Guest
หมวดหมู่ > เว็บบอร์ด จับฉ่าย

ช่องทางการติดต่ออื่น

  • Munkonggadget
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Reviews
  • Munkonggadget Contact Us

รีวิว Burson Soloist โดยนักเขียนใหม่ "เข็มแก้ว"

นายมั่นคง

27/11/2012 21:28:35
4,282



รายงานข่าวครับ.....

ตอนนี้มั่นคงแมกกาซีนได้นักเขียนใหม่มาร่วมงานเพิ่มอีก 1 ท่าน โดยนักเขียนท่านนี้นั้น เอาเป็นว่าไม่ใช่มือใหม่มาจากไหนล่ะครับ แต่เป็นมือเก่าระดับสนิมเหล็ก และวนเวียนอยู่ในวงการเครื่องเสียงและหูฟัง เป็นคนชอบงานเขียนและมีความรู้ในเชิงไฟฟ้าและไอทีดีเอาเรื่อง (ถ้าเอาดีทางขโมยตัดสายไฟก็คงรวยว่างั้น)

ผมไปขุดมาได้จากป่าไผ่ มาถึงก็อุ้มเอาตัวล้างน้ำแล้วจับมาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกัน และถ้าไม่พลาดและงานไม่ล้นมือ เราจะได้อ่านงานเขียนกันเป็นประจำ และท่านที่ว่านี้ใช้นามปากกาซะเท่แนวไทยๆๆว่า "เข็มแก้ว" ซึ่งทำไมต้องเป็นเข็มแก้ว และเข็มแก้วมันเกี่ยวพันได้อย่างไร ลองอ่านโปรไฟล์ดูละกันครับ

http://magazine.munkonggadget.com/review-article_author/18/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A7

ยังไงลองติดตามอ่านได้นะครับ ตอนนี้มั่นคงแมกกาซีน มีนักเขียนที่มาช่วยกันเขียนรีวิวเชิงวิชาการเข้มๆๆกันถึง 2 ท่านแล้ว คือคุณวุฒิชัย และ นายเข็มแก้ว ยังไงฝากผลงานของทั้ง 2 ท่านไว้ในอ้อมใจด้วยนะคร้าบบบ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 1

นายมั่นคง

27/11/2012 21:30:31
4,282



ส่วนรีวิว Burson soloist คลิกอ่านที่นี่ได้เลยจ้าๆๆๆๆ หรือจะเลือนดูด้านล่างก็ได้คร้าบบ

http://magazine.munkonggadget.com/review-article/74/%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7-burson-soloist

ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 2

นายมั่นคง

27/11/2012 21:31:48
4,282



BURSON AUDIO SOLOIST
Headphone Amplifier/Pre Amplifier
“พระกาฬเดี่ยวมือหนึ่ง” ใสสะอาด บริสุทธิ์ ผุดผ่อง
โดย...เข็มแก้ว
..............


รูปที่คุณเห็นอยู่นี้เป็นแอมป์หูฟัง/ปรีแอมป์รุ่นใหม่จากเบอร์สัน ออดิโอ - Burson Audio ใช้ชื่อรุ่นว่า Soloist เห็นรูปร่างหน้าตาแล้วยังคงมาในสไตล์กะทัดรัดแต่แข็งแกร่งบึกบึนและดูมีคุณค่าน่าจับต้องด้วยวัสดุอะลูมิเนียมแท้ๆ เนื้อหนาปึ้กเหมือนที่พบเห็นได้จากรุ่นอื่นๆ ของเบอร์สัน

พูดถึง Burson Audio แล้วบางท่านอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหู แต่ใครที่ติดตามสื่อจากหลายแหล่งหรือสนใจการเล่นหูฟังเป็นพิเศษคงทราบกิตติศัพท์ของเครื่องเสียงจากประเทศออสเตรเลียยี่ห้อนี้ดี โดยเฉพาะคนที่เล่น DAC หรือ Headphone Amp เขาว่าชีวิตนี้จะต้องอยากลองฟังเสียงของเบอร์สันแม้ว่าจะซื้อไปใช้หรือไม่ก็ตาม หรืออย่างเกรงใจที่สุดแค่ได้ลูบๆ คลำๆ ก็ยังดี

อะไรที่ทำให้ Burson Audio มีภาพลักษณ์เป็นเช่นนั้นได้? ตอบไม่ยากเลยครับ เพราะเขาใส่ใจในทุกรายละเอียดที่คนอื่นอาจจะมองข้ามไปยังไงล่ะ

ความเดิมตอนที่แล้ว และปรัชญาการออกแบบของเบอร์สัน
โดยส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงแอมป์ขยายเสียงของหูฟัง ถ้าเอาเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ในตำรามาคุยกันมันจะไม่มีอะไรซับซ้อน มันง่ายกว่าการออกแบบแอมป์ขยายเสียงที่ใช้กับลำโพงมาก อย่างน้อยหูฟังก็ต้องการกำลังวัตต์น้อยกว่าลำโพงเยอะ โดยมากอยู่ในระดับไม่กี่ร้อยมิลลิวัตต์ (ไม่ถึงวัตต์) เท่านั้นเอง คุณสามารถออกแบบมันได้ง่ายๆ โดยใช้แค่วงจรรวมหรือไอซี (Integrated Circuit, IC) ขยายเสียงพื้นฐานอย่างออปแอมป์ - op-amp (operational amplifier) ราคาไม่กี่สิบบาทแค่ตัวเดียวกับชิ้นส่วนอื่นๆ อีกนิดหน่อยมันก็ทำงานได้แล้ว ไม่เชื่อลองไปเปิดดูในเครื่องเสียงทั่วไปได้ว่าวงจรแค่นี้ทำงานเป็นแอมป์หูฟังได้จริงหรือไม่

หรืออย่างวงจรที่มีสาระขึ้นมาหน่อยก็แอมป์หูฟังตระกูล C-Moy ทั้งหลายที่ใช้เทคนิคมากขึ้นมาอีกนิด แต่พื้นฐานก็ยังเป็นไอซีออปแอมป์ราคาถูกอยู่ดี แล้วก็ยังอุตส่าห์มีเครื่องเสียงบางยี่ห้อเอาไปออกแบบใส่กล่องสวยๆ ขายได้ราคาดีเสียด้วย เอ้า ก็ไม่ว่ากัน เพราะบางทีมันก็เพียงพอสำหรับหูฟังตัวเล็กๆ ใช้ฟังง่ายๆ ที่คุณมีอยู่ พื้นฐานมันก็แทบไม่ต่างจากวงจรขยายหูฟังที่อยู่ในโทรศัพท์หรืออุปกรณ์พกพาที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไป

แต่ทางเบอร์สันเขาไม่มองอย่างนั้น พวกเขาคิดว่าแม้จะเป็นแอมป์หูฟัง ถ้าตั้งใจออกแบบให้มันดีจริงมันก็ไม่ต่างอะไรจากการออกแบบแอมป์บ้านดีๆ ที่ใช้กับลำโพงนั่นแหละ เพียงแต่มันย่อส่วนลงมาเท่านั้นเองแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องย่อคุณภาพลงมาด้วย
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 3

นายมั่นคง

27/11/2012 21:32:45
4,282



ใครที่เล่นเครื่องเสียงบ้านมาก่อน สังเกตไหมครับว่าเครื่องเสียงดีๆ แพงๆ เขามักจะบอกว่าออกแบบด้วยวงจรแบบดีสครีต – discrete ซึ่งหมายความว่าเป็นวงจรที่ใช้ทรานซิสเตอร์แยกเป็นตัวๆ มาออกแบบวงจรร่วมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกจำนวนหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าวงจรแบบดีสครีตนั้นมักจะให้เสียงที่ดีกว่าและสามารถปรับแต่งในจุดเล็กจุดน้อยจนได้วงจรตามที่ต้องการได้ ส่วนวงจรขยายเสียงที่ใช้ไอซีนั้นมีดีที่ออกแบบง่าย ขนาดเล็ก เครื่องเสียงราคาถูกหรือไม่ค่อยใส่ใจเรื่องเสียงมากนักจึงชอบใช้กัน

ทำไมใช้ไอซีถึงเสียงไม่ดี? ด้านนักออกแบบที่ถือหางทางด้านวงจรดีสครีตอธิบายว่า ไอซีออปแอมป์ส่วนใหญ่ที่นักอิเล็กทรอนิกส์นิยมใช้แต่เดิมมันถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานทั่วไปหรือ general purpose หมายความว่าออปแอมป์ 1 ตัวสามารถเอาไปออกแบบวงจรโน่นนี่นั่นได้อีกเป็นร้อยเป็นพันวงจร ตัวมันจึงต้องถูกออกแบบให้มีความสามารถกลางๆ ไม่เด่นด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ เหมือนเป็ดที่บินก็ได้ ว่ายน้ำก็เป็น เดินวิ่งก็ไม่มีปัญหา แต่ทำไม่ได้ดีจริงสักอย่าง อีกทั้งในไอซีหนึ่งตัวยังมีอุปกรณ์ส่วนที่ไม่ได้ใช้งานมากเกินความจำเป็น เพิ่มความซับซ้อนทำให้วงจรโดยใช่เหตุ และนั่นเป็นสาเหตุของเสียงที่แย่ลง

แม้ว่าปัจจุบันจะมีไอซีเฉพาะทางทั้งที่ใช้งานด้านออดิโอหรือไอซีแอมป์หูฟังโดยตรงออกมาแต่คุณภาพที่ได้ก็ยังไม่ดีพอสำหรับเบอร์สัน พวกเขาจึงยังคงยึดถือแนวทางของออกแบบวงจรแบบดีสครีตตลอดจนการเลือกใช้อุปกรณ์ออดิโอเกรดที่เครื่องเสียงทั่วไปในระดับเดียวกันอาจจะไม่กล้าใช้ต่อไป

แต่สำหรับรุ่นใหม่อย่าง Soloist พวกเขา คิด และ ทำ มากกว่านั้น



Less is MORE
การออกแบบ Head Amp และ DAC Amp ทุกรุ่นของเบอร์สัน พวกเขาจะให้ความสำคัญกับการคัดเลือกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากๆ เครื่องเคราที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นหม้อแปลง ตัวเก็บประจุ ตัวต้านทาน หรือแม้แต่ volume แบบ step ล้วนแล้วแต่เป็นของเกรดดีเยี่ยม ดีเสียจนผมว่านักดีไอวายเปิดดูแล้วต้องยอมแพ้เพราะไม่รู้จะโมดิฟายตรงไหนดี เรียกว่าถ้าเป็นการปรุงอาหารคุณเชฟเบอร์สันแกก็เริ่มต้นจากการเลือกใช้เฉพาะเนื้อ ส่วนผสมและเครื่องปรุงชั้นเลิศมาเป็นลำดับแรก ความสำคัญหลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนการปรุง

ตั้งแต่ Head Amp รุ่นก่อนหน้าอย่าง HA-160 แล้ว ที่เบอร์สันให้ความสำคัญกับภาคขยายเสียงส่วนหน้าหรือ input stage มากๆ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการขยายสัญญาณเสียงทั้งหมดจึงจำเป็นต้องเข้มงวดในคุณภาพมากๆ ซึ่งในรุ่น HA-160 ที่เบอร์สันออกแบบเอาไว้เมื่อ 3 ปีก่อนก็ได้แสดงแล้วว่าวงจรดีสครีตโซลิดสเตทของพวกเขาสามารถถ่ายทอดรายละเอียดและไดนามิกเสียงออกมาได้ดีมาก ดีจนกล้าท้าว่าเอาไปเทียบกับแอมป์หลอดราคาแพงได้สบายๆ

แต่สำหรับเจ้า Soloist น้องใหม่ที่ไฉไลกว่านี้ ทางเบอร์สันบอกเองว่านี่ไม่ใช่แค่ไมเนอร์เช้นจ์ของ HA-160 แม้ว่าของเดิมจะทำไว้ได้ดีเพียงใด แต่พวกเขาเชื่อว่าเวลาผ่านไปกว่า 3 ปีพวกเขาจะทำได้ดีกว่านั้นมาก
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 4

นายมั่นคง

27/11/2012 21:33:25
4,282



ภาพอธิบายปริมาณของอุปกรณ์ที่อยู่ภายในออปแอมป์ เทียบกับที่อยู่ในวงจรของ Burson Audio

จุดหนึ่งที่ถือว่าเป็นทีเด็ดเลยก็คือ สมการการออกแบบใหม่ที่เรียกแบบเท่ๆ ได้ว่า “Less is MORE” หรือขยายความได้ว่า “Less Blockage, More Music” นั่นคือ การที่มีการขวางกั้นสัญญาณน้อยลงเท่าใดจะได้ความเป็นดนตรีกลับคืนมามากขึ้นเท่านั้น ใน Soloist ทางเบอร์สันได้ออกแบบภาคขยายเสียงส่วนหน้าโดยใช้อุปกรณ์ FET (Field Effect Transistor) ที่พัฒนาขึ้นใหม่ทำให้วงจรมีความเรียบง่ายมากยิ่งขึ้นและใช้อุปกรณ์น้อยลง ดังนั้นการออกแบบภาคขยายเสียงส่วนหน้าใน Soloist จึงใช้อุปกรณ์เพียง 21 ตัวเท่านั้น น้อยลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับภาคขยายเสียงส่วนหน้าในรุ่น HA-160 ซึ่งมีอุปกรณ์ 32 ตัว และน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ถึง 53 ตัวในไอซีออปแอมป์เบอร์ NE5534 ซึ่งนิยมใช้โดยทั่วไป ที่เราเห็นไอซีมันตัวเล็กๆ มีขาแค่ไม่กี่ขานั่น ข้างในจริงๆ แล้วมันประกอบไปด้วยทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ เพียบเลยครับแต่มันถูกบีบย่อให้เล็กเท่านั้นเอง หาได้มีความเรียบง่ายอย่างที่คิดเลย

Features
ถ้าคุณเคยสัมผัสจับต้องเครื่องเสียงของ Burson Audio มาก่อน เปิดกล่องเจ้า Soloist ออกมาก็จะเจออะไรที่คุ้นเคยดี แม้ว่าตัวเครื่องที่ทำด้วยอะลูมิเนียมอะโนไดซ์เนื้อหนาถึง 6 mm ทั้งตัวจะไม่ดูใหญ่โตมากนัก แต่มันกลับมีน้ำหนักมากถึง 4.5 กิโลกรัมและประกอบได้แน่นหนาอย่างกับรถหุ้มเกราะตามเทคนิคที่เบอร์สันเรียกว่า Resonance Free Aluminium (RFA) Enclosure ไม่มองข้ามแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการสั่นค้างหรือเรโซแนนซ์ แม้แต่ขารองเล็กๆ ที่อยู่ใต้เครื่องก็ยังกลึงมาจากอะลูมิเนียม บางความรู้สึกที่ได้มือได้ลองยกมันเกือบเป็นเหมือนก้อนอะลูมิเนียมตันอะไรอย่างนั้นเลยล่ะครับ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 5

นายมั่นคง

27/11/2012 21:34:03
4,282



ในกล่องกระดาษแข็งขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ นอกจากตัวเครื่องและคู่มือซึ่งเป็นกระดาษไม่กี่ใบแล้วทางเบอร์สันยังใจดีแถมสายไฟและสายสัญญาณมาให้ด้วยแต่ดูเหมือนจะให้มาใช้แค่ชั่วคราว หรือเอาไว้ต่อตอนลองเครื่องที่ร้านเท่านั้นแหละครับ เพราะมันธรรมดาเกินไปสำหรับแอมป์หูฟังระดับนี้ จริงไหม?

ส่วนคู่มือก็เอาไว้เปิดดูแบบผ่านๆ ไม่ต้องซีเรียสอะไรมากเพราะมันใช้ง่ายไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ยกเว้นตรงสวิตช์เลือกใช้ไฟบ้านที่ควรต้องระวังก่อนเสียบลองไฟ ซึ่งอันที่จริงเขาก็ตั้งมาให้เรียบร้อยจากโรงงานแล้วล่ะครับ แต่ก็ต้องพูดดักคอไว้หน่อยเผื่อดวงแตกไปเจอฝรั่งมึนตั้งมาผิดหรือมีใครเผลอทะลึ่งไปปรับไว้ที่ไฟ 110 VAC แล้วจะยุ่ง เปิดเครื่องทีควันขึ้นแล้วจะหาว่าวัยรุ่น (และยังเตะปี๊บดัง) ไม่เตือน

Soloist เป็นทั้งแอมป์ขยายหูฟังและปรีแอมป์ด้วยมันจึงมีช่องรับสัญญาณขาเข้ามาให้ 3 ชุด เผื่อให้ต่อใช้งานได้กับแหล่งสัญญาณเสียงที่แตกต่างกันได้ และมีช่อง PRE OUT เผื่อให้ใช้งานเป็นปรีแอมป์เอาสัญญาณต่อออกไปที่แอมป์ข้างนอกหรือลำโพงแบบแอคทีฟก็แล้วแต่สะดวก ซึ่งขั้วต่อแบบ RCA ที่ให้มานั้นเป็นแบบเคลือบทอง gold plated ดูแน่นหนาแข็งแรงและน่าเชื่อว่าเป็นของเกรดดีอย่างแน่นอน สายไฟเอซีเป็นแบบถอดแยกได้ไม่ติดตายตัวสามารถเล่นกับสายไฟเอซีออดิโอเกรดได้ตามเงินที่เม้มภรรยาไว้ จุดต่อสายไฟเอซีเข้าเครื่องติดตั้งสวิตช์ตัวเดียวที่ทำหน้าที่เปิด-ปิดเครื่อง กดไปที่ “I” เป็นการเปิดไฟเครื่อง ไฟสีฟ้าที่หน้าปัดจะติดโชว์ขึ้นมาเพื่อบอกว่าพร้อมทำงานแล้ว ถ้าจะปิดเครื่องก็แค่กดสวิตช์ไปที่ “O”

ด้านหน้าเครื่อง Soloist ค่อนข้างเรียบง่ายสไตล์เซ็น (เซ็นไว้ก่อน ค่อยมาจ่ายทีหลัง .... เฮ้ย ม่ายช่าย) ทั้งหมดทำจากอะลูมิเนียมกลึงอย่างดี โลโก้ยี่ห้อและตัวอักษรต่างๆ ไม่ได้ใช้วิธีสกรีนธรรมดาแต่ใช้วิธีการเซาะลึกลงไปในเนื้ออะลูมิเนียม เรียกว่าดูมีคลาสระดับของขึ้นห้างสยามพารากอน ไม่ใช่ของกระจอกๆ วางขายแบกะดินตามข้างถนน รูแจ็คหูฟังให้มาเฉพาะ “รูใหญ่” ขนาด 6.3 mm ใครใช้หูฟังแจ็คเล็ก 3.5 mm ก็ให้ต่อตัวแปลง 3.5-6.3 mm อีกที

ปุ่ม volume ปรับระดับความดังของเบอร์สันจะเป็นแบบ step คือหมุนไปทีละจังหวะเหมือนเครื่องเสียงไฮเอนด์ราคาแพง เพราะเขาใช้ปุ่มปรับแบบ stepped attenuator 24 จังหวะแล้วเอาตัวต้านทานเกรดดีมาต่อในวงจรลดทอนเสียงทีละตัวแทนที่จะใช้ตัวต้านทานปรับค่าได้ธรรมดาตัวละไม่กี่สิบบาท ปุ่มหมุนจึงมีน้ำหนักมากสักหน่อย แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะหมุนยากเพราะจึงให้ลูกบิดที่ใหญ่โตหยิบจับได้ถนัดมือ และ volume ชนิดนี้ก็มั่นใจได้ล่ะครับว่าเสียงซ้าย-ขวาไม่มีว่าดังไม่เท่ากันหรือใช้งานไปนานๆ แล้วหน้าสัมผัสของ volume จะหลวมเหมือนของราคาถูก มั่นใจว่าฟิตแอนด์เฟิร์มตลอดกาล ไม่เหมือน ... ที่บ้าน (ละไว้ในฐานที่เข้าใจละกันนะ)

บนหน้าปัดของ Soloist ยังมีปุ่มกดเล็กๆ อีก 2 ปุ่ม ปุ่มหนึ่งใช้เลือกฟังเสียงจากช่องรับสัญญาณอินพุต I, II และ III คือกดเลื่อนไปให้ตรงกับอินพุตที่จะฟังเป็นใช้ได้ จะว่าไปก็คือปุ่ม selector เหมือนในแอมป์ทั่วไป อีกปุ่มเป็นปุ่มกดเลือกอัตราขยายระหว่าง L, M และ H ซึ่งก็มาจาก Low, Mid และ High นั่นเอง
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 6

นายมั่นคง

27/11/2012 21:34:39
4,282



ปุ่มกดเลือกอินพุตที่จะฟัง และปุ่มกดเลือกเกนขยาย 3 ระดับ

นี่เป็นอีกหนึ่งความพิเศษของ Soloist ที่เขาออกแบบให้มันสามารถปรับพละกำลังให้เข้ากับหูฟังที่เราใช้อยู่ได้ โดยใช้วงจรที่เขาเรียกว่า Variable Output Stage (VOS) โดยเกนขยายสัญญาณในภาคปรีแอมป์จะปรับได้ตั้งแต่ 7 - 18 เดซิเบล ถ้าวัดเป็นกำลังขับออกทางแจ็คหูฟังก็ได้ตั้งแต่ 0.18 - 4 วัตต์ เรียกได้ว่าเหลือกินเหลือใช้

เจ้าวงจร VOS นี่เองที่ทำให้ Soloist สามารถใช้งานได้กับหูฟังอย่างหลากหลายไม่เกี่ยงหัวนอนปลายเท้า ตั้งแต่หูฟังที่ไวและขับง่ายสุดขีดอย่างพวก IEM โอห์มต่ำๆ จนถึงพวกหูฟังโอห์มสูง 300-600 โอห์ม หรือพวกหูฟังพลานาร์แมกเนติกที่ความไวต่ำเตี้ยเรี่ยดินเหลือเกิน เจ้า Soloist พระกาฬเดี่ยวมือหนึ่งของเราก็ยืนกอดอกแล้วบอกว่า “เอาอยู่”

Sound and Music
ด้วยภาคขยายเสียงที่ทำงานแบบคลาสเอ ในระหว่างใช้งานต่อเนื่องตัวเครื่องจะมีความร้อนสะสมพอสมควร เลยทำให้เข้าใจว่าทำไมคนออกแบบเขาถึงเลือกอะลูมิเนียมมาใช้เป็นตัวถัง เพราะมันทำหน้าที่ช่วยระบายความร้อน (heat sink) ได้ด้วยนั่นเอง
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 7

นายมั่นคง

27/11/2012 21:35:05
4,282



ทรานซิสเตอร์ภาคขยายกำลังที่ถูกยึดติดกับฐานล่างของตัวถัง เพื่อระบายความร้อนจากการทำงานในระบบคลาสเอ

ผมลองเอา Soloist ขับหูฟัง Full Size หลายตัว ถ้าเป็นพวก 32 โอห์มทั่วไปผมแทบไม่ต้องใช้งานช่วงเกนขยายระดับสูงสุดเลยแค่ระดับ L หรือ M นี่ก็ขับออกได้สบาย มีข้อสังเกตนิดหน่อยว่าระดับ volume ปกติของ Soloist มักจะป้วนเปี้ยนอยู่แถว 11 โมงถึงบ่ายโมงนิดๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มักจะพบเจอในแอมป์ที่ใช้ volume แบบ step

แต่แค่นั้นยังไม่พอครับ ผมลองเอาหูฟังโหดๆ อย่างหูฟังประเภทพลานาร์แมกเนติกที่ปกติได้ชื่อว่าขับยากพอสมควรจนถึงขับยากอิ๋บอ๋าย 2 ตัว ตัวแรกคือ Audeze LCD-2 พระกาฬเดี่ยวมือหนึ่งของเราขับหูฟังออเดซได้สบายแบบไม่ต้องลุ้นเลย เพียงแค่ปรับ VOS ไปที่ H หรือใช้เกนขยายในระดับสูงสุดของเครื่องเท่านั้นเอง แถมยังฟังดูว่าแมตช์กันดีมากด้วย

แต่ทีเด็ดกว่าอยู่ที่หูฟังอีกตัวนี่ครับ HiFiMAN HE-6 นรกของจริงสำหรับแอมป์หูฟัง ถ้าลำหักลำโค่นไม่แน่จริงล่ะก็บิด volume จนสุดแล้วนึกว่าแอมป์ฟัง เพราะได้ยินเสียงดังออกมาแค่พรายกระซิบ แอมป์บางตัวพอขับไหวแต่ก็ออกอาการป้อแป้ฟังไม่มีไดนามิกเลย แต่กับพลังเสียง 4 วัตต์ของ Burson Soloist มันขับ HE-6 ได้ครับ เสียงออกมามีเนื้อหาสาระเลยทีเดียว ไม่แสดงอาการใกล้ตายหรือแบบว่าไม่ไหวแล้วออกมา แม้ว่าบางทีอาจจะต้องเร่งเสียงไปถึงระดับบ่าย 3 โมงก็ตามที

อย่างที่ได้บอกไว้แต่ต้นล่ะครับว่า Soloist นั้นเป็นแอมป์หูฟังราคาระดับกลางที่วางภาพลักษณ์ของตัวเองไว้ในระดับสูง เพราะฉะนั้นจะมาทำเล่นๆ หรือทำแบบขอไปทีไม่ได้ เรื่องรูปร่างหน้าตาภายนอกและการออกแบบทางเทคนิคถือว่าสอบผ่านระดับเกรด A ไปแล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่เรื่องของ sound ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 8

นายมั่นคง

27/11/2012 21:35:48
4,282



ขับหูฟัง Audeze ได้แบบเหลือๆ

พูดถึงเรื่องเสียง ใครที่เคยฟังเบอร์สันรุ่นเก่าๆ มาก่อนแล้วรู้สึกว่ามันมีคัลเลอร์มากไป คือค่อนข้างเอาใจหูแต่ฟังแล้วไม่รู้สึกถึงรสชาติความดิบ ความสด เท่าที่ควร เหมือนส้มตำทำให้ฝรั่งกิน รสชาติออกกลางๆ แต่ไม่ออริจินอล ถ้าได้มาฟัง Soloist น่าจะปลื้มมากเป็นพิเศษ เพราะมันให้เสียงที่มีความบริสุทธิ์สดใสและรายละเอียดดีขึ้นมากๆ ไดนามิกดีขึ้น ปลายเสียงเปิดกว้างมากขึ้น เวทีขยายใหญ่ขึ้น รายละเอียดมาครบ จัดเต็ม แม้แต่เวลาเปิดฟังเบาๆ

การให้รายละเอียดของแอมป์หูฟังตัวนี้ออกมาแบบไม่มีกั๊กเอาไว้ ภาษานักเล่นเครื่องเสียงยุคเก่าเขาเรียกว่าระยิบระยับพรั่งพรู คนไหนที่ไม่ชินกับเสียงอย่างนี้ฟังทีแรกอาจจะรู้สึกว่ารายละเอียดมันเยอะจนบางทีไปฟ้องความผิดปกติของการบันทึกเสียงในเพลงที่ฟังหรือไปฟ้องคุณภาพของ source เข้าให้ ถ้าไม่เข้าใจที่มาที่ไปอาจจะคิดว่าตัวแอมป์เองที่เสียงไม่ดี เพราะฉะนั้นการเล่นแอมป์ที่ให้เสียงค่อนข้างเที่ยงตรงและรายละเอียดออกมาแบบตรงไปตรงมาเช่นนี้ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวมันเป็นเรื่องสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เลย

ใครที่ชอบฟังคลาสสิกวงใหญ่ๆ สเตจกว้างๆ รายละเอียดหยุมหยิม หรือแม้แต่เพลงแจ๊ซที่ใช้ดนตรีอะคูสติกไม่กี่ชิ้น ถ้าได้หยิบหูฟังชั้นดีมาลองฟังกับ Soloist ผมคิดว่าน่าจะเสร็จทุกราย เพราะจุดแข็งของแอมป์ตัวนี้คือการให้บรรยากาศที่ไม่ใช่แบบว่าออกมาแบบขอไปที บางครั้งฟังว่าในรายละเอียดนั้นยังมีรายละเอียดยิบย่อยแฝงอยู่ด้วย อย่างที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า inner details ซึ่งตรงนี้แอมป์หูฟังทั่วไป โดยเฉพาะที่ใช้ไอซีมาขยายเสียงไม่มีทางเข้าถึงได้ลึกซึ้งอย่างนี้ อย่างเพลงแจ๊ซของแม่ Patricia ช่างตัดผม (Barber) นั่นปะไร ถ้าเครื่องเสียงไม่ดีจริง ไม่สามารถให้บรรยากาศให้สมจริงความน่าฟังจะหายไปเยอะเลยทีเดียว

ความใสสะอาดและรายละเอียดที่ดีเยี่ยมของ Soloist ยังทำให้เสียงกีตาร์โปร่งในเพลงที่อัดเสียงมาดีๆ เสียงออกมามีความสมจริงน่าฟังมาก ฟังแล้วรบรู้ได้ถึงความเป็นโลหะของสายกีตาร์ ความใสของตัวโน้ตและเสียงที่ดังก้องกังวานอยู่ในตัวบอดี้กีตาร์ ซึ่งแอมป์บางตัวอาจจะให้เสียงที่หวานนุ่มนวลแต่ความสมจริงยังห่างไกลจาก ความสมจริงในแบบที่ Burson Soloist ให้ออกมาอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม แอมป์หูฟังที่ให้รายละเอียดตรงไปตรงมาอย่างนี้อาจจะต้องทำใจอยู่บ้างเมื่อฟังเพลงตลาดทั่วไปที่อัดเสียงมาขาดๆ เกินๆ เพราะโดยนิสัยของมันจะไม่ช่วยกลบเกลื่อนความแย่ในเพลงเหล่านั้นให้ฟังดีขึ้น ต้นทางมาอย่างไรมันก็ส่งต่อไปอย่างนั้น ซึ่งนี่คือเป้าหมายที่คนทำแอมป์ไหนๆ ก็อยากไปถึง แต่จะมีสักกี่รายที่ทำได้จริง ... นี่สิน่าสนใจกว่า


“Burson sounds good, like a solid state should!”
เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า Soloist คือการก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวยาวๆ ของแอมป์หูฟังเบอร์สัน ผมไม่เรียกสิ่งนี้แค่ว่าความแตกต่างแต่อยากจะเรียกมันว่า พัฒนาการ หรือ evolution มากกว่า และนี่ไม่ใช่แค่ไมเนอร์เช้นจ์ของ HA-160 แต่เป็นโมเดลเช้นจ์ที่น่าจับตามองที่สุดครั้งหนึ่งของ Burson Audio

การให้รายละเอียดที่โปร่งใสยิ่งกว่าข้าราชการตงฉิน และการแจกแจงที่ดีเยี่ยมของ Soloist ส่งผลให้เสียงถ่ายทอดผ่านหูฟังชั้นดีทั้งหลายสามารถให้ความแตกต่างของไฟล์รายละเอียดสูงและไฟล์รายละเอียดต่ำในเพลงเดียวกันออกมาได้ชัดเจนมาก บ่อยครั้งที่ความไม่เป็นกลางมากพอของเครื่องเสียงอาจทำให้การเปรียบเทียบเกิดความสับสน เช่น ว่าฟังแล้วไฟล์รายละเอียดสูงเหมือนจะไม่ดีกว่า หรือถ้าเข้าขั้นเลวร้ายเลยก็คือฟังแย่กว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยแบบสุดๆ เหมือนไปขับรถเบนซ์โช้คพังหรือช่วงล่างเน่าสนิทแล้วบอกว่ามันไม่เห็นจะนิ่มหนึบเหมือนที่คุยไว้

เกนขยายที่เลือกได้ของ Soloist ทำให้มันมีความเอนกประสงค์อย่างดีเยี่ยม จะใช้ขับหูฟังเล็กก็เข้ากันดี หรือจะขับหูฟังใหญ่ขับยากก็ยังไหว เหมือนซื้อรถสักคันที่มีเครื่องยนต์ผีสิง เวลาขับไปจ่ายกับข้าวหรือขับไปรถติดแถวสีลมมันทำงานแค่ 3 สูบประหยัดน้ำมันเหมือนอีโคคาร์ แต่เวลาพาหญิงไปพัทยาพี่แกแปลงร่างเป็นเครื่อง V8 สูบทะยานแซงชาวบ้านบนมอเตอร์ไปฉิวๆ

ในเรื่อง Sound แอมป์หูฟัง Soloist มีคุณสมบัติเป็นเหมือนอย่างที่เขาบอกไว้ในสโลแกนว่า “Burson sounds good, like a solid state should!” ทรานซิสเตอร์หรือโซลิดสเตทก็ทำให้เสียงดีสุดๆ ได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าคนทำนั้น “มือถึง” หรือเปล่า ซึ่ง Soloist ก็ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว


Like : ความโดดเด่นที่โดนใจและประทับใจ
- เกนขยายปรับค่าได้ 3 ระดับ ช่วยให้แมตช์หูฟังได้หลากหลายรุ่น
- น้ำเสียงที่สะอาดเที่ยงตรงและมีคัลเลอร์น้อยกว่ารุ่นเดิม เวทีกว้าง ให้บรรยากาศดีเยี่ยม

Don’t Like : ยังไม่ค่อยโดนใจนะ
- step volume ที่ทำให้การปรับเสียงแบบละเอียด ขยับไปทีละน้อยไม่สามารถทำได้ดั่งใจเหมือน volume แบบหมุนต่อเนื่อง

Wanted : อยากให้มี
- ช่องรับอินพุตแบบบาลานซ์
- รีโมตไร้สาย (เวลาใช้เป็นปรีแอมป์)

Specification
Measurement
Input impedance: 36.5 KOhms
Frequency response: ± 1 dB 0 - 50Khz
Signal to noise ratio: >96dB
THD: 73dB
Output power: 4W at 16 Ohms
Input impedance: >8K Ohm @ 30 Ohm, 1W
Output impedance: 25W, internal, regulated power supply

Inputs
3 x gold plated RCA (line level input)

Outputs
1 x headphone jacks 6.35mm
1 x RCA Pre Amp output

Package Content
1 x Soloist Headphone amp / Pre-Amp
1 x Power cable
1 x RCA pair input cable
1 x User Manual (including 24 months warranty registration information)
General
Weight: app. 4.5 kg
Colour: silver anodized aluminium
Dimensions: 180 mm x 255 mm x 80 mm

ขอได้รับความขอบคุณ
"เข็มแก้ว"
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 9

KLUI

30/11/2012 01:47:27
0
Soloist+LCD3 ร้องเพลงได้เพราะจริงๆครับบบ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
ความคิดเห็นที่ : 10

BoBDyLan

01/12/2012 02:50:12
0
รบกวน ขอรีวิว ตัวนี้เทียบ HA5000 หน่อยคร้าบๆๆๆๆ
ให้กำลังใจ 0
หยิกหู 0
แจกหู 0
"รีวิว Burson Soloist โดยนักเขียนใหม่ "เข็มแก้ว""