั่วประเทศ คาดว่าต้องใช้งบประมาณราว 30-40 ล้านบาท หากผู้บริหาร สธ.อนุมัติโครงการจะช่วยลดปัญหาการเข้าถึงถุงยางอนามัย และช่วยป้องกันปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและโรคเอดส์ได้